xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ รธน.มัดมือชก ต้องผ่าน-ไม่ผ่าน “ยิ่งหนาว” กว่า !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



เข้าใกล้การนับถอยหลังเข้าไปทุกทีแล้ว สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ เวลานี้กำลังอยู่ในการขั้นเตรียมการ การเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจทั้งจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในกรณีคำถามพ่วงที่กำหนดให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เอาเป็นว่าเป็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นตึงเครียดเข้ามาทุกที เพราะสำหรับบางคน บางพวกถือว่าการลงประชามติคราวนี้มี “เดิมพัน” สูงกว่าทุกครั้ง เนื่องจากมีผลผูกพันถึงอนาคตข้างหน้า ซึ่งอาจยาวไปถึงตลอดชีวิตเลยก็ได้ ดังนั้น ถ้าพูดว่าน่าหวาดเสียวต้องลุ้นกันเหงื่อตกก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องอกว่านาทีนี้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีโอกาสผ่านมากกว่าไม่ผ่าน ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหน จาก “แฟนคลับ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ยังสัมผัสได้ว่า “ยังเหนียวแน่น” คงเส้นคงวาอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่เช่นนั้น เจ้าตัวคงไม่พูดท้าทายด้วยความมั่นใจว่า “มวลชนที่สนับสนุนผมก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย”
 
เป็นการสื่อสัญญาณให้เห็นว่ามีมากพอฟัดพอเหวี่ยงกับมวลชนของบรรดาสองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศ “คว่ำบาตร” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันไปแล้ว เป็นการประกาศทำนองว่า “ไม่แคร์” ทางหนึ่งก็ประเมินแล้วว่าเสียงที่สนับสนุนเขามีมากกว่า อีกทั้งยังมั่นใจว่าการประกาศท่าทีของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่สูญเปล่า

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นการประเมินกันล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดวันลงประชามตินานหลายวัน เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ทุกอย่างอาจพลิกผันไปในทางตรงกันข้ามก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเมืองบางครั้งไม่อาจประเมินกันล่วงหน้านานมาก ๆ ไม่ได้ ที่สำคัญ ยิ่งอยู่นานย่อมมีโอกาส “พลาด” ได้ตลอดเวลา มีสถานการณ์แทรกซ้อนเข้ามาเพื่อทำลายศรัทธาให้ลดลงได้เรื่อย ๆ ดังที่ปรากฏเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นหลายกรณี ที่หากไม่เคลียร์หรือดูเบา มันก็เสี่ยงทำลายศรัทธาให้ติดลบลงไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็เสี่ยงต่อคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูกแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งแทนตำแหน่งว่าง ซึ่ง พล.อ.ปรีชา อ้างว่าเป็นเรื่องปกติที่คนอื่นเขาก็ทำกันแบบนี้เป็น “เรื่องภายใน” อย่างไรก็ดี ในสังคมภายนอกน่าจะมองไปอีกทางหนึ่งประเภทใช้ “อภิสิทธิ์” ทำให้สังคมมองภาพในเชิงลบ แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ ยิ่ง พล.อ.ปรีชา เกี่ยวพันเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย่อมต้องถูกขยายความไม่ให้เรื่องจบลงไปง่าย ๆ

อีกเรื่องก็เป็นกระแสความเคลื่อนไหวในการแก้ไขกฎหมายที่กำหนดขอบเขตการพิจารณาความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเฉพาะความผิดของนักการเมืองเท่านั้น ส่วนความผิดของข้าราชการให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อ้างว่าทำให้งานของ ป.ป.ช. ล้นมือ อย่างไรก็ดี สังคมก็มองไปอีกทาง กำลังจับตามองว่านี่คือ ความพยายามช่วยเหลือ “บางคน” ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายระดับบิ๊กในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั่นคือ จะช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อให้พ้นมลทินจากคดีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่แล้ว มีมติฟ้องคดีอาญาในศาลจากกรณีสั่งสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 53 เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของ ประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบันคือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ถูกมองว่า “เป็นลูกน้องเก่า” อีกทั้งเส้นทางที่เข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญดังกล่าวสังคมก็กำลังจับตามองด้วยสายตาไม่กะพริบว่ากำลังจะทำ “ภารกิจบางอย่าง” หรือไม่

ดังนั้น ถ้าความเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาตามที่มีกระแสแพลมออกมาล่วงหน้า มันก็ช่วยไม่ได้ที่มองว่า “ใช่เลย” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และความศรัทธาทั้งต่อองค์กร คือ ป.ป.ช. โดยตรง และยังสะเทือนไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกทางหนึ่งด้วย

วกกลับมาที่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณากันจากองค์ประกอบที่มีอยู่ในเวลานี้ ทั้งที่อยู่ภายใต้กฎหมายและคำสั่งพิเศษที่ห้ามทุกฝ่ายเคลื่อนไหวโดยพลการ ประกอบกับมั่นใจว่าระดับผู้นำของรัฐบาล และ คสช. ยังมีความนิยมในระดับสูงจนมั่นใจร่างรัฐธรรมนูญ “ต้องผ่าน” ประชามติแน่นอน หรือถ้ามองในแบบที่ว่าชาวบ้าน “ถูกมัดมือชก” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้อง “รีบเลือกตั้ง” ในปี 60 และพิจารณาให้เห็นตามขั้นตอนหากไม่ผ่านก็ต้องมีการประกาศ้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังปริศนาอยู่ว่าจะใช้ฉบับใด หรือมีการบัญญัติประเด็นใดเพิ่มเติมขึ้นมาแบบไหน อาจจะเลวร้ายกว่าเดิมหรือให้สิทธิ์ประชาชนมากกว่าเดิม แต่ความหมายก็คือ “ไม่ชัวร์”

ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัวร์ดังกล่าวนี่เองทำให้เป็นแต้มต่อทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านประชามติ ด้วยเหตุผลที่ทั้งชาวบ้านและนีกการเมืองต้องการเลือกตั้ง อีกทั้งเมื่อพิจารณาในบางเรื่องก็อาจยังรับได้ตามสถานการณ์ใหม่ที่มองภาพนักการเมองติดลบ ขณะเดียวกัน หากไม่ผ่านมันก็ไม่ชัวร์ว่าร่างฉบับที่จะนำมาประกาศใช้จะออกมาในรูปไหนอาจหนักหนาสาหัสกว่าเดิม
 
แม้ว่าทั้งสองทางจะมองเหมือนถูก “มัดมือชก” แต่ถ้าไม่ผ่านน่าจะ “หนาวกว่า” !!
กำลังโหลดความคิดเห็น