“ประยุทธ์” ร่วมงานกาลาดินเนอร์ โดยสภาหอการค้าสหรัฐฯ พบปะผู้บริหารระดับสูงบริษัทชั้นนำ พร้อมแจงแผนนำชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนด้วยประชารัฐ ยกเอเชียมีศักยภาพฟื้นโลกจากสภาวะซบเซา ชม “โอบามา” ปรับสมดุลเอเชีย ย้ำ รบ.มุ่งปฏิรูปเป็นรากฐานอนาคต โดยน้อมนำแนวคิด ศก.พอเพียง สอดรับเป้าให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อน ศก. เชื่อ ศก.ไทยจะเติบโตในทิศทางบวก
เมื่อวันพุธ 30 มีนาคม 2559 เวลา 18.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Four Seasons กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมงานกาลาดินเนอร์ โดยสภาหอการค้าสหรัฐ U.S. Chamber of Commerce) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) ร่วมเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีในโอกาสร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 (Nuclear Security Summit) ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 โดยมีนายอเล็กซ์ เฟลด์แมน (Alex Feldman) ประธาน USABC และนางทามี โอเวอร์มี (Tami Overby) รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย สภาหอการค้าสหรัฐฯ ให้การต้อนรับ โดยภายในงานประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มพลังงาน ยาและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง สื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ได้แก่ Guardian (ธุรกิจผลิตกระจก) บริษัท Chevron Corporation (พลังงาน) บริษัท Philip Morris International (บุหรี่และยาสูบ) บริษัท Motorola Solutions (โทรคมนาคมและการสื่อสาร) และผู้แทนจากภาครัฐของสหรัฐฯ และคณะทูตานุทูต ร่วมรับฟังความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศและนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงความก้าวหน้าการพัฒนาการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ด้วยกลไก “ประชารัฐ” และลดอุปสรรคทางกฎหมายและมาตรการทางการค้า และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) มีความสำคัญต่อประเทศไทยขณะเดียวกันไทยก็มีความสำคัญต่อภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา การพบปะวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรประเทศไทยและภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาและต่อ ยอดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกว่า 183 ปี ให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐฯ สายตาของโลกจึงจับจ้องมาที่ภูมิภาคเอเชียซึ่งมีประชากรกว่า 4.5 พันล้านคน มี GDP รวมกันทั้งสิ้น 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการค้ากว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีทรัพยากรมาก มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน แรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมากและเริ่มมีกำลังซื้อสูงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ จึงมีศักยภาพที่จะฟื้นโลกให้ตื่นตัวจากภาวะซบเซาและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาคและของโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อไทยและอาเซียน โดยดำเนินนโยบายปรับสมดุลสู่เอเชีย หรือ Strategic Rebalancing ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นทางความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นโยบายดังกล่าวช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กและใหญ่ในภูมิภาคให้ได้สมดุลขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ประเทศหมู่เกาะในอาเซียน และประเทศคู่เจรจาสำคัญนอกกลุ่ม เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นจุดสำคัญเชื่อมต่อด้านต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจดำเนินนโยบายในภูมิภาคเอเชียอย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความผาสุกให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการเติมนโยบายของภาครัฐให้เต็มขึ้นด้วยกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จับจ้องได้เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานให้แก่อนาคตประเทศ และให้ประเทศไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ เข้มแข็งและสร้างสรรค์สำหรับสหรัฐฯ มิตรประเทศ และประชาคมโลก ในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายในนั้น รัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งตั้งอยู่บนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติที่จะขับเคลื่อนโลกนี้สู่โลกที่ยั่งยืน มีเศรษฐกิจที่ครอบคลุมลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกประชารัฐ (People Public Private Partnership - PPPP) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน โดยร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศจัดคณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐ 13 คณะทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs
แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความแปรปรวนและการชะงักงันของเศรษฐกิจโลก แต่ยังสามารถเติบโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ในปี 2558 ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่เป็นจุดแข็ง คือ ระดับเงินสำรองสูง อัตราการว่างงานต่ำ แรงงานมีทักษะ ที่มีความขยันขันแข็ง มีคุณภาพและสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ผูกโยงกันอย่างแน่นแฟ้น มูลค่าการค้าไทย-สหรัฐฯ ในปี 2558 อยู่ที่ 39,841 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย ในด้านการลงทุนปัจจุบันมีบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 100 ในทุกสาขาอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวมมากเป็นลำดับที่ 2
รัฐบาลสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและธรรมภิบาล และประกาศให้ “การต่อต้านทุจริต” เป็น “วาระแห่งชาติ” มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีการกำหนดให้ทำสัญญาคุณธรรม (IP) ว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และใช้ระบบ CoST เพื่อประชาชนสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลดช่องทางการหารประโยชน์จากผู้มีอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล รวมทั้งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) โดยออก “มาตรการอำนวยความสะดวก การให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ อาทิ การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร จัดตั้งศูนย์บริการด้านการลงทุน (OSOS) ของ (BOI) เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่างชาติในไทย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นำมาซึ่งโอกาสในการกระชับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างในหลายประการ ประการแรก รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งแบบคลัสเตอร์ และซูเปอร์คลัสเตอร์ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้รวมกลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง สำหรับการดำเนินกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่งเสริมให้กระชับความร่วมมือ เกื้อหนุน และลดอุปสรรค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า (value chain) อย่างครบวงจร ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของไทย และช่วยกระจายความเจริญจากท้องถิ่นไปสู่ภูมิภาค การลงทุนแบบคลัสเตอร์นี้จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม จากการลงทุนแบบปกติทั่วไป โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร โดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษี
ประการที่ 2 เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้มีความทันสมัยและสะดวกสบาย โดยการพลิกโฉมทั้งระบบบริหารจัดการและการให้บริการ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การวางระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วประเทศ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (data center) การพัฒนาการให้บริการและการทำธุรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบดิจิตอล (e-Government) ล่าสุดได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับเทคโนโลยี 4G ซึ่งเป็นไปอย่างโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายจำนวน 8 ฉบับ ให้รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลแบบครบวงจรให้ สนช.พิจารณาภายในเดือนนี้ รวมทั้งการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล พ.ศ. 2559-2563 อีกด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยต่อไป
ประการที่ 3 การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริม ให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตและขยายผลเป็นอุตสาหกรรมต่อไป เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการการปฏิรูปทรัพย์สินทางปัญญาทั้งระบบ ครอบคลุม 4 ด้าน คือ การสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการป้องปราม โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการชูให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งปรับปรุงกฎหมาย และการพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยรัฐบาลได้แสดงความจริงใจ จริงจังในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐเพิ่มเติม เช่น เพิ่มอัตรากำลังผู้ตรวจสอบ ให้สามารถรองรับปริมาณคำขอจดทะเบียนที่ตกค้างในอดีต และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกวัย รวมทั้งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ด้วยการสอดแทรกอยู่ในบทเรียนให้มีความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ประโยชน์ของการคุ้มครอง และผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศเมื่อมีการละเมิด เป็นต้น
โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงประเทศกับอาเซียนด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเดินหน้าการลงทุน โครงสร้างขนาดใหญ่ หลายรายการ (1) ทางราง เช่น รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟความเร็วสูง ระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด และรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใหม่ (2) ทางน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือสำราญ และเรือยอชต์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง (3) ทางอากาศ ได้แก่ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อยกระดับให้เป็นหนึ่งในสนามบินนานาชาติ โครงการปรับปรุงสนามบินดอนเมือง ซึ่งได้เริ่มโครงการไปแล้วหลายขั้นตอน