xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการศาลปกครองแถลงคดีชี้ “สมศักดิ์ เจียมฯ” มีเหตุจำเป็น เห็นควรถอนคำสั่งไล่ออก นัดตัดสิน 8 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)
ทนาย “สมศักดิ์ เจียมฯ” แถลงปิดคดีฟ้องอธิการบดี มธ.ให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกราชการ อ้างถูกขู่ดำเนินคดี ม.112 จนต้องลาไปต่างประเทศ และขอลี้ภัยที่ฝรั่งเศส มาสอนไม่ได้จึงขอลาออก ด้านตุลาการผู้แถลงคดีชี้ผู้ฟ้องไม่ยื่นลาออกล่วงหน้า 15 วันถือว่ามีเหตุจำเป็น เห็นควรเพิกถอนคำสั่ง นัดฟังคำพิพากษา 8 มี.ค. ทนายไม่หวังมาก เหตุความเห็นตุลาการคนเดียวไม่มีผลต่อองค์คณะ

วันนี้ (1 มี.ค.) ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวกรวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลว.23 ก.พ. 2558 ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง จงใจไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการเกินกว่า 15 วัน โดยในวันนี้คณะตุลาการได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีแถลงปิดคดี และให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นส่วนตนที่ไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาคดีขององค์คณะ

น.ส.ภาวินี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสมศักดิ์ ได้แถลงปิดคดีด้วยวาจาเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนการรัฐประหาร นายสมศักดิ์ถูกข่มขู่โดยกองทัพบกว่าจะดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 112 มีการลอบยิงที่บ้านพัก โดยนายสมศักดิ์มีความประสงค์ที่จะลาไปปฏิบัติงานในประเทศจึงขอลาแบบปลอดการสอน พฤติกรรมจึงไม่ได้เป็นการจงใจไม่มาปฏิบัติราชการ และเมื่อมีการรัฐประหารก็ถูกเรียกให้ไปรายงานตัว แต่นายสมศักดิ์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกโดยไม่มีฐานกฎหมายรองรับ จึงไม่ไปรายงานตัว และอาศัยเหตุดังกล่าวเดินทางไปขอลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็ได้รับการอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ได้จนปัจจุบัน จากเหตุดังกล่าวจึงทำให้ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่สอนหนังสือได้ตามคำสั่งของหัวหน้าภาควิชาศิลปศาสตร์ และได้ยื่นหนังสือขอลาออกในเวลาต่อมา ดังนั้น เหตุผลในการไม่มาสอนหนังสือจึงไม่ได้เป็นเหตุส่วนตัวแต่เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจุบันนายสมศักดิ์ยังมีความรู้สึกที่อยากจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากรักในสถาบันแห่งนี้มาก อยากจะรับราชการจนเกษียณอายุราชการ

จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นส่วนตนเห็นว่า นายสมศักดิ์ยื่นขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ระหว่าง 1 ส.ค. 57 - 31 ก.ค. 58 หัวหน้าภาควิชา และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้อนุมัติเห็นชอบแล้ว แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติจนล่วงมาถึงระยะเวลาที่มีการขอลา ซึ่งแม้ต่อมามหาวิทยาลัยจะพิจารณาไม่อนุมัติการลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์ก็ตาม แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2545 นายสมศักดิ์ เคยยื่นขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ เป็นเวลา 4 เดือน การอนุมัติของมหาวิทยาลัย ก็เป็นการอนุมัติหลังสิ้นสุดการลาไปแล้ว ดังนั้นการที่นายสมศักดิ์ไม่ไปปฏิบัติราชการในระยะเวลาที่ขอลาจนถึงวันยุติการลาจึงถือไม่ได้ว่า นายสมศักดิ์ จงใจไม่มาปฏิบัติราชการเป็นเหตุให้ผิดวินัยร้ายแรง คำสั่งลงโทษไล่ออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อ้างว่า นายสมศักดิ์ได้รับบันทึกแจ้งจากหัวหน้าภาควิชาฯ ให้กลับมาปฏิบัติราชการ และรับมอบหมายภาระงานสอนในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ให้จำนวน 2 วิชา แต่นายสมศักดิ์กลับเพิกเฉย และยื่นหนังสือลาออกจากราชการทันทีให้มีผลในวันที่ 30 ธ.ค. 57 โดยไม่ได้ยื่นลาล่วงหน้าเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงนั้น เห็นว่า การได้รับคำสั่งเรียกให้กลับมาปฏิบัติราชการ โดยที่นายสมศักดิ์ต้องลี้ภัยไปนอกประเทศ การที่ไม่กลับมารับราชการและยื่นใบลาออกโดยให้มีผลในวันที่ 30 ธ.ค. 57 ถือว่าผู้ฟ้องมีเหตุผลจำเป็นพิเศษ การไม่ยื่นลาออกล่วงหน้า 15 วัน ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงไม่ใช่เหตุให้ผิดวินัยร้ายแรงที่ทำให้ราชการเสียหาย จึงเห็นควรที่องค์คณะจะพิจารณาสั่งเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไล่ออกนายสมศักดิ์โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว

หลังจากตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นส่วนตนเสร็จสิ้น ทางองค์คณะได้แจ้งคู่กรณีนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่ง น.ส.ภาวินีกล่าวว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีผลต่อการพิจารณาขององค์คณะ จึงยังไม่ได้หวังอะไรมาก เพราะหลายครั้งที่องค์คณะมีคำพิพากษาต่างจากตุลาการผู้แถลงคดี ดังนั้นต้องรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มี.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น