xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ลุยพัฒนาประเทศสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ยันอยากมีเลือกตั้ง พ้อทำเพื่อชาติกลับถูกไล่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ลุยพัฒนาประเทศสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน โดยต้องสอดรับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ยันอยากให้มีเลือกตั้ง แก้ปัญหาเสร็จยินยอมไปอยู่แล้ว พ้อทำเพื่อคนไทยขนาดนี้แต่กลับถูกไล่ให้รีบไป

วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติช่วงหนึ่งว่าจะพัฒนาประเทศไทยภายใต้คำจำกัดความว่า “ประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand 4.0”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขยายความคือย้อนกลับไป Thailand 1.0 ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม แล้วใช้แรงงานอย่างเดียว พอ Thailand 2.0 เริ่มมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามา เอาเครื่องจักรมาช่วยงานเกษตรกรหรือแรงงาน พอมา Thailand 3.0 ไปสู่การมีอุตสาหกรรมหนักเข้ามา มีการลงทุนจากต่างประเทศบ้าง วันนี้เราพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ระยะนี้มานานพอสมควร ประมาณสัก 20 ปี ไม่ได้ปรับ ไม่ได้เตรียมมาตรการลดความเสี่ยงจากภายนอก ที่มีเศรษฐกิจโลกตกต่ำอะไรทำนองนี้ เรายังเข้มแข็งไม่พอ เพราะเรายังติดอยู่ตรง 3.0

เพราะฉะนั้นเราต้องก้าวไปสู่ 4.0 ให้ได้ 3.0 นั้นเกิดปัญหาอะไรก็คือว่า เราไปเน้นการพัฒนามิติเศรษฐกิจ มิติสังคมหายไป เสียสมดุล เสียเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าถูกบุกรุกอะไรแบบนี้ เอามาคิดใหม่ทั้งหมดถึงได้ออกมาเป็น 4.0 คือยุคต่อไปแล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ทำอย่างไรประเทศจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง คำว่าปานกลางคือทั้งหมดต้องขึ้น ปานกลางขึ้นมาเฉพาะตรงข้างบน ตรงข้างล่างค่อนข้างจะต่ำอยู่ ผู้มีรายได้น้อย ก็ไปติดกับดักอะไรอีก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่สมดุลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนต่างเกิดขึ้นเร็ว แล้วก็พัง ต้องสร้างความเข้มแข็งทุกอันตอนนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้ต้องพัฒนารูปแบบของการลงทุน โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ ที่เรียกว่า New Economy Model เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก็คือเราต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำอะไรก็ตามต้องมีเหตุมีผล พอประมาณแล้วมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องประหยัดไม่ใช้เงินกันเลย

“กระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 จะต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะต้องพัฒนา 20 ปีต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 1, 2, 3 มา 10 ปี 20 ปี มาจากอดีต ย้อนมา วันนี้เราติดอยู่ตรง 3 วันนี้เราต้องคิดว่า 4 จะต้องอยู่อีก 20 ปีต่อไป เพราะไม่ใช่ง่ายๆ เราเริ่มวันนี้แล้ว ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนการขับเคลื่อนและการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เราใช้แนวทางประชารัฐไง ที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่ ประชาชนก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะว่าเขาเคยชินกับการช่วยเหลือ” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเลือกตั้งด้วยว่า ก็อยากให้เกิด เราฝืนประชาธิปไตยโลกไม่ได้ แล้วทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าตนเข้ามาตรงนี้เพราะเกิดปัญหาอะไร ทุกคนต้องกลับมาย้อนดูตรงนี้ ไม่ใช่ว่ามองกันเรื่องอำนาจ เรื่องผลประโยชน์ ถ้าไม่เดือดร้อนตนไม่เข้ามาให้หรอก

“แต่เอาละ ผิดหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างประชาธิปไตยใหม่ขึ้นมาให้เป็นสากล ทุกคนมองว่าต้องเลือกตั้ง แล้วถึงจะเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แล้วผมถามที่ผ่านมาประชาธิปไตยไหม ที่บ้านเมืองวุ่นวายมีปัญหามาทั้งหมด ผมต้องเข้ามาแก้ รัฐบาลอะไรทำไว้ แล้วผมมาทำแก้หรือเปล่า ดูตรงนี้สิ แล้วมาบอกแก้ให้เสร็จสิ แก้เร็วๆ แก้แล้วไป แก้แล้วเลือกตั้งใหม่ ผมถามว่า ผมก็ยินยอมอยู่แล้ว ผมไม่ได้ฝืนเลยนะ จะเลือกตามโรดแมปของผม ผมก็อยู่ไปแบบนี้ ใครจะกดดันก็ช่าง เพราะผมทำเพื่อประเทศผม เพื่อคนไทยคนไทยทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้คนเร่งให้ตนรีบเสร็จ ให้ไปสักที วันนี้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็จริง แต่ก็มีการต่อต้าน ความขัดแย้งเยอะ มันพร้อมจะกลับมาที่เดิมทุกอย่าง อย่ามองที่การเลือกตั้งอย่างเดียว ตนไม่ขัดแย้งกับการเลือกตั้ง

“มีการทำประชามติก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นมาให้ผมลาออก มันใช่ไหมเนี่ย ผมให้ทุกอย่างแต่ท่านไม่ให้ผมเลย ไม่ได้ เพราะผมเข้ามาทำขนาดนี้แล้ว” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่ออีกว่า เนื้อแท้ประชาธิปไตยในใจมีอะไรบ้าง 1. ต้องมีการเคารพเหตุผลคนอื่นเขาบ้าง มากกว่าบุคคล 2. คือต้องรู้จักประนีประนอม เรื่องเคารพกฎหมาย การมีระเบียบวินัย สังคม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็ต้องมี จะเป็นเลือกตั้งประชาธิปไตย เป็นการเมือง ตนไม่ได้ยุ่ง แต่ขอให้เป็นการเมืองที่สุจริต มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ขอแค่นี้ได้ไหม

ตนให้ทำประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ มันอาจจะเข้มงวดบ้างในระยะ 5 ปี ยังให้ตนไม่ได้เลย แล้วอย่างนี้จะไปยังไง ต้องการให้มันดีขึ้นหรือ ถ้ารัฐธรรมนูญเหมือนเดิม ไม่มีบทลงโทษ บทเข้มงวดก็กลับที่เก่า ขอแค่ 5 ปี มันน่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมากถ้าทุกคนร่วมมือ

“ผมหวังให้มีการเลือกตั้ง มีการทำประชามติต่างๆ ที่มันไม่บังคับใคร คิดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แล้วจะหาเจอว่า ไอ้ที่ผมทำมันคืออะไร ไม่ใช่มามองว่าผมมายังไง แต่ผมควรจะไปได้แล้ว แล้วผมทำอะไรทุกวันอยู่นี่ ผมแก้ปัญหาให้เขาทั้งนั้นเลยนะ ไม่ใช่ปัญหาของผม ผมไม่ได้ทำไว้ และเพื่อเขาในวันหน้าเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต เป็นส่วนสำคัญ” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 22 เม.ย. 2559


ปริยา- สวัสดีค่ะ ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการคืนความสุขให้คนในชาติ วันนี้ดิฉัน ร.ต. หญิง ปริยา เนตรวิเชียร ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ เช่นเคยในทุกคืนวันศุกร์แบบนี้ เราจะได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาพบและพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้รับทราบถึงการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และ คสช. ตลอดจนการฝากข้อห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยด้วย ท่านให้เกียรติกับเรามาอยู่ในค่ำคืนนี้แล้ว สวัสดีท่านนายกฯ ค่ะ

ประยุทธ์- สวัสดีครับ

ปริยา- เพิ่งจะผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์มาก็เป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความสุข ปีนี้เรารณรงค์ให้เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างรู้คุณค่า เพราะว่าเราประสบปัญหาภัยแล้งด้วย ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีนะคะท่านนายกฯ ในหลายพื้นที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงสงกรานต์ ที่ท่านอยากจะพูดถึงในวันนี้บ้างไหมคะ

ประยุทธ์- เรื่องดีๆ ก็คงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีไทย ซึ่งหลายๆ พื้นที่ก็นำกลับมามาเริ่มต้น หรือมาทำสืบสานต่อในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าเป็นห่วงว่า จะหายไปเยอะ มันเป็นการสงกรานต์ สนุกสนานกันอย่างเดียว ปีนี้ต้องขอบคุณทั้งข้าราชการ และประชาชนบางส่วน ช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมไทย ในวันนี้มีการแต่งไทย มีประเพณีเก่าแก่โบราณมาเล่นกัน แล้วก็ประหยัดน้ำด้วย นี่เป็นสิ่งที่ผมชื่นชม แล้วผมก็เลยเกิดความคิดว่า ปีนี้ผมกำหนดให้เป็นปีสืบสานวัฒนธรรมไทย แต่งกายไทย อาหารไทย หรือประเพณีไทยต่างๆ พร้อมกันวันนี้ให้มีการประสาน เชื่อมโยงอาเซียนด้วยว่า จะมีการแสดงเข้ามาโชว์หลังวันนี้ไปแล้ว ฉลอง 234 ปี กรุงเทพมหานคร ว่ามีรามายณะ หรือ รามเกียรติ์ เรานี่แหละ หลายประเทศมาแสดงร่วมกันให้เห็นความแตกต่างบ้าง มาจากพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้น

คราวนี้สิ่งที่สองที่ผมยินดีคือ น้องเมย์ ผมคิดว่าทุกคนในชาติดีใจกับหมดทุกคน ถ้าได้ดูกว่าจะได้ทั้ง 3 แชมป์ 3 รายการ มันลำบากนะ 3 รายการเป็นมือหนึ่งของโลก สหพันธ์แบดมินตันโลก และทั้ง 3 อย่าง 3 อาทิตย์ติดกัน ซึ่งยากที่จะทำได้ในช่วงเวลาจำกัดเวลานี้ ขอเป็นกำลังใจ เมื่อวานก็ได้มาพบกัน ผมก็เตือนเขา ให้รักษาสุขภาพ หาเวลาพักผ่อน ฝึกปรือฝีมือต่อไป แต่เราก็ไม่อยากไปกดดันเขานะ เราก็บอกว่าขอให้เขาทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด จะชนะ หรือแพ้ ยังไงคนไทยก็เป็นกำลังใจให้อยู่แล้ว นายกฯ ให้กำลังใจอยู่แล้ว เขาก็สบายใจขึ้น

อันที่สองก็คือว่า เขาต้องเรียนหนังสือ อนาคตความมั่นคงของเขาก็ต้องเรียน ต้องศึกษา เขาใกล้จะจบแล้ว สิ่งที่ประดับใจอีกอันคือ เวลาไปต่างประเทศ เขาก็มีการไหว้ มีการแสดงน้ำใจนักกีฬา ช่วยเหลือถูพื้นสนาม เขาทำหมด แล้วก็กราบขอบคุณกรรมการ เวลาตีแบดไปใส่คู่ต่อสู้เขาก็ขอโทษ ทำนองนี้ ผมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีนะ และความหวังของเขา ก็คือการไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ที่บราซิล ในเดือนสิงหาคมนี้ เดือนเมษายน เขาก็ต้องรักษาแชมป์ 25 เดินทางไป 26-27 แข่งขันรักษาแชมป์อาเซียน ซึ่งจะต้องรักษาให้ได้ แต่ผมไม่กดดันนะ บอกน้องเขาไว้แล้วให้ทำดีที่สุดแล้วกัน คนไทยเป็นกำลังใจให้เสมอ

ปริยา- เมื่อวานนี้ท่านนายกฯ เอง ก็ได้ร่วมตีแบดมินตันกับน้องเมย์ ตอนนี้เป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกแล้วนะคะ อย่างเป็นทางการ มาถึงอีก 1 เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วก็เรื่องนี้เอง ท่านนายกฯ ก็ห่วงสำหรับคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ ณ ขณะนั้นก็คือเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น และเอกวาดอร์ ท่านพูดเสมอว่าเราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน หรือ Stronger Together สองประเทศนี้เขาก็เป็นมิตรประเทศของเรากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านอยากจะพูดอะไรในประเด็นนี้ในวันนี้บ้างคะ

ประยุทธ์- ประเด็นแรกของผมเองนะครับ ในนามของนายกรัฐมนตรีไทย และประเทศไทย ประชาชนคนไทยก็ต้องแสดงความเสียใจ มีการบาดเจ็บเสียชีวิต มีความเสียหายมากพอสมควร ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจในขณะนี้ และบทบาทรัฐบาลไทยก็ต้องเข้มแข็งพยายามที่จะแสดงความเต็มใจ จริงใจ พร้อมจะช่วยเหลือในทุกมิติ คราวนี้เราได้บริจาคเงินช่วยไปขั้นต้นแล้วตามระเบียบของเรา และได้สอบถามว่า ประเด็นใดๆ ที่ต้องการทางไทยก็พร้อมจะสนับสนุนให้ ก็มีการติดต่อระหว่างกัน สิ่งสำคัญก็คือต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่เข้มแข็งดี ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ผมก็ตรวจสอบแล้วว่า ทางสถานทูต เอกอัครราชทูตก็ดำเนินการอย่างเข้มแข็งก็คือ จัดทำแผนงานการติดต่อที่รวมคนอะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่แหละเป็นตัวอย่างที่ดีในต่างประเทศ ในประเทศก็เหมือนกันผมก็คาดหวังให้ทำแบบนี้ ทุกอย่างมันต้องมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก มีความชัดเจนให้ประชาชนเข้าใจ ประเทศไทยเราโชคดีที่ไม่มีภัยพิบัติแบบนี้ใช่ไหม ของเราก็มีภัยแล้ง มีดินถล่มบ้าง น้ำท่วมอะไรบ้าง พายุฤดูร้อน

ผมว่านี่เป็นโชคดีแล้ว เราต้องใช้ความโชคดีอันนี้ไปเผื่อแผ่น้ำใจให้กับคนอื่นเขาไง และเราก็ศึกษาเขาไว้เพื่อวันหน้าโลกมันเปลี่ยนแปลง อากาศเปลี่ยนพร้อมจะเกิดที่ไหนก็ได้ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ทุกอย่างมีวิธีการเตรียมการอยู่ที่แผนเผชิญเหตุ และมาตรการลดความเสี่ยงในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่วันนี้เราต้องระวังเรื่องพายุฤดูร้อนไงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝนอาจจะตกมากขึ้นๆ พร้อมลมแรงใช่ไหม เพราะฉะนั้นป้ายโฆษณา หลังคาบ้าน ต้องดูแลทั้งหมด วันนี้ต้องเตรียมการไว้แล้ว ผมสั่งการไปแล้ว

ปริยา- ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเกิดบ่อยสำหรับพายุฤดูร้อน อีกเรื่องคือเรื่องของความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ท่านนายกฯให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ได้จัดให้ท่านรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 ท่าน ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ท่านเองก็มีตารางที่จะลงพื้นที่ไปพบปะพี่น้องประชาชนด้วย ศูนย์ดำรงธรรม เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากของรัฐบาล และ คสช.ผ่านมาเกือบจะ 2 ปีแล้ว การดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้มากแค่ไหนแล้วคะ

ประยุทธ์- เริ่มแรกผมก็คิดว่า เราจะรับรู้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร ผมก็คิดในด้านของประชาชน เพราะที่ผ่านมามักจะมีข้อร้องเรียนตามสถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์บ้างหรือโทรทัศน์บ้าง ผมก็คิดว่าทำอย่างไรจะเปิดช่องทางข่าวสารระหว่างเรากับเขาให้ได้ นึกถึงจะใช้ที่ไหนดี ปรากฏว่ามีศูนย์ดำรงธรรมอยู่แล้ว ผมก็พัฒนาศูนย์ดำรงธรรมขึ้นมา ให้เป็นศูนย์บริการประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าจะร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส นักท่องเที่ยวอะไรก็แล้วแต่ ทำได้หมด ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไข เราทำมาตั้งแต่ตอนนั้น 2 ปีมาแล้ว ในส่วนของการร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส สายด่วน 1567 ก็มีตลอด 24 ชั่วโมงอีก ฉะนั้นจะมี 2 ช่องทาง ทางโทรศัพท์ก็ได้ ทางศูนย์ดำรงธรรมก็ได้ วันนี้มีทั่วประเทศ สถิติการใช้บริการ ตั้งแต่กรกฎาคม 2557 - 2559 เวลา 1 ปี 7 เดือน 2,600,000 ราย ดำเนินการไปแล้วเสร็จ ร้อยละ 97 ถือว่าประสบความสำเร็จ ประชาชนมีความพึงพอใจ แต่ปัญหาหลักๆ ใหญ่ๆ มันเป็นข้อกฎหมาย ติดด้วยหลักการ เหตุผลต่างๆ ซึ่งมันอาจจะไม่เข้าใจกันในบางเรื่อง ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ขอให้พี่น้องใจเย็นๆ เช่น ปัญหาเรื่องที่ดิน ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ เหล่านี้เป็นข้อกฎหมาย บางอย่างก็ใช้หลักการพิจารณาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะมันต้องเริ่มด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ถ้าเราไปแก้อย่างอื่น สั่งการโดยที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมาย มันจะวุ่นวายในภายหน้า ปัญหาหนึ่งอาจจะจบ แต่มันจะมีปัญหาอื่นตามมา เราไม่ต้องการให้เกิดอย่างนั้น

นอกจากศูนย์ดำรงธรรมที่คำนึงถึงภาคประชาชนแล้ว ที่ใกล้ชิดกับผู้ว่าฯ นายอำเภอ จะได้แก้ไขในส่วนของรัฐได้ อันที่2 ก็คือต้องมองในแง่ของเศรษฐกิจด้วย ผมก็ได้ตั้งศูนย์ One Stop Service ขึ้นมา ให้การบริการเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ การติดต่อ การลงทุน ข้อมูลไม่ว่าจะเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียบ กติกาใหม่ที่เราออกมาทั้งหมด จะมีอยู่ที่ OSS นะ อันนี้คือเรื่องของธุรกิจ เรื่องต่อไปคือ ในส่วนของเทศกาลสงกรานต์ 10 - 18 ใน 9 วัน มีการให้บริการประชาชนทั้งหมด 130,000 ราย ผมถือว่าก็โอเค อย่างน้อยก็เป็นการสร้างการเรียนรู้ สร้างความร่วมมือ สร้างความเขาใจ ความเป็นห่วงรัฐบาล ผมเป็นห่วงอยู่เรื่องเดียว เรื่องการใช้รถ ใช้ถนน ยังไงไม่ว่าจะมีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่มากสักเท่าไหร่ก็ตาม ผมคิดว่ามันแก้ไม่ได้มาก เพราะมันแก้ที่ปลายเหตุ ต้นเหตุมันอยู่ที่จิตสำนึก มันอยู่ที่คนไทยทุกคน ต้องร่วมกัน เริ่มจากครอบครัว สถาบันครอบครัวต้องเตือนลูกหลานในการใช้รถ ใช้ถนน พ่อแม่ต้องอบรมลูกบ้างเรื่องขับรถ พอสูญเสียขึ้นมา ทุนคนแทนที่จะมีความสุข 5 วันที่หยุด สงกรานต์ทั้งหมดก็ 9 วัน ต้องมาเสียใจ ต้องมาจัดงานศพ ต้องมารักษาพยาบาลแทน เป็นสิ่งที่สูญเสียมากกว่าอย่างอื่นนะ ผมไม่เสียดายถ้าจะต้องใช้งบประมาณในการที่จะต้องทำอะไรต่างๆ ก็ตามเกี่ยวกับเรื่องการจราจร แต่ทำไม่ได้ ไม่ได้ทั้งหมดหรอก การแก้ปัญหาอยู่ที่คนเท่านั้นเอง จิตสำนึกต้องช่วยกัน วันนี้เรื่องอะไรล่ะ เด็กแว้นอีกใช่ไหม ก็เดือดร้อนอีกวันนี้ก็ หยุดไปทีหนึ่งแล้ว มาใหม่อีกแล้ว แล้ววันนี้ก็อะไร เอาเถิดเจ้าล่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกวันนี้นะ เตือนแล้วก็เตือนอีก เสร็จแล้วเดี๋ยวกฎหมายก็ต้องแรงขึ้น การใช้กฎหมายแรงขึ้นทุกอย่างๆ วันหน้าก็ดื้อ ดื้อยา วันนี้ก็ดื้อยา ดื้อมานานแล้วด้วย เพราะว่าอะไร เพราะที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายนี่ไม่ค่อยกระทำได้อย่างเพียงพอนะ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ วันนี้กำลังทำเรื่องเหล่านี้อยู่ กฎหมายต้องเป็นกฎหมายถ้ากฎหมายแล้วทุกคนเชื่อฟัง ไม่ทำ ไม่ฝืนก็ไม่มีเรื่อง ทุกเรื่องนะ ต้องเริ่มต้นด้วยกฎหมายก่อน

ปริยา- ท่านนายกฯ เป็นนักปฏิบัติหลายๆ คนก็ชื่นชมท่าน แบบนั้น แต่ขณะเดียวกันการให้บริการอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้น อย่างศูนย์ดำรงธรรมที่ผ่านมา มันทำให้ท่านมีแนวคิดที่ว่า การบริการ ภาครัฐ สำหรับประชาชน ในอนาคตข้างหน้า มันจะต้องดีขึ้นกว่านี้อีกไหม

ประยุทธ์- เป็นสิ่งที่ผมคาดหวัง แล้วคิดว่าประชาชนทุกคนก็คาดหวัง เมื่อกี้ผมลืมไปนิดหนึ่งก็คือว่า นอกจากศูนย์ดำรงธรรมที่คำนึงถึงภาคประชาชนแล้วที่ใกล้ชิดกับผู้ว่าฯ กับนายอำเภอ อะไรต่างๆ จะได้แก้ไขในส่วนของรัฐได้ ในอันที่สองก็คือ ต้องมองในแง่เศรษฐกิจด้วย ผมก็ได้ตั้งศูนย์ One Stop Services ขึ้นมา ให้การบริการเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจการติดต่อ การลงทุนข้อมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียบกติกาใหม่ที่เราออกไปแล้วทั้งหมดจะมีอยู่ที่ OSS นี่นะ One Stop Services นี่ อันนั้นก็คือเรื่องของธุรกิจ

อันนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของการให้การบริการ คราวนี้เราต้องสร้างการรับรู้ในหลายมิติ ด้วยการพัฒนาการทำงานหลายด้าน ระบบ Application SPOND บนมือถือนี่สำคัญ download ทั้ง App Store ของ IOS ของ i-Phone และ Google play ของ Android เขา คือพวก Samsung อะไรพวกนี้ อันนี้ผมก็เปิดขึ้นมา เพราะว่าต้องการรับแจ้งเรื่องราวมี Sticker ออกมา ข้อความบ้าง โทรคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรงก็ได้ เพราว่าไม่อยาก แต่ขอร้องแล้วกัน โทรมาแล้วอย่ากวนเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่พอเปิดปั๊บ เจ้าหน้าที่ บางทีก็โทรคุยกับเจ้าหน้าที่บ้างอะไรอย่างนี้ มันเสียเวลา หงุดหงิดกันเปล่าๆ ก็สามารถติดต่อได้นะ อันนี้เราเปิดให้ใช้บริการกันแล้วนะครับ

ปริยา- เรื่องของเทคโนโลยีนี่คนไทยก็ชอบอยู่แล้วนะคะ แล้วยิ่งรักความสะดวกสบายแบบนี้ด้วย ล่าสุดกับการเปิดตัว GovChannel ค่ะ ท่านนายกรัฐมนตรีมีการเปิดบริการที่เรียกว่าต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ล่าสุดตอนนี้มีบริการอะไรบ้างให้กับพี่น้องประชาชน จะมีอะไรคะ

ประยุทธ์- สถิติการใช้โทรศัพท์นี่ของคนไทยนี่นะ จำนวนเครื่องโทรศัพท์มากกว่าคนไทยทั้งประเทศอีก โดยประมาณ 92 ล้านหมายเลข คนไทยมีประมาณเกือบ 70 ล้าน 67 ล้านกว่าๆ ตัวเลขทางการ สูงกว่าจำนวนประชากร 135% เพราะฉะนั้นทำอย่างไร 92 ล้านเลขหมายนี้จะเกิดประโยชน์ในการร่วมกันพัฒนาบ้านเมือง รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัย แล้ววันนี้มียอดผู้ใช้ การบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือนี้ 56 ล้านราย มากกว่า 50% ของมือถือ ที่เป็น Smart Phone เพราะฉะนั้นเราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราจะใช้ 96 ล้านเครื่อง หรือ 30 ล้านรายนี่ให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างไร อันแรกก็คือเพื่อความสุขของเขา การบริการของตัวเอง ส่วนตัวบ้าง ธุรกิจบ้าง อะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้โทรศัพท์มี่เป็นเครื่องมือของการสร้างความร่วมมือ สร้างความรักความสามัคคีใช่ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียล มีเดียทั้งหมด ต้องทำให้ขับเคลื่อนประเทศได้ อันตรายที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย ถ้าไปในทางที่ถูกดีมาก แต่ถ้าผิดจะทำให้ประเทศชาติสับสนวุ่นวายไปหมดเลย ผมพูดถึงตรงนี้ก่อนเรื่องของ ดิจิทัลเรามองแล้วว่า วันนี้เราต้องลดภาระของรัฐลง เจ้าหน้าที่ การให้บริการต่าง เราก็ไปสู่การเป็นเขาเรียกว่าอะไร e-Government ในทางอิเล็กทรอนิกส์การให้บริการ มันก็มีหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ ในเรื่องของการให้ข้อมูล การประสานรายละเอียดอะไรต่างๆ มีหมด คราวนี้ผมก็เป็นกังวลว่า เอ๊ะแล้วเขาจะรู้การทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร วันนี้เราก็เปิดการบริการ Gov Chanel มาแล้ว จะเป็นระบบศูนย์กลางในการบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ที่เรียกว่า Gov Chane เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลและบริการสำหรับประชาชนทุกเรื่อง มันจะมีผมก็บอกให้แยกแยะเป็นกลุ่มๆ ได้ไหม เดิมบางทีมันเข้ามาทั้งหมด และคนก็เปิดไปๆ บางทีมันก็เวียนหัวเหมือนกันมันยาว สามารถเปิดตั้งแต่ระยะที่ 1 ไป พวกนี้เกษตรกรใช่ไหม พวกนี้พวกทำอาชีพอื่นใช่ไหม ก็เจาะมาได้เลยว่าอยากรู้อะไรตรงนั้น กระทรวงต่างๆ เขาทำอะไรกัน อันนี้เปิดไปแล้ว ก็ให้บริการใน 3 รูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอปในมือถือ และในตู้คีออสที่ทำไปแล้ว เปิดตัวไปแล้ว วันนี้ยังไม่ครบทุกจังหวัด ก็ต้องขยายไปให้ครบ

ในส่วนอีกอันก็คือ ศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ และระบบแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐ G-News เปิดตัวใหม่วันนี้ก็คือเรื่องว่า ระบบภาษีไปไหน เพราะว่าวันนี้บ้านเมืองเรามันมีปัญหาอันแรกที่สุดก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความโปร่งใสอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ คสช.พยายามทำเต็มที่ให้ทุกคนสบายใจ เพราะฉะนั้นคำว่า ระบบภาษีไปไหนถ้าเปิดเข้าดูในช่องทางอันนี้จะเห็นว่า งบประมาณรัฐมีเท่าไรในแต่ละปี ปี 58 59 แล้วเอาไปใช้ตรงไหนบ้าง และมีโครงการต่างๆ ที่ไหนบ้าง ราคาเท่าไร มูลค่าเท่าไร มันก็เป็นประโยชน์กับประชาชนในการเข้าไปร่วมตรวจสอบ อันที่ 1

อันที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการของพวกที่จะต้องไปประมูล ไปแข่งขันโดยเสรีไง มันจะได้เลิกในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันกันเสียที อันนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข่าวสารใช่ไหม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกที่รัฐบาลนี้ออกเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้มีอะไรที่เป็นนัยทางไหนเลย มันเปิดเผยได้ทั้งหมด ในส่วนของตู้คีออส ประชาชนก็สามารถเอาบัตรประชาชนใช่ไหม ใบเดียวเสียบเข้าไป ก็จะมีการให้บริการสุขภาพบ้าง การตรวจสอบมีไว้หมดลองใช้ดูแล้วกัน แรกๆ มันอาจจะติดขัดบ้างหรือเปล่าไม่รู้ เพราะคนมันเยอะไง คนของเราตั้ง 60 กว่าล้าน การทำอะไรต่างๆ ก็ตาม ถ้าประเทศเราไม่ใช่ประเทศเล็ก ถ้าถือว่าเทียบกับประเทศอื่นๆ บางคนบอกว่า ประเทศไทยทำไมไม่พัฒนาเลย ก็เอาประเทศที่พัฒนา เขาเล็กกว่าเรา คนน้อยกว่าเรา แล้วเขาคุณภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเขาดีกว่ามานานแล้ว เราสู้เขาไม่ได้ เราต้องเร่งตรงนี้ไง ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นจะทำได้อย่างไร บอกกันหรอ ไม่มีทางรู้เรื่อง มันก็ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยทางอิเล็กทรอนิกส์

ปริยา- ขอเจาะจงในส่วนของข้าราชการไทยบ้าง เพราะว่าเห็นในต่างประเทศ หรือแม้แต่ในภาพยนตร์เองก็มีตัวอย่างให้เราเห็นในลักษณะสื่อสารเฉพาะทางในวงราชการ เพื่อรักษาความลับความมั่นคงของชาติ แต่ว่าประเทศไทยที่ผ่านมาเรายังไม่มี ก็เลยทำให้ข้าราชการไทยต้องไปใช้บริการของภาคเอกชน และมักจะเป็นภาคเอกชนในต่างประเทศ ก็เสี่ยงอีกที่ข้อมูลจะรั่วไหลไปกระทบกับความมั่นคง ความฝันของข้าราชการไทยจะเป็นจริงได้ไหม จะเกิดขึ้นในบ้านเราเองไหมคะ

ประยุทธ์- ตอนนี้อยากจะบอกว่าเกิดแล้วคือ G-Chat ไง G-Chat ก็คือช่องทางการกรอกเอกสารสำหรับหน่วยงานภาครัฐระหว่างกันเรียกว่า G-Chat คือทุกหน่วยงานภาครัฐสามารถติดต่อกันได้ในช่องทางนี้ และระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นระบบสื่อสารทางออนไลน์หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง สามารถประชุมก็ได้อะไรก็ได้ ส่งข่าวก็ได้ อันนี้จะเป็นประโยชน์อะไรล่ะ เป็นประโยชน์กับการบูรณาการ ที่หลักการของผมคือ การบริการทั้งแผนงาน งบประมาณ ได้กลุ่มงานที่เป็นกิจกรรมเดียวกัน เช่น น้ำหลายกระทรวง เช่นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายกระทรวง ไม่ใช่ถนนคือถนน ไม่ใช่ ถนนมันต้องพูดถึง ที่ดิน การบริหารจัดการที่ดินข้างทาง การจัดสรรวางผังเมืองเยอะแยะไปหมด มันต้องคุยกันหลายกระทรวงไง ที่ผ่านมามันจะเป็นกระทรวงๆ แล้วเอากิจกรรมย่อยๆ มาทำกัน แล้วก็ใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวง คราวนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องแก้ไขทั้งหมด มันจะได้เกิดในการเป็นผลผลิต อันนี้มันก็คล้ายแอปพลิเคชันไลน์ แต่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลแล้วก็เป็นทั้งห้องสนทนาส่วนตัว เป็นกลุ่มก็ได้ โทรทางไกลก็ได้ วิดีโอคอลก็ได้ สามารถระบุพิกัดตำแหน่งก็ได้ อันนี้ได้ให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)(สรอ.) ที่เรียกว่า EGA ให้ไปแล้วเมื่อวันก่อน วันอังคาร ผมเป็นคนเปิดเอง แล้วได้สั่งการให้หน่วยงานราชการเข้ามาใช้งาน ในเรื่องนี้ด้วย

ปริยา- ก็เป็นฝันของข้าราชการไทย ที่เป็นจริงเป็นแล้ว เริ่มดำเนินการแล้วนะคะ มาถึงประเด็นเศรษฐกิจ ท่านนายกฯ คะ ตอนนี้เอง เราอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่ แต่ว่าล่าสุดก็มีการประชุมมาตรการสานพลังประชารัฐ เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวัน จันทร์ที่ผ่านมา ความร่วมมือในการทำงานของรัฐบาลกับภาคเอกชนที่ขันอาสาเข้ามาจะวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ เลยมีคำใหม่ที่ตอนนี้ คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่เชื่อว่าในอนาคตจะติดปากกันมากขึ้นก็คือ ประเทศไทย 4.0 ท่านนายกฯ อธิบายหน่อยประเทศไทย 4.0 คืออะไรคะ

ประยุทธ์- คงต้องย้อนกลับไป 1.0 ก่อน คือประเทศไทยมีการพัฒนาตามหลักก็ 3 ยุคมาแล้ว สังคมแรกๆ สมัยก่อนๆ นี้ หลายสิบปีมาแล้วเป็นสังคมเกษตรกรรม บ้านเมืองเป็นเกษตรกรรม แล้วใช้แรงงานอย่างเดียวยังไง ใช้เกษตรกรออกแรง ทำไร่ทำนาอะไรทำนองนี้ พอ Thailand 2.0 เริ่มมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาแล้ว เข้ามาอาจจะเป็นอุตสาหกรรมเบาบ้าง อะไรบ้าง อันนี้ก็เอาเครื่องจักรมาช่วยยังไง มาช่วยงานเกษตรกร หรือแรงงาน พอมาอีกช่วงหนึ่ง Thailand 3.0 ไปสู่การมีอุตสาหกรรมหนักเข้ามา มีการลงทุนจากต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง วันนี้เจริญเติบโตมาสักเท่าไรล่ะ ถ้าพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ อยู่ระยะนี้มานานพอสมควร ประมาณสัก 20 ปี ไม่ได้ปรับ ไม่ได้เตรียมมาตรการลดความเสี่ยงจากภายนอก ที่มีเศรษฐกิจโลกตกต่ำอะไรทำนองนี้ เรายังเข้มแข็งไม่พอ เพราะเรายังติดอยู่ตรง 3.0

เพราะฉะนั้นเราต้องก้าวไปสู่ 4.0 ให้ได้ 3.0 นั้นเกิดปัญหาอะไรก็คือว่า เราไปเน้นการพัฒนามิติเศรษฐกิจ มิติสังคมหายไป เสียสมดุล เสียเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าถูกบุกรุกอะไรแบบนี้ เอามาคิดใหม่ทั้งหมดถึงได้ออกมาเป็น 4.0 คือยุคต่อไปแล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ทำอย่างไรประเทศจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อย่างแท้จริง คำว่าปานกลางคือทั้งหมดต้องขึ้น ปานกลางขึ้นมาเฉพาะตรงข้างบน ตรงข้างล่างค่อนข้างจะต่ำอยู่ ผู้มีรายได้น้อย ก็ไปติดกับดักอะไรอีก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่สมดุลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนต่าง เกิดขึ้นเร็ว แล้วก็พังบ้าง อะไรบ้าง ล้มบ้าง ต้องสร้างความเข้มแข็งทุกอันตอนนี้

เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องพัฒนารูปแบบของการลงทุน โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ ที่เรียกว่า New Economy Model เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก็คือเราต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทำอะไรก็ตาม ต้องมีเหตุมีผล มีพอประมาณแล้วมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม คงเข้าใจแล้ว พูดหลายครั้งแล้ว ทำอะไรต้องมีสติ พูดง่าย ๆ ต้องระมัดระวัง ในการลงทุน ในการใช้จ่ายเงินอะไรทำนองนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องประหยัด ไม่ใช้เงินกันเลย ไม่ใช่คนละเรื่องกัน นั่นคือหลักการเรื่องประหยัด เรื่องออม อันนี้เป็นเรื่องของใช้จ่ายพอตัว เราใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานำในการทำงานในวันนี้

เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 จะต้องสอดรับกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะต้องพัฒนา 20 ปีต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 1 , 2 , 3 มา 10 ปี 20 ปี มาจากอดีต ย้อนมา วันนี้เราติดอยู่ตรง 3 วันนี้เราต้องคิดว่า 4 จะต้องอยู่อีก 20 ปีต่อไป เพราะไม่ใช่ง่ายๆ เราเริ่มวันนี้แล้ว ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนการขับเคลื่อนและการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เราใช้แนวทางประชารัฐไง ที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่ ประชาชนก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะว่าเขาเคยชินกับการช่วยเหลือ

วันนี้ต้องสร้างให้เขาคิดเป็น แต่ลำบากเหมือนกัน เพราะว่าชินกับแบบนี้มานานไง รัฐบาลก็ต้องอดทน ประชาชนก็ต้องอดทน ประชาชนอาจจะร้องเรียนบ้างอะไรบ้าง เพราะว่าประเทศเราอย่างที่บอก คนประกอบอาชีพรายได้น้อยนี่ 40 ล้านคน เท่ากับประเทศบางประเทศเขามีเลยนะ บางประเทศมีคน 4 ล้าน 5 ล้าน 6 ล้าน 10 ล้าน ประมาณนั้น ประเทศอาเซียนที่รวยที่สุดในอาเซียน มีคน 4-5 ล้านเอง เรามีเกือบ 70 ล้าน ต่างกันตรงนี้ มันทำง่ายทำยาก เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูปทั้งหมด ทั้งโครงสร้าง ทั้งในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ เกษตรกร หรืออาชีพอิสระ หรือว่าอื่นๆ ทั้งหมด ต้องพันไปอีกหลายเรื่อง เรื่องการศึกษา เรื่องแรงงาน มากมายไปหมด ต้องเตรียมการให้พร้อม ไม่เช่นนั้น 20 ปีข้างหน้าเราเดินไม่ได้

ปริยา- แล้วอะไรจะเป็น New Engine of Growth ล่ะคะ เรื่องของเครื่องยนต์ที่จะสร้างความเจริญเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะศตวรรษที่ 21 ตอนนี้

ประยุทธ์- เราก็ต้องมองว่า วันนี้โลกเขาเป็นยังไง เข้มแข็งอย่างไร และประเทศเขามาจากไหน ส่วนใหญ่มาจากผลิตผล ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง ของเรามันเป็นการเกษตรเกือบทั้งหมด เราจะทำอย่างไรให้สินค้าเรามีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีอาชีพ ให้กับเกษตรกร เป็นอาชีพเสริมทางเลือกให้เขาด้วย ก็ต้องมีเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศบ้าง จากในประเทศบ้าง อุตสาหกรรม วันนี้เรากำหนดไว้ในแผนเราคือ เราทำลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบ อันที่ 1 สร้างความเชื่อมโยง ถนนหนทาง รถไฟ รถไฟฟ้า อันนี้คงพูดอีกยาว เอาแค่นี้ก่อน แต่อุตสาหกรรมที่ปัจจุบัน คือ 10 อุตสาหกรรม ที่เป็นเป้าหมาย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ที่พัฒนาเทคโนโลยีให้มากขึ้น พูดไปหลายครั้งแล้ว ต่อไปก็ต้องส่งเสริม เรียกว่า New Startups และส่งเสริมผลักดัน 5 อุตสาหกรรมของอนาคต เรื่องของหุ่นยนต์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรื่องเทคนิเชียน สร้างนักวิจัย นักพัฒนา เรื่องของการก่อสร้าง เพราะเราจะต้องลงทุนเรื่องราง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบเรียน เลข กับวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยชอบ วันนี้ต้องกลับมาแล้ว รัฐบาลจะส่งเสริมตรงนี้ด้วย แต่ก็แล้วแต่ท่าน ผมก็พยายามจะเริ่มต้นให้ท่านคิดว่า แล้วท่านมีงานทำไง สำคัญคือเรียนแล้วต้องมีงานทำ

วันนี้เราก็คาดหวัง 20 ปีข้างหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 แผนของสภาพัฒน์ มันจะเกิดคนรุ่นใหม่ แล้วมันจะสอดคล้องกับ 4.0 เรา เราคิดให้เป็นอย่างนี้ ถ้าเราคิดสั้นๆง่ายๆปีเดียวมันก็จบ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น แล้วมันต่อเนื่องไหม ไม่ต่อเนื่อง เหมือนน้ำไหลลงมาแล้วไม่มีเส้นต่อเหมือนเส้นเลือด เส้นเดียวลงมา ร่างกายไปไม่ได้ มันต้องมีเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดดำ เส้นเลือดเล็ก ผมก็คิอง่ายๆของผมนะ เราต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทุกมิติ อาหารจะทำยังไง ผลผลิตทางการเกษตรจะทำยังไง เพิ่มนวัตกรรม นวัตกรรมคือทำใหม่ คิดใหม่ เช่นทำผ้าขาวม้า มันไม่ไหว เอาผ้าขาวม้ามาทำกระเป๋าได้ไหม เครื่องแต่งกาย พัฒนาไปหมดแล้ว แล้วก็โอท็อป เอาสินค้าที่มีแต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างอยู่แล้ว วัสดุต้นทุนการผลิตมันต่างกันอยู่แล้ว เอามาทำ ออกแบบให้มันทันสมัย โมเดิร์นหน่อย มันได้ ตอนนี้ขึ้นไปขายบนเครื่องบินแล้ว ประมาณเกือบร้อยอย่าง กำลังจะทำอยู่ น่าจะเรียบร้อยโดยเร็ว ก็ให้ทางการท่าฯ การบินไทย เอาขึ้นไป เราจะต้องสร้างภูมิปัญญาไทยให้ได้ ผมเห็นเด็กๆนะ เอาการแสดงตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ตลาดรัฐบาล ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเอง บางคนมาเรียกว่าตลาดนายกฯ ไม่ใช่หรอก ตลาดของประเทศ ของพวกเรา

ฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิปัญญาไทย ให้เขารู้คุณค่า ว่า เขาทำแบบนี้มา ประเทศมันจะได้ประโยชน์อะไร แล้วรัฐบาลก็ไปหาให้เจอ ต่างคนต้องหาตัวเองให้เจอ ที่ผ่านมาค่อนข้างจะหลงทาง กันไปมา รัฐบาลจะได้ลดภาระลงไปได้บ้าง แล้วก็ไปส่งเสริมในกิจกรรมที่มันควรจะส่งเสริมที่เรามีศักยภาพ มีต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าเราไปส่งเสริมเลอะเทอะหมด มันใช้เงินไม่ไหว ทุกคนก็เรียกร้องว่า ใช้เงินเยอะๆให้การวิจัย แล้ววิจัยอะไร วันนี้ทุกอย่างรวบหมด ทุนวิจัยทำยังไง ประเทศต้องการอะไร ต้องการคนยังไง ต้องการผลผลิตอะไร จัดกลุ่มอยู่ตรงนี้ เอามาขึ้นแล้ว ของเดิมมีอยู่หลายพัน เอามาเลือกๆ อะไรที่ทำได้ไปสู่การผลิต ตอนนี้เคาะฝุ่นออกมาแล้ว

ปริยา- แล้วก็มีอุตสาหกรรมที่ถือว่ามีศักยภาพแล้ว ณ ขณะนี้ แล้วก็ประสบความสำเร็จ เป็นตัวชูเศรษฐกิจของไทยได้อยู่เหมือนกัน มีอะไรบ้างคะ

ประยุทธ์- ถ้าพูดถึงอันแรก คือเราเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ ผมก็ได้มีการพูดคุยกับหลายบริษัท ต่างชาติที่มาคุยในรัฐบาล เขามีเทคโนโลยีที่จะขยายการลงทุนในประเทศต่อไป ในเรื่องของไฟฟ้า ไบโอดีเซล และเรื่องอะไร การวิจัยและพัฒนา ซึ่งเราต้องปรับแก้กฎกติกาของเรากฎหมายของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะให้เขาไปเลยทั้งหมด ไม่ใช่ เราต้องแก้ไขกฎกติการะเบียบทางภาษี ทางการลงทุน สิทธิประโยชน์ ให้เขาน่าสนใจ มันเหมือนขายของ ถ้าไม่มีแรงจูงใจมันจะขายอะไรได้ไหมล่ะ เหมือนขายของก็ต้องมีห่อสวยๆ มีภาพลักษณ์ดีๆ สีสวยๆ คนถึงจะซื้อ เหมือนกันเราก็ต้องมีการลงทุนแบบนี้ก็ขอให้คนไทยวางใจ ผมไม่ได้เอาที่ดินไปให้ใครขาย อะไรต่างๆ ไม่ใช่ วันนี้มันก็เป็นระบบแบบนี้ทั้งโลก ถ้าเราเป็นประเทศประชาธิปไตยก็ต้องเป็นแบบนี้ ต้องยอมรับกัน เสรีในการแข่งขัน ในการลงทุน ทำยังไงให้เขาเกิดความเป็นธรรม เราอย่าไปมีผลประโยชน์กับเขาเท่านั้นเอง

อันนี้ก็เรื่องรถยนต์ใช่ไหม ต่อไปก็เป็นเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรเหมือนมีข้าว เรามีอะไรอีก ข้าว ยาง ปาล์ม อ้อย ใช่ไหม ซึ่งเยอะแยะ บางทีมันล้นเกินความต้องการดีมานด์ ซัพพลาย ไม่สมดุลกัน ก็ต้องปรับอีก พี่น้องประชาชนก็เดือดร้อน ทำยังไงของที่มันมีอยู่เยอะๆ มันจะมีมูลค่า ก็นำมาสู่การผลิตในประเทศ อันนี้เราก็กำลังสร้างโรงงาน เช่น รับเบอร์ซิตีบ้าง เช่นไปสอดคล้องกับเรื่องรถยนต์ ไม่ว่าจะผลิตไบโอดีเซล B15 B20 ได้ไหม จุดประสงค์ทางปาล์มมากขึ้นแล้วมันใช้อย่างนี้ มันก็ต้องไปดูเรื่องเครื่องยนต์ที่จะใช้น้ำมันปาล์มเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ทำไมไม่ใช้นู้นใช้นี่ มันไม่ได้ มันต้องปรับด้วยกันทั้งหมด แล้วมันถึงจะมูลค่ามากขึ้น ไม่ใช่ขายข้าวซื้อข้าว แล้วเราต้นทุนการผลิตสูงไหมล่ะ ใช้น้ำมากกว่าเขาไหม ต้นทุนต่อไร่สูง 4-5 พัน แล้วขาย 7 พันมันไหวไหม กว่าจะได้ข้าว 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือนอย่างนี้ไม่ไหว ทำยังไงข้าวที่มีอยู่ ก็ต้องมาแปรรูปเป็นข้าวคุณภาพ ข้าวอินทรีย์ หรือไปทำอะไรที่มันน่าทานเป็นอาหารเสริม อาหารสุขภาพทำนองนี้ สั่งการไปหมดแล้ว ก็เริ่มมาไหมเห็นขายกันเยอะ กลัวล้นตลาดอีกเหมือนกันแหละ ต้องไปต่างประเทศแล้ว

เรื่องยางกำลังตั้งรับเบอร์ซิตีที่สงขลาก็หลายบริษัทพร้อมที่จะลงทุน และวันนี้ให้โรงงานในประเทศไทย ยางที่รับซื้อมาส่วนหนึ่งให้เขาเป็นต้นทุนการผลิต และกลับมาสู่สิ่งที่เราใช้ตามกระทรวงต่างๆ แก้กฎหมายให้ใช้งบประมาณได้ เหล่านี้มันเป็นงานที่ต้องผูกพันกันไง นี่เขาเรียกว่าความเชื่อมโยง ถ้าเราทำแบบเดิม มันก็จะเป็นเสี้ยวๆ แล้วผลผลิตมันไม่ได้ แมสของกระทรวงต้นทุนมันไม่หมดไป ตลาดมันก็ไม่ร่วมกัน นวัตกรรมมันก็ไม่เกิด วันนี้ทำทุกอย่างมันถึงยากแต่ก็ทำ

ปริยา- เรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล่ะคะ อันนี้เป็นจุดเด่นมาก และยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ประยุทธ์- ถึงแม้ว่าจะมีเยอะ มีคนมาเที่ยวเยอะ มีรายได้อะไรต่างๆ ก็ยังไม่พอใจ คำว่าไม่พอใจคือ เพื่อนเรายังไม่โต เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนด้วยกันที่มาพบผม เขาบอกว่าทำยังไงไทยจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้เขาบ้าง เขาอยากจะมีรายได้ที่สูงขึ้น อยากให้ยกระดับ ไม่ใช่เรารับจากเขามาข้างเดียว นี่เพื่อนเราขอมา ผมก็บอกเอาอย่างนี้ ผมคิดเร็วๆ ว่า ถ้าเราทำคลัสเตอร์ของเราได้ 4-5 อย่าง สุขภาพบ้าง โบราณสถานบ้าง มารักษาพยาบาลแถวๆ นี้ ให้มันแยกออกจากกัน ธรรมชาติป่าเขา 6 อย่าง 6 คลัสเตอร์ กระทรวงท่องเที่ยวฯ เขาทำอยู่ พอมาทางนี้คนก็จะมาไทยเยอะ ผมก็บอกถ้าอย่างนั้นจะทำเป็นแพคเกจต่อได้ไหม เช่นเขามาไทยแล้วไปรอบบ้านไทยนี่ต่อได้ไหม เขาเห็นด้วย มันก็จะเกิดทั้งต้นทาง กลางทาง แล้วปลายทาง มันจะเกิดเป็นแมสขึ้นมา เขาก็ขึ้นตรงกลาง เราก็ได้ ไอ้นี่เขาก็ได้ด้วย

เช่นเดียวกันผมก็คุยกับประเทศทางลาตินอเมริกาบ้าง ทางตะวันตก ตะวันออก ผมบอกไปสร้างตรงนี้ซิ เป็นช่องทางเป็นเกตระหว่างการเปิดประตูการท่องเที่ยวระหว่างกัน ท่านไปสร้างเครือข่ายของท่าน ผมไปบ้านท่าน แล้วท่านจัดคนเหล่านี้ไปต่อตรงโน้น แล้วเพิ่มเที่ยวบิน มีความก้าวหน้าตามลำดับ หลายประเทศเขาร่วมมือกับเราดี หลายประเทศจริงๆ

เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องบอกว่า เศรษฐกิจของเรานี่มันอยู่ได้ด้วย คือประชาชนมีเงินใช้ได้ด้วย เรื่องความต่อเนื่องที่ได้มาจากการท่องเที่ยวใช่ไหม เงินมันก็อยู่ในประเทศเรานี่แหละ เป็นมูลค่ามหาศาลที่ผ่านมาเป็นรายได้มาก ปี 58 เราใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1,200 ล้าน แต่นำเงินเข้ามา 2.23 ล้านล้านบาท องค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติบอกว่า สถิตินักท่องเที่ยวในไทยปี 2558 มีจำนวน 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% เขาดูเราอยู่นะ เป็นอันดับที่ 11 ของโลก โลกมีเกือบ 200 ประเทศ เรา 11 ถือว่าต้นๆ แล้ว แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีกเหมือนกัน จำนวน 1.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เป็นอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 10 เลยนะ

แล้วสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลกอีก ประเมินว่า 58 นี้นักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 ของโลก เพิ่มจากปี 2557 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก อันนี้เราก็ต้องแสดงความร่วมมือ แต่สิ่งสำคัญคือรักษาความปลอดภัย ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการหลอกลวง ทุจริต เรื่องเถื่อน เรื่องผี ผมแก้หมดเลย มันยาก แต่โอเค วันนี้เราได้รับความไว้วางใจ ต้องช่วยกัน

ในการประชุมร่วมกับท้องถิ่น อปท. ผมก็จะหางบประมาณลงไปส่วนหนึ่ง และในส่วนนี้สามารถไปใช้ในเรื่องของดูแลส่งเสริมและการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้ด้วย เป็นเงินไม่มากหรอก เรื่องถนน เรื่องที่จอดรถ อะไรเหล่านี้ ก็มีกติกาอยู่นะ จะลงไปให้ อปท.เขาไปทำส่วนหนึ่ง แล้วเดี๋ยวจะให้ไปกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคข้างล่าง ถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างนี้นะ เอกชน ธุรกิจ ประชารัฐข้างล่าง แล้วขับเคลื่อนโดยทั้งรัฐ ประชาสังคม เอกชน ธุรกิจที่ลงไปข้างล่าง และในพื้นที่ ประชาชนร่วมมือ ไปได้หมด

ปริยา- ค่ะ. แต่ถ้ามีตัวอย่างจะดีมากค่ะท่านายกฯ มีตัวอย่างที่ท่านนายกอยากจะชื่นชมไหมคะว่าการเข้าไปสนับสนุนกลไกประชารัฐแล้วประสบความสำเร็จแล้วจะเป็นตัวอย่างให้ท้องถิ่นหรือว่าชุมชนอื่นๆได้

ประยุทธ์- คือถ้าพูดถึงผลสำเร็จในเรื่องของประชารัฐนะ มีหลายอย่าง ก่อนจะไปเรื่องการท่องเที่ยวไปอุทยานอะไรที่ว่านี่ ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่ามีทั้งในเรื่องของการเอาเงินทุนลงไป ที่ให้กองทุนลงไป 1 ล้านบาทบ้าง 5 ล้าน กองทุนเหล่านี้ ไปสร้างสิ่งพวกนี้เกิดขึ้นมา การบริหารจัดการน้ำก็เกิดขึ้นในประมาณสัก 300-400 หมู่บ้าน ตอนนี้เขาบริหารจัดการน้ำเองได้แล้ว ปะชระชาชนเขาร่วมมือกันไง ขอให้หาน้ำให้เขาเดี๋ยวเขาไปหาท่อ หาวิธีเปิด - ปิด ของเขาเขามีน้ำเพียงพอนะนี่ไม่เดือดร้อน แต่เป็นการเริ่มต้นมาแล้ว ประชาชนเขารับได้

อันที่สอง ก็เป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนในเรื่องของการเกษตร แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำน้อยอะไรทำนองนี้ ปลูกพืช แก้ไม่ได้100% อยู่แล้ว เพราะปัญหาหมักหมมกันมายาวนาน แล้วโชคร้ายก็คือฝนตกน้อย ที่ผ่านมา ปีนี้ก็คาดหวังยังไง คาดหวังเอลนินโญจะเกิดขึ้น คือฝนจะตกมากขึ้น ในเดือนพฤษภาฯ - มิถุนายนนะ ถ้าไปเกิดเลทไปตรงท้ายไปกันยาฯ - ตุลาฯ ไปเกิดใต้เขื่อนไง ฝนจะไม่กักเก็บได้ แต่เราก็ไปขุดน้ำรอไว้หมดเลย เงินบางส่วนก็ขุดเก็บๆ น้ำบ้างอะไรบ้าง นั่นคือเรื่องประชารัฐ ความร่วมมือนะ เขาคิดเอง รัฐบาลไม่ใช่ผู้กำหนด ต้องทำโน่นทำนี่ เขียนกรอบไว้เฉยๆ

ปริยา- แสดงว่าเขาเข้าใจปัญหา

ประยุทธ์- เขาเข้าใจแล้ว เข้าใจ แต่มากน้อยยังต่างกันอยู่หน่อยหนึ่ง บางทีพวกนี้ได้ พวกนี้ไม่ได้ ได้ทั้งหมดไม่ได้ เช่น ถ้าเป็นเรื่องการลงทุน ทำถนน ก็ได้ถนนบางเส้น ไม่ใช่ถนนทั้งหมด อันไหนก่อนก็ไปคิดกันเอาเอง แต่คนที่ได้แล้วก็ต้องนึกถึงคนที่ยังไม่ได้ คราวหน้าถ้ามีเงินจะทำยังไง รัฐบาลก็ต้องไปดูในงบฟังก์ชั่นอะไร รายจ่ายประจำไปทำเติมให้เขา คือต้องสอดรับกันทั้งหมด เงินรายจ่ายประจำ การลงทุนพื้นฐาน อันนี้คือเงินก้อนของการบริหารงบประมาณประจำปีทุกกระทรวงทำอยู่แล้ว อันนี้เป็นงบ Agenda ที่ผมต้องการแก้ไขก็ใส่ลงไป 1 ล้าน 3 ล้าน ต่อไปก็เป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3 แสนหรือยังไงใช่ไหม ตัวเลขนะ ถ้าจำไม่ผิดนะ ก็ประมาณนี้ตัวเลข ให้เขาคิดเอง โครงการเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็สร้างงานของเขาเอง บางอันก็มีเรื่องการจ้างงานด้วย อีกส่วนหนึ่งก็ไปทางกระทรวง ตรงไหนทำอะไรไม่ได้เลย ปลูกพืชน้ำน้อย น้ำมากอะไรก็ไม่ได้ ก็จ้างงาน ขุดลอกคูคลอง หนองน้ำ อะไรก็ว่าไป ให้เขามีรายจ่าย ต้องนึกถึงเขานะวันๆ ไม่รู้หากินที่ไหน

ถ้าเรื่องท่องเที่ยว ที่สำเร็จมากที่สุดตอนนี้คือเรื่องของการร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ก็เข้มงวดการใช้กฎหมาย ผมให้ออกระเบียบ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล ไม่ใช่ใช้โครมครามจนเสียหาย ไม่ได้ กำชับเจ้าหน้าที่ไปไม่ว่าจะเป็นเกาะ หรือเป็นอะไร มีตัวอย่างอันที่หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เราก็ได้ใช้มาตรการ “พีพีโมเดล” ทำให้เกิดรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวแบบนี้ ตุลาคม 2558 ถึงสิ้นสงกรานต์นี่ได้ 300 ล้านบาท เพิ่มกว่าเดิมในปีที่แล้ว 200 กว่าล้าน ก็เพิ่มขึ้น มันเพิ่มขึ้นได้ทุกอย่าง ถ้าทุกคนร่วมมือ นี่คือคำว่าประชารัฐ แล้วประสานพลังกับพวกภาคธุรกิจเอกชนด้วย เขาก็พร้อมจะลงมาช่วยเรา มี 12 กลุ่ม วันนั้นก็ประชุมไปแล้ว เห็นหรือไม่ ไม่ใช่ผมไปเอื้อเขา เอาเขามาเอื้อกับประชาชน นั่นแหละคือสิ่งที่ผมทำ

ปริยา- ในเมื่อมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ แล้วพื้นที่อื่นๆ จะไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ก็ได้เหมือนกันนะคะ

ประยุทธ์- ก็ต้องได้ แต่ต้องใช้เวลายังไง วันนี้บางอันไปไม่ได้เพราะน้ำยังไม่ถึง มันอยู่นอกเขตชลประทาน ยังไงก็ไปไม่ถึงแน่เพราะพื้นที่สูง บางพื้นที่ก็ปลูกไม่ได้ ปลูกข้าวไม่ได้ ปลูกข้าวได้น้อย เขาฝืนปลูกกันมาตลอด เพราะไม่มีคนไปสร้างการเรียนรู้เขาไง วันนี้ผมทำเอกสารเป็นเล่มโดยให้กรมประชาสัมพันธ์รวบรวมมา แจกไป 2 หมื่นเล่มแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่สำเร็จแล้ว โดยชาวบ้านเป็นคนแนะนำเอง อะไรเอง ผมก็ให้ไปถ่ายรูปมา แล้วรายได้เขาเพิ่มขึ้น เพื่อชักจูงเขา สร้างใจเขาให้ทำแบบนี้ ไปดูกัน เขาต้องเรียนรู้ เพราะรัฐพูดบางทีก็ไม่ค่อยเชื่อ บอกน้ำจะไม่มาก็จะปลูก พอปลูกเสร็จแล้วเสียหายก็รัฐต้องช่วย รัฐก็ไม่มีเงินมากขนาดนั้น ถ้าทำแบบนั้น ผมไม่ต้องการให้ประชาชนไม่เข้มแข็งอีกต่อไป เขาต้องเข้มแข็งด้วยตัวเขาเองก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งไว้แล้วว่า ต้องระเบิดจากข้างใน คือใจของเขาเอง เขาต้องการยังไง แล้วรัฐก็ไปชี้นำเขา สนับสนุนเขาประชาชนก็จะเข้มแข็งด้วยตัวเองยังไง วันนี้ลดลงเหลือประกาศภัยแล้งเหลือ 27 จังหวัด 4,911 หมู่บ้านคิดเป็น 6.55% ของหมู่บ้านทั้งหมด หมู่บ้านทั้งหมดมีประมาณ 70,000 69,000 น้อยกว่าปี 2558 ปี 2558 มีภัยแล้ง 34 จังหวัด 10,000 กว่าหมู่บ้าน น้อยที่สุดในรอบ 4 ปี เพราะฉะนั้นข้อมูลการทำฝนเทียมผมก็เร่งฝนเทียม บินขึ้น บินลง บินหลายร้อยเที่ยว ช่วงกุมภาพันธ์ถึงสงกรานต์ ผมก็อยากให้ฝนตกลองไปบิน ตรงไหนที่มีเมฆ มีความชื้นเพียงพอ 537 เที่ยวบิน มีฝนตกประมาณร้อยละ 77 ของจำนวนเที่ยวบิน ในพื้นที่ 41 จังหวัด ได้น้ำประมาณสัก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็พอบรรเทาไปได้บ้าง แต่ไม่ทั่วถึงไง เพราะมีในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทาน นี่มีระบบส่งน้ำ ข้างนอกก็ใช้น้ำฝน เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา แหล่งกักเก็บไม่พอเพียง เราก็ต้องไปขุดกักเก็บเพิ่ม ตอนนี้ก็ขุดไปได้ 2-3 พัน แห่งแล้ว ก็คิดว่าฝนหน้าน่าจะดี ถ้าในประเทศดี ต่างประเทศเขาก็เข้ามา เขาเห็นความสวยงาม งดงาม ความไม่แห้งแล้ง ผมว่านั่นคือภาพลักษณ์อันที่ 1 อันที่ 2 ก็คือในเรื่องของธรรมชาติเราเช่น ป่าเขา วันนี้ทำทุกอย่างเลย ต้องแก้ปัญหาเรื่องป่าบุกรุกอะไร ต่างๆ ทั้งหมด นอกจากวัฒนธรรมประเพณี ความสวยงามบ้านเมือง ประชาชนแล้ว สิ่งสำคัญคือความมีเสถียรภาพของรัฐบาลยังไง เรื่องป่านี่สำคัญที่สุด ต้องดูทั้งป่าต้นน้ำ ป่าเสื่อมสภาพ แล้วก็เรื่องจัดสรรที่ดินให้ประชาชน ในลักษณะที่ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ เป็นแปลงรวมอะไรทำนองนี้ ก็บูรณาการหมด ไม่ใช่ป่าคือกระทรวงทรัพยากรอย่างเดียว ไม่ใช่ วันนี้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทำทั้งหมด ร่วมกันสร้างป่า ป่าในใจคน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของพระเจ้าอยู่หัว ทำทั้งหมด เรื่องน้ำของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นน้ำ สมเด็จฯ ทรงเป็นป่า ทำนองนี้ ทำทั้งหมด เอามาใช้เป็นหลักการ แล้วก็ต้องสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน จัดระเบียบคน ป้องกันรักษาป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ พัฒนาส่งเสริมอาชีพ ให้สอด คล้อง สมดุลกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สิ้นเปลือง ไม่เสียหาย แล้วก็ทำยังไงจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการป้องกัน บรรเทา ช่วยเหลือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น พายุฤดูร้อนเหล่านี้ ต้องช่วยกันทำ วันนี้ปัญหาต่างประเทศเราหรือที่สำคัญที่ผมต้องแก้ให้เร็วที่สุดคืออะไร IUU

ปริยา- ค่ะ ประมงผิดกฎหมาย

ประยุทธ์- ประมงผิดกฎหมายมานานแล้ว นานมาก เรือเกินยอด ไม่ขึ้นทะเบียนอะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นการปล่อยปละละเลยที่ผ่านมา ผมไม่โทษใคร วันนี้ผมต้องทำ แล้วคิดว่าง่ายหรือไม่ เดือดร้อนไปหมด เพราะคนเคยได้ ไม่ได้ ผมก็ได้แต่ขอร้องว่า อย่าเลยนะ เรามาทบทวนที่ผ่านมากำไรสักเท่าไร วันนี้ถ้าเขาเกิดไม่ซื้อเราเลย จะเสียหายไหม ทุกคนต้องยอมสละกันบ้าง ตอนแรกเราให้ ศปมผ. เข้าไปแก้ปัญหา ช่วยเขา วันนี้ก็กลับไปให้กระทรวงดูแลแล้ว ให้ ศปมผ. เป็นผู้ช่วย เดิมให้ ศปมผ. ไปขับเคลื่อนระยะแรก วันนี้ถึงเวลาผมแก้คำสั่งไปแล้วให้กระทรวงเกษตรรับผิดชอบโดยตรง ก็มีหลายหน่วยงานในนั้น ก็เป็นงานโดยตรงของกระทรวงเขา ต้องแก้ปัญหาทั้งกฎหมาย กฎหมายทราบไหมเรื่องประมงเท่าไรจะต้องทำ 90 กว่าฉบับนะ แล้ว 90 กว่าฉบับที่ว่านี่ต้องมีกฎกระทรวง มีอะไรตามอีกเยอะแยะ ระบบ ระเบียบหน่วยงานหายไป ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ช้า เขาจับตาดูเราอยู่ เรื่องระบบ GPS ที่ติดเรือ ขึ้นจอเรด้าเหล่านี้ต้องรู้หมด ต้นทางไปมาที่ไหน การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องเข้มงวด ก็เดือดร้อนไปถึงภาคอะไรประมงพื้นบ้านด้วย ต้องช่วยกันทั้งหมด

ต่อไปเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศเรื่อง ICAO การบินก็อีก มันทำไมปัญหาเยอะนักไม่รู้ เดิมก็ใช้ ศบปพ. ศูนย์บินของ ทอ.ไปช่วย ทหารอากาศไปช่วยในส่วนนี้ เดิมไปเหมือนกับไปอำนวยการ วันนี้ไม่ได้แล้วเอากลับมาให้กระทรวงคมนาคม แล้ว ศบปพ.เข้าไปช่วย คือเป็นร่มเดียวกัน มันจะได้รับผิดชอบกันโดยตรงใช่ไหม ปัญหาอะไรอีกไหม เมื่อกี้ที่ถามมา

ปริยา- อย่างเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ตอนนี้ท่านนายกฯ ห่วงแค่ไหนคะ

ประยุทธ์- ห่วงที่สุดในโลก ห่วงมาตั้งนานแล้ว ห่วงตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.แล้ว ห่วงก่อนเป็น ผบ.ทบ. เพราะมันเกิดตั้งแต่ปี 2547 มันเกิดจากอะไรก็ไปหาเอา ทราบดีอยู่แล้ว พอหลัง 2547 มาแล้วเราก็พัฒนาแก้ไขมาตลอด คราวนี้ปัญหาคือความร่วมมือยากตรงที่ว่า คนมันต่างศาสนากัน แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือทำนองนี้ แล้วก็อ้างโน่นนี่มา ซึ่งจริงๆ เราก็ยอมรับว่า ในสมัยนั้นต้องยอมรับว่า รัฐเองก็การพัฒนาไม่เต็มที่ มีความแตกต่าง มีความเหลื่อมล้ำ วันนี้พยายามให้แก้ไข แต่มันติดตรงที่ว่า ไม่ปลอดภัย พอเกิดเหตุการณ์แล้วไม่ปลอดภัย การลงทุนแก้แล้วแก้อีก แก้ระเบียบสิทธิประโยชน์ ก็ไม่มีใครลงทุน เพราะกลัว ตอนนี้ก็ต้องสร้างความสงบให้ได้ เรื่องใต้วันนี้ทำ 3 อย่าง

1.เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเราไม่ได้มองเขาเป็นผู้ร้าย ผู้ก่อการร้ายอะไรที่ไหน มองเขาเป็นคนไทยด้วยกัน แล้วเป็นผู้กระทำความผิดในเชิงอาชญากรรม ก็ให้โอกาสต่อสู้คดีอะไรก็ว่ามา คืออย่าใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่เท่านั้นเอง มันเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เจ้าหน้าที่เขาต้องระวังตัว เขากลัวความไม่ปลอดภัยของเขาเหมือนกันยังไง มันเข้าใจผิดกันง่ายจะตายไปที่ใต้

อันที่ 2 เรื่องของการพัฒนา การศึกษาเรื่องกีฬา เรื่องอะไรต่างๆ ระบบการศึกษาภาคใต้ มันยังต้องปรับเข้าหากัน เพราะที่ผ่านมาความขัดแย้งสูง ความร่วมมือมันเกิดได้น้อย นี่กำลังเร่งอยู่

อันที่ 3 คือเรื่องอะไร การพูดคุยสันติสุข ทุกคนก็เร่งพูดไปแล้ว 2 ครั้งเสร็จหรือยัง มันจะไปเสร็จได้ยังไง เรื่องเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ผ่านมาอดีต แล้วมีคนเอามาใช้ประโยชน์ สร้างความขัดแย้ง วันนี้ต้องเอาประวัติศาสตร์มาเป็นแบบอย่างว่า ทำยังไงจะไม่เกิดอีก ไม่ใช่เอาอันเก่ามาทำให้เกิดใหม่ ไม่ได้ ประวัติศาสตร์เขาเอาไว้เรียนรู้ ความภูมิใจ แล้วทำวันนี้ให้ดี เพื่อจะเป็นอนาคตวันหน้า นี่ 3 เรื่องต้องทำ วันนี้ขอให้ทุกคนเข้าใจ รัฐบาลไม่ต้องการจะไปใช้อาวุธใช้กำลัง เพียงแต่บังคับใช้กฎหมายให้ได้ ถ้าไม่ได้อย่างอื่นไม่เกิด ไม่สงบ พัฒนาไม่ได้ แล้วเศรษฐกิจก็ไม่ดี การท่องเที่ยวภาคใต้ โอกาสมากที่สุดในอาเซียน แต่เขาไม่กล้ามา เพราะไม่ปลอดภัย หาดขาว ทรายสวย ธรรมชาติทั้งนั้นไปไม่ได้ ฝากบอกพี่น้องชาวใต้ด้วยแล้วกัน มันจะดีกว่านี้อีกสิบเท่า ถ้าเลิกได้ รัฐพร้อมเลิกอยู่แล้ว ถ้าท่านอยู่ในกฎหมายในระบบก็จบใช่ไหม ต้องช่วยกัน

ค้ามนุษย์อีกใช่หรือเปล่า ค้ามนุษย์พันไปไหน IUU อีก ออกกฎหมายค้ามนุษย์ ลงโทษเจ้าหน้าที่ เอาขบวนการยุติธรรมเข้าไปจับทั้งหมดเลย กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ออกง่ายๆ มันมีผลกระทบกับประชาชน เพราะฉะนั้นต้องไป 3 วาระ ถกแถลงกันนานกว่าจะออกได้ แสดงให้เห็นว่าผมไม่ใช้อำนาจผม 100% ถ้าใช้อำนาจผมเขียนออกมาเองก็จบแล้ว ไม่ได้ใช้เลยนะ อีกอันที่ต่างชาติมั่นใจคือเศรษฐกิจดิจิทัลที่บอกไปเมื่อกี้ ถ้าทำดีเขาก็ไม่ต้องเดินไปเดินมา เดินทางบ่อยๆ เสียงบประมาณเปล่าๆ ใช้การติดต่อทางระบบไอทีก็ได้

เรื่องอะไรอีกล่ะ เศรษฐกิจพิเศษกำลังพัฒนาไปสู่อย่างนั้น มันต้องดูว่าภูมิภาค แต่ละภูมิภาคจะเจริญแบบไหน มีวัสดุต้นทุนที่แตกต่างกันไป ประชาชนแตกต่าง ความต้องการแตกต่าง ถ้าเราทำทั้งหมดเหมือนกันทั้งประเทศไม่มีขายใครได้ มันต้องทำให้แตกต่างแต่ละภูมิภาคหนึ่ง แต่ละภูมิภาคมองกลุ่มจังหวัด แล้วไปดูแต่ละจังหวัด แล้วไปดูอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ต้องดูความแตกต่าง ต้องมีต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ต้นทางคือเพาะปลูก หรือทำวัสดุต้นทุน เอามาแปรรูปตรงกลางทาง เพิ่มมูลค่า ปลายทางหาตลาด ตลาดในพื้นที่ได้ไหม แลกเปลี่ยนในกลุ่มจังหวัดได้หรือไม่ ระหว่างจังหวัดได้ไหม ภูมิภาคกับภูมิภาคได้ไหม รวมทั้งหมดนี่ว่า เอาล่ะมี 4 อย่างที่ต่างกันในวัสดุอย่างเดียวกัน หรือวัสดุที่แตกต่างกันแล้วส่งออก นี่แหละคือเขาเรียกว่านวัตกรรม สร้างมูลค่า คนจะได้ไม่ต้องแข่งขันกันลดราคา ปั่นราคากัน ผมพยายามทำอย่างนี้อยู่

ตอนนี้กลุ่มธุรกิจกำลังไปจับที่ภาคเกษตรที่ภูเก็ต เห็นเขาลงไปแล้ว จะเอาสิ่งที่ดีๆ ในภูเก็ตเอามา แล้วขับเคลื่อนไปสู่ตลาดทางเหนือ เชียงใหม่ สับปะรดภูเก็ตอะไรทำนองนี้ แล้วมีเรื่องอาหารเรื่องกุ้งล็อบสเตอร์ เหล่านี้ มันขาดการขับเคลื่อน เราถึงต้องเอาภาคพวกนี้เข้ามาช่วย แล้วก็สร้างในเรื่องของ Social business คือในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งโดยเป็นการรวมกลุ่มทางธุรกิจ หรือสหกรณ์ทำนองนี้ โดยไม่เอาผลกำไรมาแบ่งกัน เป็นทุนให้กับประชาชนไปทำอย่างอื่น

เมื่อวานมีการประชุม เรื่อง Ease of doing business คือที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ไม่ค่อยดีในสายตาโลก เขามีการประเมินในหน่วยงาน แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันยังไง เราอยู่ลำดับที่เท่าไร ในการประกอบการธุรกิจ วันนี้ดีขึ้น 2 ปี ค่อยๆ ดีขึ้นมาเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่า เราดีขึ้นเขาก็หนีเราอีก เพราะฉะนั้นตำแหน่งตรงนี้ อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก เพียงแต่ว่าเรามาไส้ ที่เราดูว่าเราบกพร่องเรื่องอะไรบ้าง เราแก้ตรงนี้ให้ตรงจุด จะง่ายขึ้นในการประกอบการ ในการขออนุญาต ในการระบบภาษี ในการขอไฟฟ้า ขอประปา ขออะไรต่าง ๆ แล้วก็แรงงาน ต้องครบตรงนี้ บางทีเขาบอกว่ามาติดต่อบางทีเกือบ 2 ปีกว่าจะได้คำตอบที่ผ่านมา วันนี้ภายในไม่กี่เดือนถึงจบ จึงต้องมีศูนย์ OSS ข้อมูลต้องอยู่ตรงนั้น ต้องการหลักฐานอะไรบ้าง ให้ครบ ไม่ใช่เขามาเทียวไปเทียวมาอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ จากนี้ไปก็จะเข้าไปสู่ออโตเซอร์วิสของหน่วยงานเขา เขาก็ไม่ต้องเดินไปตามกรมโน้น กรมนี้ หรือกระทรวงโน้น กระทรวงนี้ ทำให้จบไปเลย คิดแบบนี้ แล้วต้องใช้ระบบ On Line บ้าง ใช้ระบบ IT บ้างอะไรบ้าง อิเล็กโทรนิกส์ มาทำยังไงจะได้เร็วขึ้น

ปริยา- ท่านนายกฯ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลา และแน่นอนว่าต้องอาศัยความเข้าใจด้วย คือการเลือกตั้งค่ะ เราก็มีความหวังว่าจะเกิดการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ หลาย ๆ คนก็มักจะพูดว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง หรือไม่ คะ ท่านนายกฯ คะ

ประยุทธ์- ถ้าถามผม ผมก็อยากให้เกิด ไม่มีใครไม่อยากให้เกิด เราฝืนประชาธิปไตยโลกไม่ได้ แล้วทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผมเข้ามาตรงนี้เพราะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วถ้าเราไม่เข้ามาทำ จะเกิดอะไรขึ้น แล้วอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก ทุกคนต้องกลับมาย้อนดูตรงนี้ ด้วยเหตุด้วยผลนะครับ ไม่ใช่ว่ามองกันเรื่องอำนาจ เรื่องผลประโยชน์อะไรกับผมอย่างนั้น ไม่ได้ ถ้าไม่เดือดร้อนผมไม่เข้ามาให้เสียไปหรอก ผมทำในสิ่งที่ดีกว่า แต่เอาล่ะ ผิดหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างประชาธิปไตยใหม่ขึ้นมาให้เป็นสากล ทุกคนมองว่าต้องเลือกตั้ง แล้วถึงจะเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แล้วผมถามที่ผ่านมาประชาธิปไตยไหม ที่บ้านเมืองวุ่นวายมีปัญหามาทั้งหมด ผมต้องเข้ามาแก้ รัฐบาลอะไรทำไว้ แล้วผมมาทำแก้หรือเปล่า ดูตรงนี้สิ แล้วมาบอกแก้ให้เสร็จสิ แก้เร็วๆ แก้แล้วไป แก้แล้วเลือกตั้งใหม่ ผมถามว่า ผมก็ยินยอมอยู่แล้ว ผมไม่ได้ฝืนเลยนะ จะเลือกตามโรดแมปของผม ผมก็อยู่ไปแบบนี้ ใครจะกดดันก็ช่าง เพราะผมทำเพื่อประเทศผม เพื่อคนไทยคนไทยทุกคน วันนี้ก็เร่งผมให้เสร็จ ให้ผมไปสักที วันนี้บ้านเมือง สงบเรียบร้อยก็จริง วันนี้มีการต่อต้าน มีความขัดแย้งเยอะ มันพร้อมจะกลับมาที่เดิมทุกอย่าง อย่ามาองที่การเลือกตั้งอย่างเดียว ผมไม่ขัดแย้งกับการเลือกตั้ง มีการทำประชามติก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นมาให้ผมลาออก มันใช่ไหมเนี้ย ผมให้ทุกอย่างแต่ท่านไม่ให้ผมเลย ไม่ได้ เพราะผมเข้ามาทำขนาดนี้แล้ว

เพราะฉะนั้นให้คิดว่า เนื้อแท้ในใจมีอะไรบ้าง 1.ต้องมีการเคารพเหตุผลคนอื่นเขาบ้าง มากกว่าบุคคล 2.คือต้องรู้จักประนีประนอม เรื่องเคารพกฎหมาย การมีระเบียบวินัย สังคม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็ต้องมี จะเป็นเลือกตั้งประชาธิปไตย เป็นการเมือง ผมไม่ได้ยุ่ง แต่ขอให้เป็นการเมืองที่สุจริต มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ขอแค่นี้ให้ผมได้ไหม ถ้าเขาให้ผมได้ ให้รู้ว่าผมให้อะไรไปแล้วนะ ให้ทำประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ มันอาจจะมีเข้มงวดบ้าง ในระยะ 5 ปี ยังให้ไม่ได้เลย แล้วอย่างนี้จะไปยังไง ต้องการให้มันดีขึ้นเหรอ ถ้ารัฐธรรมนูญเหมือนเดิม ไม่มีบทลงโทษ บทเข้มงวดก็กลับที่เก่า ก็ขอแค่ 5 ปี จะทำอะไรของท่านมา 5 ปีมันน่าจะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้นมาก ถ้าทุกคนร่วมมือขึ้นนะ ผมหวังให้มีการเลือกตั้ง มีการทำประชามติต่างๆ ที่มันไม่บังคับใคร คิดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แล้วจะหาเจอว่า ไอ้ที่ผมทำมันคืออะไร ไม่ใช่มามองว่าผมมายังไง แต่ผมควรจะไปได้แล้ว แล้วผมทำอะไรทุกวันอยู่นี่ ผมแก้ปัญหาให้เขาทั้งนั้นเลยนะ ไม่ใช่ปัญหาของผม ผมไม่ได้ทำไว้ และเพื่อเขาในวันหน้าเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต เป็นส่วนสำคัญ

ปริยา- วันนี้กราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติค่ะ

ประยุทธ์- สวัสดีครับ

ปริยา- คุณผู้ชมคะ หลากหลายภารกิจที่ตอนนี้รัฐบาล และ คสช. กำลังดำเนินการอยู่ เยอะแยะมากมาย แต่คงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการที่จะช่วยกันสร้างประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้ได้ เรามองกันไปไกลถึงอนาคตนั้นไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานอขงเราเอง และทั้งหมดนี้ก็คือรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ในวันนี้ขอบพระคุณสำหรับการติดตามรับชม ดิฉัน และท่านนายกรัฐมนตรี ลาไปพร้อมกันตรงนี้เลยนะคะ สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น