รองประธาน สปท. ระบุเกิดความเสี่ยงมากขึ้น หลัง ปชป. ประกาศท่าทีต่อร่าง รธน. และคำถามพ่วง ห่วงหากคะแนนประชามติเสียงก้ำกึ่ง จะเป็นชนวนความขัดแย้ง ด้าน “บุญเลิศ” ชื่นชม “อภิสิทธิ์” กล้าประกาศจุดยืน เสนอให้เซตซีโร เลิกทำประชามติร่างของ “มีชัย” แล้วแก้ รธน. ชั่วคราว ให้ร่างกันใหม่ หากยังเดินหน้าต่อปัญหาไม่จบ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่งกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติ มีความเสี่ยงมากขึ้นในการออกเสียงประชามติ หลังจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญ
“ขณะนี้มี 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย กับ 1 กลุ่มการเมืองใหญ่ คือ นปช. แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติ”
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากประเด็นความเสี่ยงในการออกเสียงประชามติแล้ว ยังมีความเสี่ยงประเด็นการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามหากการออกเสียงประชามติเห็นชอบก้ำกึ่งเหนือกว่าเสียงไม่เห็นชอบ ไม่เด็ดขาด จะเป็นชนวนความขัดแย้งก่อความไม่สงบตามมา จนกระทบต่อโรดแมปของแม่น้ำ 5 สาย ที่ต้องการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้งภายในปี 2560
ด้าน นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วกับการแถลงจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม ที่แม้จะบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนละเรื่องกับการบอกว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งอาจถูกวิจารณ์ ว่า เป็นการแทงกั๊ก แต่โดยสาระแล้ว ก็คืออย่างเดียวกัน เพราะในเมื่อนายอภิสิทธิ์แจกแจงว่าร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี พร้อมกับยกตัวอย่างประเด็นต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อเสีย รวมทั้งได้ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ควรเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็เท่ากับว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง
“ผมเห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ ที่เรียกร้องให้ คสช. ประกาศให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไรต่อ เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติและเคารพในสิทธิของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ และเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งควรจะรับรู้”
นายบุญเลิศ กล่าวว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วง การปฏิรูปประเทศ การบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้ง คสช. หนักขึ้น เพราะสองพรรคใหญ่มีความเห็นที่สอดคล้องกัน กระทบต่อการจัดให้มีการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญระหว่างฝ่ายที่เห็นชอบ กับฝ่ายไม่เห็นชอบ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้ดำเนินการ และ กรธ. จะเป็นฝ่ายอธิบาย รวมทั้ง สปท. และ สนช. ก็จะอธิบายความหมายของคำถามพ่วง การวิเคราะห์ของสื่อ และผู้คน ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน หรือจะคว่ ำจะเกิดขึ้นไปตลอดจนกว่าจะถึงวันที่ 7 สิงหาคม และหลังจากนั้น จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งล้วนแต่ไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตจะไปอย่างไร
“เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความอึมครึมในช่วงเกือบ 4 เดือนนับจากนี้ จึงควรจะเริ่มต้นกันที่ศูนย์แล้วเดินหน้านับหนึ่งกันใหม่ จะเรียกว่า “เซตซีโร” ก็ได้ นั้นคือ การระดมความเห็นว่า เมื่อไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจะทำอย่างไรต่อ อาจจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยมีคณะบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่มาที่ชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของหลาย ๆ ฝ่าย มาเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแท้จริง เสร็จแล้วค่อยไปลงประชามติ
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ก็น่าจะยุติไม่ต้องนำไปออกเสียงประชามติ เป็นการประหยัดงบประมาณไปได้ 3 พันล้านบาท และเป็นโอกาสตัดตอนปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องรีบตัดสินใจโดยเร็ว ถ้าไม่เลือกแนวทางเซตซีโรที่หลายฝ่ายยอมรับ เชื่อว่าปัญหาไม่จบ อย่างไรก็ตาม โรดแมป คสช. ที่ให้เลือกตั้งในเดือนกรฎาคม 2560 จะต้องไม่เปลี่ยนแปลง”