ผลสำรวจพบหญิงเกินครึ่งเคยถูก “ลวนลาม-ฉวยโอกาส” วันสงกรานต์ คนแก่วัย 60 ปี ยังโดนเหตุคนเมา บางส่วนมองเป็นเรื่องปกติ-ยอมรับได้ นักวิชาการเรียกร้องคุมเข้มจริงจังพื้นที่เล่นน้ำสร้างสรรค์ ปลอดภัย ให้เกียรติ ปลอดเหล้า
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นความปลอดภัยในเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “แฮปปี้สงกรานต์..ไม่มีเหล้า ไม่ลวนลาม ไม่รุนแรง” ทั้งนี้ ภายในงานมีการร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “แฮปปี้สงกรานต์” เพื่อสะท้อนการเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ เชียงใหม่ ลำปาง อำนาจเจริญ ชุมพร ชลบุรี ขอนแก่น พบว่า เกือบทั้งหมด หรือ 85.9% เห็นว่า ไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามแต๊ะอั๋งช่วงสงกรานต์ และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน แต่ที่น่าห่วง คือ 14% ยังมองเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้ ใครๆ ก็ทำกัน นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง 51.9% เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลาม เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอ คือ ถูกฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่ม ปัญหาการทะเลาะวิวาท การเล่นน้ำเกินขอบเขต เกิดอุบัติเหตุ
น.ส.จรีย์ กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่า สิ่งที่จะทำเมื่อถูกลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ คือ ตะโกนให้คนช่วย บอกผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่เข้าแจ้งความ ด่าทอผู้กระทำ โต้ตอบด้วยความรุนแรง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างต้องการให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำ คือ 40.9% บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน อีกทั้งต้องการให้มีหน่วยงานรับแจ้งความในพื้นที่เล่นน้ำ และจัดพื้นที่เล่นน้ำอย่างปลอดภัย และเมื่อถามถึงการรับรู้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ส่วนใหญ่รู้ว่ามีกฎหมาย เช่น การห้ามดื่มบนรถ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่เรื่องที่ยังรู้น้อยอยู่ คือ กฎหมายห้ามขายเร่ การขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สังคมต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการเล่นน้ำอย่างสนุกสนานด้วยการสร้างสรรค์ อย่างเอาค่านิยมผิดๆ มาเปลี่ยนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า ผู้หญิงรับไม่ได้หากมีการลวนลาม การฉวยโอกาสจากเรื่องแบบนี้ ดังนั้น จึงควรเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเร่งรณรงค์ให้สังคมตระหนักในประเด็นการให้เกียรติกัน
น.ส.ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่า ประเพณีสงกรานต์กลายเป็นพื้นที่สร้างค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งถูกสร้างจากประเพณีการเล่นน้ำอย่างไม่มีขอบเขต ไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคล ผู้หญิงกลายเป็นตัวแทนความสนุกสนานคู่ไปกับการเล่นน้ำ จากสถิติ 14.1% มีผู้ยอมรับว่า การฉวยโอกาสลวนลาม การแต๊ะอั๋ง เป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้ใครๆ ก็ทำกัน ซึ่งการยอมนี้จะเป็นชนวนสู่การล่วงละเมิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น แม้ผู้หญิงที่แต่งตัวมิดชิด หรือเด็กผู้หญิงก็ถูกลวนลามได้เช่นกัน
“พื้นที่สงกรานต์กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยเสี่ยง และมีความรุนแรงทุกครั้งที่มีการจัดงาน ยิ่งมีค่านิยมดื่มแอลกอฮอล์สิ่งที่จะตามมา คือ การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ เพราะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดความรุนแรง การล่วงละเมิดต่อผู้หญิง และเด็ก ดังนั้น ไม่เพียงแต่ทำลายประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม แต่ยังกลายสร้างพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ควรกำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย สร้างสรรค์ ให้เกียรติ ไม่ใช้อุปกรณ์ที่แรงดันน้ำสูง มีศูนย์ให้บริการช่วยเหลือ และเฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดมาตรการพื้นที่เล่นน้ำสาธารณะทุกจุด ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด” น.ส.ปุณิกา กล่าว
ด้าน น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 61 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเล่นสงกรานต์ย่านถนนข้าวสาร กับลูกชาย และลูกสะใภ้ด้วยความเป็นห่วงลูกจึงไปเป็นเพื่อน จากนั้น มีผู้ชายอาการคล้ายคนเมาเดินเข้ามาประแป้งที่ใบหน้า และลวนลามบริเวณหน้าอก ตอนนั้นรู้สึกตกใจมากเลือกที่จะไม่ร้องส่งเสียงโวยวายเพราะกลัว และอาย จึงพยายามเดินหนี และตัดสินใจชวนลูกชาย ลูกสะใภ้กลับบ้านทันที ซึ่งช่วงที่เดินกลับยังได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งร้องโวยวายเมื่อมองไปก็เห็นชายคนเดียวกันอยู่ในบริเวณนั้นด้วย และคิดว่าคงมีคนอื่นอีกที่ถูกลวนเช่นเดียวกับตน อย่างไรก็ตาม ขอฝากว่า วันสงกรานต์เป็นวันที่มีคุณค่า ไม่ควรถูกคนบางพวกบางกลุ่มทำให้เสียหาย โดยเฉพาะคนเมาขาดสติ ดังนั้น ในทุกพื้นที่เล่นสงกรานต์ควรเป็นพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่มเหล้าเบียร์ไปเลย
น.ส.บี (นามสมมติ) อายุ 24 ปี ชาวกรุงเทพฯ บอกเล่าประสบการณ์ที่ถูกลวนลามในเทศกาลสงการณ์ ว่า เหตุการณ์วันนั้นจำได้ขึ้นใจ เนื่องจากตนต้องทำงานตามปกติ และระหว่างเดินออกจากบ้านได้เจอกับกลุ่มวัยรุ่นในซอย พยายามใช้น้ำราด และทาแป้งที่บริเวณใบหน้า และจับหน้าอกลูบลงถึงบริเวณช่วงล่าง ด้วยความตกใจจึงร้องเสียงดัง และต่อว่ากลุ่มวัยรุ่นทันที มีปากเสียงกันเล็กน้อย ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นไม่ได้รู้สึกผิด และเล่นตามปกติ ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้สึกว่าเทศกาลนี้ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีกฎหมายควบคุม ใครจะทำอะไรจะล่วงละเมิดใครก็ได้ บางรายยังถูกบังคับให้ดื่มเหล้า ถูกรีดไถเงินไปซื้อเหล้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำให้เสื่อมเสีย เหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องทบทวน ไม่ปล่อยให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ในสงกรานต์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่