น่าน - กอ.รมน.จับมือเครือข่ายประชาคมน่าน หนุน “ปลูกป่าเศรษฐกิจ ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” ให้เกษตรกรปลุกตะไคร้ กล้วย ไผ่ พืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับไม่อั้น แทนข้าวโพด เชื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้นได้ยั่งยืน จับต้องได้ ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียน
วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจังหวัดน่าน ถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาการทำลายผืนป่าเพื่อปลูกข้าวโพด จนก่อให้เกิดหมอกควันไฟป่าคลุมพื้นที่ภาคเหนือซ้ำซากทุกปี ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกมาโพสต์ท้าทายนักเลงคีย์บอร์ดมาช่วยปลูกป่า 5 แสนไร่ ซึ่งมีทั้งกระแสตอบรับ และคำวิจารณ์จากคนดังในสังคมตามมามากมายนั้น
ด้าน นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาอาวุโสประชาคมน่าน พร้อมด้วย พ.อ.รุศมนตรี จิณเสน รอง ผอ.รมน.น่าน นายประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน นายประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ นางสุภาพ สิริบรรสพ นายสุเรียน วงค์เป็ง ตัวแทนเครือข่ายประชาคมน่าน ร่วมหารือแนวทางประชารัฐส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก แก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น โดยการใช้การตลาด และพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกทดแทนข้าวโพด
ซึ่งในการหารือได้ข้อสรุปว่า ในพื้นที่นอกเขตลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ซึ่งส่วนใหญ่ คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำ ไม่สามารถให้ชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ได้ จึงจะส่งเสริมให้ปลูกเป็นป่าเบญจพันธ์ ส่วนพื้นที่ในชั้นที่สามารถส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับ ได้แก่ ตะไคร้ ที่ให้ผลผลิตในช่วงระยะเวลา 6 เดือน กล้วยน้ำว้า ให้ผลผลิตในช่วงระยะเวลา 11 เดือน และไผ่ ให้ผลผลิตทั้งหน่อ และลำไผ่ ได้ตั้งแต่ 1-2 ปี มีโรงงานแปรรูปทั้งในจังหวัดน่าน และแพร่ โดยที่ อ.ลอง และ อ.เด่นชัย จ.แพร่ มีโรงงานแปรรูปไม้จิ้มฟัน และตะเกียบมากถึง 3,000 โรงงาน ที่ต้องใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลักสำคัญ
นพ.บุญยงค์ กล่าวว่า จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดในพื้นที่เพื่อให้มีรายได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก จากตะไคร้ เมื่อครบ 11 เดือนจะได้ผลผลิต รายได้จากกล้วย จากนั้นในช่วง 1 ปี จะได้ผลผลิต รายได้จากหน่อไม้ และหลังจากนั้น ช่วงปีที่ 2 ขึ้นไปก็สามารถมีรายได้จากลำไผ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียน โดยพืชเศรษฐกิจเหล่านี้เกษตรกรสามารถขยายหน่อ ขยายกล้า ได้ด้วยตามธรรมชาติ ทำให้ไม่ต้องลงทุนทุกปีเหมือนข้าวโพด
นอกจากแนวคิดเรื่องส่งเสริมเกษตรกรแล้ว ยังขยายแนวคิดถึงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ทางจังหวัดฯ และทหารได้ขอคืนพื้นที่ไว้ โดยเสนอแนวคิดให้ปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจ เช่น ป่ากล้วย ป่าไผ่ ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถสร้างมูลค่าได้ และจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบพื้นที่ เมื่อชาวบ้านโดยรอบได้ประโยชน์จากผลผลิตในป่า ปัญหาเรื่องการบุกรุกแผ้วถางเพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดจะน้อยลง จะสามารถแก้ปัญหาเขาหัวโล้นได้ด้วย
พ.อ.รุศมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวบ้านป่าอ้อย บ้านป่าแลว หมู่ 1 บ้านป่าแลวหลวง บ้านสบยาง บ้านดอนไชย บ้านน่านมั่นคง ต.ป่าแลวหลวง อ.สันติสุข จ.น่าน จำนวน 105 ราย พื้นที่ จำนวน 1,841 ไร่ สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่พื้นที่ทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ ยังต้องรอการพิจารณาให้เป็นพื้นที่จัดสรรที่ดินทำกินตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. หรือตามมาตรา 19 ของกรมป่าไม้ คือ การใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งหากผ่านก็จะดำเนินการส่งเสริมปลูกไผ่ และกล้วย ได้ทันทีในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 59 นี้ ซึ่งเป็นช่วงเข้าฤดูฝนพอดี
นางสุภาพ สิริบรรสพ หัวหน้าสำนักกิจการพิเศษ ประชาคมน่าน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่สนใจพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่มีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งกล้วย และไผ่ มาลงชื่อเพื่อขอเข้าร่วมโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกข้าวโพด จำนวน 169 ราย พื้นที่รวม 255.5 ไร่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ลงชื่อเข้าร่วมโครงการได้ผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจแล้วว่า พืชเศรษฐกิจเหล่านี้สามารถปลูกทดแทนข้าวโพดได้ เพราะมีตลาดรองรับไม่จำกัด การแปรรูปสร้างมูลค่า และราคาได้