xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เลี่ยงไม่ออก “ลอยตัวไม่ได้” ต้องเปิดหน้าชน “ทักษิณ” เต็มๆ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


ต้องเรียกว่ามาถึงช่วงเวลาสำคัญเข้ามาขึ้นเรื่อยๆ สำหรับกลุ่มการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ควบคุมอำนาจรัฐอยู่ในเวลานี้ คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยสองพี่น้อง “บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับฝ่ายการเมือง ในที่นี้มีทั้งกลุ่มพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง กลุ่มพรรคการเมืองก็น่าหมายถึง พรรคเพื่อไทย และเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงอดีตกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ

ที่บอกว่าเป็นช่วงสำคัญเพราะกำลังอยู่ในระหว่างการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอีกบางหน่วยงาน เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะไปขอแจมเกี่ยวกับคำถามพ่วงเรื่องที่จะให้ ส.ว.แต่งตั้ง ร่วมโหวตนายกฯ ก่อนที่จะมีการเปิดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

ดังนั้น เมื่อมีกำหนดการออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าทำให้แต่ละฝ่ายต้องลุ้นระทึก เพราะนั่นหมายถึงมีผลต่ออนาคตของพวกเขาทุกฝ่าย

หากพิจารณากันแบบทำความเข้าใจแต่ละฝ่าย เริ่มจากความเป็นมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และจะส่งผลต่อไปในอนาคต เริ่มจากฝ่ายอำนาจรัฐก่อน คือ ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้กำลังทหารเข้าก่อการรัฐประหาร หรือที่พวกเขาเรียกว่า “การควบคุมอำนาจ” มาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสองปีแล้ว มีการกำหนดโรดแมป มีการประกาศเป็นสัญญาประชาคม ทั้งภายในและต่อนานาชาติว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 นี่คือหลักการที่ต้องทำ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากฉีกฉบับเก่าทิ้งไปแล้ว รวมทั้งต้องมีการเลือกตั้งใหม่ตามที่หลักสากลอันเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ต้องจับตากันทั่วไปก็คือ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่อให้เห็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ หรือว่าเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม หรือมีเจตนาเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป หรือไม่ สำหรับ คสช.และบรรดาเหล่าผู้นำก็ไม่มีข้อยกเว้น มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า พวกเขาก็มีเจตนาสืบทอดอำนาจ ต้องการ “ลากยาว” อย่างน้อยก็ใน “ช่วงเวลา 5 ปี” นับจากนี้ โดยพิจารณาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นบทเฉพาะกาล ที่เกี่ยวกับการที่มาของ ส.ว. การเปิดทางให้มีการโหวตเลือกนายกฯ คนนอก ที่ในช่วงนี้ให้เลือกจาก “นอกบัญชีของพรรคการเมือง” ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าสามคน

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศในเวลานี้และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงอนาคตจนถึงวันลงประชามติ จนกระทั่งก่อนและหลังการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ แต่ขณะเดียวกันหากไม่ผ่าน ก็ถือว่าตึงเครียดไม่ต่างกัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะนั่นย่อมหมายถึงคำถามเกี่ยวกับ “ความชอบธรรม”

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีเดิมพันสูง มีผลต่ออนาคตข้างหน้า ซึ่งทางฝ่าย คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งคนอื่นในคณะก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้องหวาดผวาหากต้องลงจากหลังเสือกระทันหัน โดยที่ไม่มีเกราะป้องกันตัวเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต้อง “คุมเข้ม” กันทุกฝีก้าว ชนิดที่เรียกว่า “ไม่ให้ขยับ” กันเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.ในเวลานี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม จากเดิมที่พวกเขาเคยอ้างว่า เข้ามาเพื่อควบคุมสถานการณ์ เหมือนกับกรรมการห้ามมวย “ไม่ให้สองฝ่ายตีกัน” ความหมายก็คือพวกเขาไม่ใช่คู่กรณี แต่เข้ามาอยู่ตรงกลาง ไม่ได้อยู่ข้างใด ไม่ได้อยู่ฝ่าย ทักษิณ และไม่ใช่ฝ่ายอื่น (กปปส.) พูดให้ตรงก็คือ พวกเขามีสถานะ “ลอยตัว” อยู่เหนือความขัดแย้ง แต่ต้องการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายซึ่งก็มองแบบนั้นได้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเผินๆ ก็ใช่ แต่หากมองในรายละเอียดแล้วมันเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมาย การละเลยกฎหมาย มีการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนผิด จนชาวบ้านส่วนใหญ่ทนไม่ได้ต้องออกมาประท้วงขับไล่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องของ “ความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง” ไม่ใช่เรื่องของคนสองฝ่ายทะเลาะกันอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามอ้างให้เห็นก่อนหน้านี้ เพราะในเวลานี้สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวมันเองก็คือ กลุ่มหรือฝ่ายที่ถูก คสช.จับกุมดำเนินคดีทั้งหมด เป็นคนกลุ่มใหน ถ้าไม่ใช่เครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ที่แฝงตัวมาในนามของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพราะพวกเขาใช้การเลือกตั้งบังหน้ามาตลอด

สำหรับฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องบอกว่ามีเดิมพันสูงเช่นเดียวกัน อาจมีมากกว่าฝ่าย คสช.เสียด้วยซ้ำไป เพราะหากพิจารณาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในบทถาวร และบทเฉพาะกาล ล้วนกระทบต่อพวกเขาโดยตรง แม้ว่าจะมีการควบคุมคนโกง การป้องกันการผูกขาดอำนาจ คนที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกจากคดีทุจริต ทุจริตต่อหน้าที่ การใช้อำนาจมิชอบ ห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต คุณสมบัติดังกล่าวแม้เป็นเรื่องดี แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่ไปขัดขวาง ทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัวเข้าอย่างจัง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากความหมายดังกล่าว ย่อมมองออกได้ไม่ยากว่า มีแต่สองกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีอนาคตเป็นเดิมพัน ขณะที่กลุ่มอื่นแค่เป็น “ตัวแปร” ไม่ใช่คู่เผชิญหน้า ขณะเดียวกันสถานการณ์ในตอนนี้มันก็เริ่มพลิกผันกลับกลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเปิดหน้าชนกับ ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง แบบเลี่ยงไม่ได้แล้ว จะลอยตัวแบบเดิมไม่ได้ เพราะเส้นทางข้างมันแคบลงทุกขณะ และอย่าได้แปลกใจ ที่ตอนนี้เมื่อมีอำนาจในมือก็ต้องเข้มเพื่อป้องกันความผิดพลาดไม่คาดหมายได้ทุกเวลา!
กำลังโหลดความคิดเห็น