xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียมฯ” เฮ ศาลปกครองชี้ไล่ออกเหตุขาดราชการเกิน 15 วันไม่ชอบ สั่งเพิกถอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ศาลปกครองชี้คำสั่งอธิการ มธ.ไล่ออก “สมศักดิ์ เจียมฯ” เหตุขาดราชการเกิน 15 วัน ไม่ชอบ สั่งเพิกถอน ระบุจากรายงานสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเจ้าตัวรู้คำสั่งยกเลิกการอนุมัติไปปฏิบัติราชการ ซ้ำในอดีต มธ.เคยอนุมัติให้ไปปฏิบัติราชการหลังกลับจากการปฏิอบัติงานตามคำขอแล้ว จึงไม่ถือว่ามีพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ

วันนี้ (11 เม.ย.) ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2558 ที่ลงโทษไล่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ยกอุทธรณ์ของนายสมศักดิ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนายสมศักดิ์ยื่นฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกดังกล่าว และเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาที่ยกอุทธรณ์

โดยคำพิพากษาศาลระบุว่า โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2557 นายสมศักดิ์ได้ยื่นเรื่องขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทำงานวิจัย เรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล มีกำหนด 1 ปี โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นงานวิจัยในวันที่ 1 ส.ค. 2557 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. 2558 จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจะถือว่านายสมศักดิ์ไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ตามที่ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติไว้หรือไม่

ศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแห่งกรณี กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทางปฏิบัติในเรื่องนี้ของหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วเห็นว่า กรณีการอนุมัติให้อาจารย์ไปปฏิบัติงานตามระเบียบทบวงมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการให้ข้าราชการ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 ไม่ใช่การยื่นเรื่องขอลาราชการเพื่อหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นที่จะต้องได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บังคับบัญชาอย่างชัดแจ้งก่อน จึงจะหยุดราชการได้ แต่มีลักษณะเป็นการขอไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานที่อื่นๆ นอกมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ

แม้กรณีนี้อธิการบดีฯ จะยังไม่ได้ลงนามอนุมัติในคำขอไปปฏิบัติงานของนายสมศักดิ์ก็ตาม แต่กระบวนการสำคัญในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของผู้ขอ ลักษณะและความเหมาะสมของเรื่องที่จะทำการวิจัย และระยะเวลาที่วิจัย ฯลฯ ซึ่งระเบียบฯ กำหนดให้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาโดยหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะฯ ได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 1ส.ค. 2557 อันเป็นวันเริ่มต้นการทำวิจัย โดยที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำวิจัยถือเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากจะต้องชะลอการไปปฏิบัติงานวิจัยไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีฯ ซึ่งไม่แน่นอนว่าการอนุมัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมกระทบต่อกระบวนการทำวิจัยและความสำเร็จสมบูรณ์ของงานวิจัย ประกอบกับก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่มหาวิทยาลัยฯ มีคำสั่งอนุมัติการไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์ในภายหลังเมื่อนายสมศักด์กลับจากปฏิบัติงานตามที่มีคำขอแล้ว ย่อมทำให้นายสมศักดิ์เข้าใจไปได้ว่าเมื่อวันเริ่มต้นของการวิจัย คือ วันที่ 1 ส.ค. 2557 มาถึง นายสมศักดิ์สามารถไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการได้เลย โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากอธิการบดีฯ ก่อน

อีกทั้งตามคำสั่งไล่ออกที่พิพาทระบุให้คำสั่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 57 เป็นต้นไป ซึ่งเท่ากับว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันเริ่มต้นของการวิจัย คือ วันที่ 1 ส.ค. 57 จนถึงวันที่ 18 ธ.ค. 57 มหาวิทยาลัยฯ ก็เห็นว่านายสมศักดิ์ไม่ได้จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และละทิ้งหน้าที่ราชการ กรณีจึงต้องถือว่านายสมศักดิ์ได้ไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 ตามที่ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตไว้

ต่อมาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 18 ธ.ค. 57 และลงวันที่ 26 ธ.ค. 57 แจ้งให้นายสมศักดิ์ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ กลับไปปฏิบัติราชการและรับมอบหมายภาระงานสอน แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้กลับไปปฏิบัติราชการที่คณะฯ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า กรณีดังกล่าวจะถือว่านายสมศักดิ์มีพฤติการณ์ที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่าเมื่อในทางพิจารณาถือว่านายสมศักดิ์อยู่ระหว่างปฏิบัติงานนอกมหาวิทยาลัยฯ ตามระเบียบทบวงมหาวิทยาลัยว่าด้วยการให้ข้าราชการไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 ดังนั้น จึงต้องนำหลักเกณฑ์ตามระเบียบทบวงมหาวิทยาลัยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้กลับมาปฏิบัติราชการมาประกอบการวินิจฉัย โดยตามระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการกลับมาปฏิบัติราชการ คือ ผู้อนุมัติ ซึ่งในกรณีของนายสมศักดิ์ คือ อธิการบดีฯ เช่นนี้แล้วหากหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์มีความจำเป็นต้องให้นายสมศักดิ์กลับไปปฏิบัติราชการประจำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ก็ชอบที่จะนำเสนอความจำเป็นดังกล่าวต่ออธิการบดีฯ เพื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการ

“การมีหนังสือแจ้งให้นายสมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการโดยไม่ได้อ้างถึงคำสั่งของอธิการบดีฯ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งไม่อนุมัติคำขอไปปฏิบัติงานของนายสมศักดิ์ โดยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเพิ่งมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานฯ ของนายสมศักดิ์เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558 อันเป็นการสั่งการภายหลังจากที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปะศาสตร์มีหนังสือแจ้งให้นายสมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการนานกว่าหนึ่งเดือน และภายหลังจากที่นายสมศักดิ์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ ในช่วงเวลานับจากวันที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปะศาสตร์มีหนังสือแจ้งให้นายสมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการดังกล่าว จนถึงวันก่อนวันที่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาของนายสมศักดิ์ คือระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 57 - 27 ม.ค. 58) ย่อมเป็นสภาวการณ์ที่ยัง ไม่แน่ชัดว่าเรื่องขอลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ และเรื่องขอลาออกจากราชการของนายสมศักดิ์จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดีฯ หรือไม่ และนายสมศักดิ์จะต้องยื่นใบลาประเภทอื่นต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ประกอบกับในการพิจารณาความผิดวินัยของข้าราชการที่มีพฤติการณ์ “จงใจ” ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ นั้น จะต้องได้ความด้วยว่า ข้าราชการผู้นั้นได้รู้หรือทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้วว่า การกระทำของตนเข้าลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการและเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ก็ยังเจตนาแสดงพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนดังกล่าว ซึ่งกรณีของนายสมศักดิ์ย่อมหมายถึงการที่นายสมศักดิ์ได้รู้และทราบในข้อเท็จจริงที่ว่า คำขอไปปฏิบัติงาน ของนายสมศักดิ์ได้ถูกยกเลิกแล้ว

และนายสมศักดิ์มีหน้าที่ต้องกลับไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัยฯ ดังเดิม ซึ่งตามรายงานการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติไปปฏิบัติงานฯ ให้นายสมศักดิ์ทราบ ตลอดจนไม่ปรากฏพฤติกรรมอื่นๆ ของนายสมศักดิ์ซึ่งได้กระทำขึ้นภายหลังมหาวิทยาลัยฯ ยกเลิกคำขออนุมัติไปปฏิบัติงานฯ อันจะอนุมานพฤติการณ์และนำมาวินิจฉัยความผิดวินัยได้ว่า นายสมศักดิ์ได้รู้และทราบเรื่องดังกล่าว และรู้ถึงหน้าที่ที่ต้องกลับไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัยฯ ดังเดิม แต่ก็ยัง “จงใจ” ฝ่าฝืนไม่ยอมกลับไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น การที่นายสมศักดิ์ไม่ได้กลับมาปฏิบัติราชการประจำตามหนังสือแจ้งของหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ดังกล่าว จึงเป็นพฤติการณ์ที่มีเหตุผลตามสมควร และถือไม่ได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นายสมศักดิ์มีพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ที่อธิการบดีฯ จะนำมาเป็นเหตุออกคำสั่งลงโทษทางวินัยนายสมศักดิ์ได้ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่นายสมศักดิ์ออกจากราชการและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของนายสมศักดิ์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

นอกจากนี้คำพิพากษายังระบุว่า หากในช่วงระยะเวลาภายหลังวันที่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์แล้ว นายสมศักดิฺยังคงไม่มาปฏิบัติราชการ และอธิการบดีฯ เห็นว่า นายสมศักดิ์มีการกระทำที่เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการดำเนินการสอบสวนและการลงโทษในคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่อธิการบดี มธ.จะไปพิจารณาดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น