โดย เสรี พงศ์พิศ
ผมไม่มีอะไรจะคอมเมนต์ข้อเขียนของคุณหมอวิทยา ถิฐาพันธ์ มีแต่ชื่นชมในวิธีคิดและการเลี้ยงดูลูกและให้โอกาสการศึกษาแก่ลูก อ่านแล้วก็มานึกถึงประสบการณ์ของตนเอง และอยากเล่าให้ใครๆ ฟัง เผื่อจะช่วยการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ได้บ้าง
ผมมีลูกสองคน ลูกชายและลูกสาว ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในหนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ซึ่งตีพิมพ์ 8 ครั้ง เล่าว่าผมได้สอนลูกด้วยการแนะนำให้ลูกอ่านหนังสือ 10 เล่ม ดูหนัง 10 เรื่อง อย่างไร โดยเขียนเป็นจดหมายถึงลูก ซึ่งขณะนั้นลูกชายอายุ 15 เรียนที่เยอรมัน ลูกสาวอายุ 12 ที่อังกฤษ
ในจดหมายเหล่านั้นผมได้ย้อนอดีตเหตุการณ์หลายอย่างที่บ้าน ที่โรงเรียน ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ให้เขาได้เรียนรู้แบบมองหลังและแลหน้าเป็น ค้นให้พบว่าต้องการเป็นอะไร มีเป้าหมายชีวิต โดยพ่อแม่ไม่เคยกำหนดว่าลูกจะต้องเป็นอะไร
ลูกสาวอายุ 12-13 เรียนที่อังกฤษ ให้สัมภาษณ์สื่อที่เมืองไทยว่า พ่อเขียนจดหมายยาวๆ พิมพ์ครั้งละ 5-6 หน้ากระดาษ วันหนึ่งพ่อเขียนเรื่องเจ้าชายน้อยว่า “หนังสือเล่มนี้บอกว่า แก่นแท้ของชีวิตเราไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยใจ” ลูกทิ้งจดหมาย วิ่งไปอ่านหนังสือเล่มเล็กนี้ในห้องสมุด อยากรู้ว่าประโยคนั้นแปลว่าอะไร จบแล้วจึงกลับไปอ่านจดหมายพ่อต่อ
ผมให้ลูกฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เกิดมาก็ฟังดนตรี โดยเฉพาะก่อนนอน ซึ่งจะเริ่มด้วยนิทาน แล้วตามด้วยดนตรีเบาๆ ผมพบว่า ก่อนนอนเป็นเวลาดีที่สุดที่จะได้อยู่กับลูก และลูกอยู่กับเรา เพราะตลอดวันเขาจะไม่มีสมาธิที่จะ “ฟังพ่อแม่” เขามีโลกของเขา ที่สำคัญ เขาอยากฟังนิทานมาก ยอมทำทุกอย่างตอนกลางวันเพื่อจะได้ฟังนิทานตอนค่ำ ไม่ว่าจะฝึกเขียนเรียงความ ซ้อมดนตรี หรืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
ตอนแรกๆ ผมก็หาหนังสือนิทานมาอ่าน อ่านไปนานๆ ก็ชักเบื่อ ไม่มีเรื่องอ่าน เลยคิดเอง เล่าเอง อยากสอนอะไรลูกก็แต่งเรื่องขึ้นมา บางครั้งทื่อๆ เกินไปไม่แนบเนียนพอจนลูกจับได้ก็มี
ผมเล่านิทานให้ลูกฟัง อยากให้ลูกหลับไปในโลกแห่งความฝันและจินตนาการ จะได้ตื่นขึ้นมามีแรงสู้อยู่ในโลกที่โหดร้ายนี้ (โปรยคำบนหน้าปกหนังสือสอนลูกให้คิดเป็น คือ “โบยบินข้ามขอบฟ้า พาลูกท่องโลกแห่งความรู้และจินตนาการ ผ่านหนังสือและแผ่นฟิล์ม” โดยมีภาพลายเส้นของเทพศิริ สุขโสภา และคำนำของเชิด ทรงศรี)
เมื่อลูกชายอายุได้สัก 6-7 ขวบ เขาเริ่มอ่านหนังสือเป็น ผมขอให้เขาอ่านอะไรให้ฟังทุกเย็นเมื่อเขากลับมาจากโรงเรียน ที่อ่านประจำเลย คือ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งผมถือว่าเป็นข้อเขียนที่แสดงจุดยืนด้วยเหตุผลที่ดีที่สุดของหนังสือพิมพ์รายวันไทย อ่านจบผมให้ลูกสรุปให้ฟังว่า เขาว่าอย่างไร แรกๆ ลูกก็สรุปไม่เป็น แบบเข้าป่าเข้าดง แต่นานเข้าเขาก็เริ่มเรียนรู้หลักคิด เหตุผล และเริ่มจับประเด็นได้
ส่วนลูกสาว ผมสอนให้เขียนหนังสือ ตั้งแต่ ป.1 ป.2 ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์มี “การบ้าน” พิเศษ คือเขียนเรียงความ ตอนแรกลูกก็ต่อต้าน ไม่อยากเขียน แต่พ่อก็ต่อรองว่า ถ้าไม่เขียนก็คงไม่ได้ฟังนิทานก่อนนอน ลูกก็ยอม แต่เขียนแรกๆ แบบประท้วง คือ เขียนตัวโตๆ แบบคัดไทยให้ได้ครึ่งหน้ากระดาษ
ผมอยากให้เขาเขียนเรื่องใกล้ตัว อย่าง บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน สัตว์ที่ฉันรัก เครื่องเล่นที่ฉันชอบ อาหารที่ฉันโปรด แล้วค่อยๆ ไปเขียนเรื่องนามธรรม เขียนเสร็จก็ให้พ่อตรวจ พ่อก็ติชมและแนะนำให้เขียนอย่างไรให้ดี จากนั้นพ่อก็ให้ดาว เขียนดีก็ให้หลายดาว ดีที่สุดได้ 5 ดาว วันนี้เขามีเก็บไว้เป็นแฟ้มๆ
ลูกสาวได้เรียนรู้ว่า การเขียนหนังสือมีคุณค่าอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยให้เธอเรียนได้ดีขึ้น เขียนอะไรที่ครูให้ที่โรงเรียนได้เร็วและได้ดี ยังทำให้เธอได้ความมั่นใจในตัวเอง ผมก็เชื่อเช่นนั้นว่า ถ้าเขียนเป็นก็จะคิดเป็น คิดเป็นก็เขียนเป็น เพราะการเขียนเป็นการเรียบเรียงความคิดของตนเองเพื่อสื่อสารกับคนอื่น
ผมให้ลูกเรียนดนตรีทั้งสองคน ลูกชายอายุได้สองขวบครึ่ง ผมพาไปหาอาจารย์บรูซ แกสตันและอาจารย์ดนู ฮุนตระกูลที่โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ ที่ซอยประสานมิตร สุขุมวิท 23 อาจารย์สองท่านงงว่า พาลูกมาทำอะไร เพราะลูกยังเล็กมาก แถมลูกชายเป็นคนตัวเล็กด้วย ผมอยากให้ลูกเรียนเปียโน และเขาก็ไปเรียนกับครูที่นั่นอยู่เดือนเศษ เราเห็นว่า ลูกไม่มีความสุขเท่าไร เพราะมือเล็กนิ้วเล็กเกินไป เลยให้เลิก ซึ่งลูกก็ดีใจ
สามปีให้หลัง วันหนึ่งเขาบอกว่า อยากเล่นไวโอลิน ผมก็ไปหาซื้อไวโอลินเล็กๆ ให้ แล้วพาไปเรียนที่ลักกี้มิวสิกก่อน เขาเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารแม่และเด็กและรักลูกว่า ที่อยากเล่นไวโอลินเพราะเห็นในทีวีแล้วเพราะดี แต่เขาบอกว่า พอได้เล่นจริงๆ มันไม่เพราะ เล่นยาก ได้ยินแต่เสียงอีอ่อ อีอ่อ แต่ไม่กล้าเลิก เพราะได้ขอพ่อแล้ว
แต่ที่สุดเขาก็เล่นเก่งขึ้นเรื่อยๆ จึงพาไปหาอาจารย์สุทิน ศรีณรงค์ ที่โรงเรียนสาธิตเกษตร อาจารย์ฟังเขาเล่นแล้วบอกว่า “หูดี” นักดนตรีที่เก่งเขาดูที่ความสามารถในการฟังเสียงก่อน แล้วค่อยไปดูเรื่องเทคนิก
ส่วนลูกสาวก็ให้เล่นเปียโน ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยเต็มใจเท่าไร และชอบบอกใครๆ ว่า พ่อบังคับให้เรียน แต่นานเข้าลูกก็เริ่มชอบ อาจเพราะได้ครูดีที่ชื่อ “ดีนี่” ที่มีวิธีการสอนที่ดีมาก สอนไม่กี่เดือนทำให้ลูกหลับตาฟังเสียงเปียโนที่ครูเคาะแล้วบอกได้ว่าเป็นโน้ตอะไร
ผมเล่าเรื่องนี้เพราะอยากบอกว่า ตนเองอยากให้ลูกเป็นคนมีเหตุผล อ่านเป็น เขียนเป็น จัดระเบียบความคิดของตนเองได้ สื่อสารกับคนอื่นด้วยเหตุด้วยผลเป็น ในเวลาเดียวกันก็อยากให้ลูกพัฒนาด้านอารมณ์ ซึ่งไม่มีอะไรดีกว่าดนตรี ซึ่งจะช่วยให้ “อ่อนลง” (soft) ไม่แข็งกระด้างหรือดิบๆ จนเกินไป
ตอนลูกชายอายุ 9 ขวบ ลูกสาวอายุ 6 ขวบ ผมพาครอบครัวไปยุโรป วันหนึ่งไปเยี่ยมโรงรียนแห่งหนึ่งที่มิวนิก เมืองที่ซึ่งผมเคยเรียนและรู้จักผู้คน อยากให้ลูกดูว่าเขาเรียนเขาสอนกันอย่างไร โดยไม่ได้มีความคิดสักนิดว่าจะส่งลูกไปเรียนที่นั่น ลูกชายขอให้พ่อถามครูใหญ่ว่า ที่นี่เขาตีเด็กไหม ครูใหญ่ตอบว่า ไม่ตี ถ้าตีจะมีตำรวจมาจับ ลูกตาโตด้วยความชอบใจ แล้วบอกพ่อแม่ว่า อยากมาเรียนที่นี่
ตอนแรกผมก็นึกว่าลูกพูดเล่น แต่เขาพูดจริง และกลับมาเมืองไทยแล้วก็นอนไม่หลับหลายวัน บอกพ่อแม่ว่าอยากไปเรียนที่เยอรมันจริงๆ เขาไปเห็นแล้วก็ชอบเพราะดูเด็กๆ มีความสุข เขาไม่มีความสุขที่โรงเรียนที่เมืองไทย ถูกครูตีครูทำโทษเกือบทุกวัน เพราะไปถามคำถามแปลกๆ ครูรับไม่ได้ ไม่ชอบ
ลูกเป็นเด็กคนเดียวในชั้นตอนเรียนอยู่ ป.1 ที่กลับมาบ้านแล้วบอกพ่อแม่ว่า ครูดูจู๋เขา เราก็นึกว่าลูกพูดเล่น ถามไปถามมาก็เป็นเรื่องจริง ครูตรวจว่าเด็กนุ่งกางเกงในมาโรงเรียนหรือไม่ แต่ครูกลับเปิดกางเกงเด็กมองเข้าไปในกางเกง แล้วพูดว่า จุ๋เด็กคนไหนเป็นอย่างไร เด็กหัวเราะกันสนุกสนาน แต่ลูกผมไม่สนุกด้วย ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ที่หลายคนอาจไม่รู้สึก
ผมไปที่โรงเรียนตอนเช้า ถามเพื่อนๆ ของลูกว่าครูดูของพวกเธอจริงหรือเปล่า เด็กๆ หัวเราะ ไม่ตอบ ผมจึงไปพบครูคนนั้น ซึ่งเป็นผู้หญิง คำถามของผมทำให้เธอหน้าซีด ไม่มีคำโต้แย้งใดๆ ผมจึงสอนเธอยาวนานว่า ทำเช่นนั้นเป็นความผิด สอนเด็กผิดๆ เด็กจะเก็บกดและอาจไประเบิดเอาเมื่อโต เป็นอาชญากรฆ่าข่มขืนก็ได้ ผมบอกครูคนนั้นว่า ครั้งนี้ผมจะไม่บอกผู้บริหารอาจารย์ใหญ่ แต่อย่าทำอีก
ผู้ปกครองมักกลัวว่าลูกจะได้รับผลกระทบถ้าหากไปว่าอะไรครู ผมไม่กลัว และลูกก็ไม่ได้รับผลกระทบจากครูคนนี้ แต่จากครูคณิตศาสตร์ ซึ่งชอบทำโทษแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดแย้งมากๆ เพราะครูคณิตศาสตร์จริงๆ น่าจะเป็นคนมีเหตุมีผล วิชานี้เองที่ลูกเรียนได้ย่ำแย่ที่สุด
สุดท้ายผมก็ให้ลูกไปเรียนที่เยอรมันจนได้ เหตุผลหนึ่งก็เพราะลูกเล่นไวโอลินเก่ง เขาเข้าคอร์สแบบที่เรียกกันว่า Master Class ที่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนดนตรีเมนูฮินจากสวิตเซอร์แลนด์มาทำที่เมืองไทย เขาแนะนำว่า ลูกมีพรสวรรค์ ถ้าอยากให้ดีน่าให้เขาไปเรียนที่ยุโรป จะได้ครูดีๆ ผมก็นึกว่า รอให้อายุสัก 17-18 เมื่อจบมัธยมปลายก็ได้
ลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมดนตรีที่เมือง Passau ริมแม่น้ำสามสาย แม่น้ำดานูบ แม่น้ำอินน์ และแม่น้ำอิลซ์ ตอนเหนือของรัฐบาวาเรีย ติดพรมแดนออสเตรียและเช็ค ตอนที่ไปเขาอายุ 10 ขวบ และเรียนยังไม่จบ ป.4 มีเวลาเตรียมตัวเรียนภาษาเยอรมันเพียงไม่กี่เดือน เมื่อไปถึงเขาจึงให้เรียนเกรด 4 พักอยู่ที่โรงเรียนกินนอนที่มีแม่ชีดูแล เด็กส่วนใหญ่เป็นเยอรมันและยุโรปตะวันออก มีเด็กไทยและเอเชียคนเดียวที่ชื่อ “โมกขพันธุ์ พงศ์พิศ” หรือชื่อเล่น โดม
ผมบอกลูกว่า ลูกได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตเองนะ เล่นไวโอลินลูกก็เลือกเอง ไปเยอรมันลูกก็ได้ตัดสินใจเอง ฉะนั้นต้องสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ร้องไห้นะ ลูกก็สัญญา และเมื่อผมไปเยี่ยมลูก แม่ชีที่ดูแลอยู่ก็ชมว่า เด็กน้อยตัวเล็กสุดคนนี้ไม่เคยร้องไห้เลย มีแต่แม่ชีที่ร้องไห้ เพราะสงสารแก ไกลพ่อไกลแม่
จากโรงเรียนมัธยมดนตรีลูกสอบเข้า Richard Strauss Conservatory ที่มิวนิก จากนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะที่เบอร์ลิน ซึ่งมี่การแข่งขันกันสูงมาก ปีหนึ่งรับเพียงไม่กี่คน จบแล้วเขาเรียนปริญญาโท ด้านการแสดงและการสอนไวโอลิน
อาจารย์บอกให้กลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย ไปเขียนเรื่องเครื่องสายไทย เพราะในห้องสมุดเยอรมันไม่มีเรื่องนี้เลย ผมก็แนะนำให้ไปศึกษาเรื่องซอกับ “พญาซอ” ที่อัมพวา แม่กลอง ซึ่งอาจารย์เขาก็พอใจ และให้เรียนต่อปริญญาเอก เขาก็กำลังเลือกหัวข้อว่าจะทำเครื่องสายไทยต่อ หรือทำเรื่อง “ครู”
ถามพ่อก็ตอบแบบไม่ลังเลว่า “ทำเรื่องครูสิลูก” เพราะพ่อรู้ว่า ไม่มีประเพณีไหนในโลกที่มีเรื่อง “ครู” ยิ่งใหญ่เท่าครูในวัฒนธรรมไทย การไหว้ครูในทุกเรื่อง ทั้งศิลปะ การแสดง อาชีพ ทุกอย่างล้วนมีครู และครูไม่เพียงแต่บุคคล แต่ “วิญญาณครู” ที่สืบสานมาพร้อมกับประเพณีที่สืบทอดและถ่ายทอดต่อๆ กันมา ครูคือสายสัมพันธ์ หรือจิตวิญญาณของประเพณีวัฒนธรรมไทย