xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทย : “พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เสรี พงศ์พิศ

เสรี พงศ์พิศ


ผมไม่มีอะไรจะคอมเมนต์ข้อเขียนของคุณหมอวิทยา ถิฐาพันธ์ มีแต่ชื่นชมในวิธีคิดและการเลี้ยงดูลูกและให้โอกาสการศึกษาแก่ลูก อ่านแล้วก็มานึกถึงประสบการณ์ของตนเอง และอยากเล่าให้ใครๆ ฟัง เผื่อจะช่วยการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ได้บ้าง

ผมมีลูกสองคน ลูกชายและลูกสาว ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในหนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ซึ่งตีพิมพ์ 8 ครั้ง เล่าว่าผมได้สอนลูกด้วยการแนะนำให้ลูกอ่านหนังสือ 10 เล่ม ดูหนัง 10 เรื่อง อย่างไร โดยเขียนเป็นจดหมายถึงลูก ซึ่งขณะนั้นลูกชายอายุ 15 เรียนที่เยอรมัน ลูกสาวอายุ 12 ที่อังกฤษ

หนังสือที่แนะนำให้ลูกอ่านมี เจ้าชายน้อย, ต้นส้มแสนรัก, โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล, นิทานของพี่น้องกริมและฮันส์ คริสเตียน อันเดอร์เสน, นิกกับพิม, เมื่อข้าพเจ้าทดลองความจริง, โลกของโซฟี เป็นต้น ส่วนหนังก็มี Life is Beautiful, A Beautiful Mind, Traffic, My life เป็นต้น โดยเลือกหนังและหนังสือที่มีประเด็นที่อยาก “สอนลูก” (หนังสือเล่มนี้เป็นที่มาที่ผู้จัดการขอให้เขียนเรื่อง “หนัง” ในผู้จัดการออนไลน์ และสำนักพิมพ์พระอาทิตย์รวบรวมพิมพ์ต่อมาในชื่อ “อ่านชีวิตบนแผ่นฟิล์ม”)

ในจดหมายเหล่านั้นผมได้ย้อนอดีตเหตุการณ์หลายอย่างที่บ้าน ที่โรงเรียน ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ให้เขาได้เรียนรู้แบบมองหลังและแลหน้าเป็น ค้นให้พบว่าต้องการเป็นอะไร มีเป้าหมายชีวิต โดยพ่อแม่ไม่เคยกำหนดว่าลูกจะต้องเป็นอะไร

ลูกสาวอายุ 12-13 เรียนที่อังกฤษ ให้สัมภาษณ์สื่อที่เมืองไทยว่า พ่อเขียนจดหมายยาวๆ พิมพ์ครั้งละ 5-6 หน้ากระดาษ วันหนึ่งพ่อเขียนเรื่องเจ้าชายน้อยว่า “หนังสือเล่มนี้บอกว่า แก่นแท้ของชีวิตเราไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยใจ” ลูกทิ้งจดหมาย วิ่งไปอ่านหนังสือเล่มเล็กนี้ในห้องสมุด อยากรู้ว่าประโยคนั้นแปลว่าอะไร จบแล้วจึงกลับไปอ่านจดหมายพ่อต่อ
ผมให้ลูกฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เกิดมาก็ฟังดนตรี โดยเฉพาะก่อนนอน ซึ่งจะเริ่มด้วยนิทาน แล้วตามด้วยดนตรีเบาๆ ผมพบว่า ก่อนนอนเป็นเวลาดีที่สุดที่จะได้อยู่กับลูก และลูกอยู่กับเรา เพราะตลอดวันเขาจะไม่มีสมาธิที่จะ “ฟังพ่อแม่” เขามีโลกของเขา ที่สำคัญ เขาอยากฟังนิทานมาก ยอมทำทุกอย่างตอนกลางวันเพื่อจะได้ฟังนิทานตอนค่ำ ไม่ว่าจะฝึกเขียนเรียงความ ซ้อมดนตรี หรืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

ตอนแรกๆ ผมก็หาหนังสือนิทานมาอ่าน อ่านไปนานๆ ก็ชักเบื่อ ไม่มีเรื่องอ่าน เลยคิดเอง เล่าเอง อยากสอนอะไรลูกก็แต่งเรื่องขึ้นมา บางครั้งทื่อๆ เกินไปไม่แนบเนียนพอจนลูกจับได้ก็มี

ผมเล่านิทานให้ลูกฟัง อยากให้ลูกหลับไปในโลกแห่งความฝันและจินตนาการ จะได้ตื่นขึ้นมามีแรงสู้อยู่ในโลกที่โหดร้ายนี้ (โปรยคำบนหน้าปกหนังสือสอนลูกให้คิดเป็น คือ “โบยบินข้ามขอบฟ้า พาลูกท่องโลกแห่งความรู้และจินตนาการ ผ่านหนังสือและแผ่นฟิล์ม” โดยมีภาพลายเส้นของเทพศิริ สุขโสภา และคำนำของเชิด ทรงศรี)

เมื่อลูกชายอายุได้สัก 6-7 ขวบ เขาเริ่มอ่านหนังสือเป็น ผมขอให้เขาอ่านอะไรให้ฟังทุกเย็นเมื่อเขากลับมาจากโรงเรียน ที่อ่านประจำเลย คือ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งผมถือว่าเป็นข้อเขียนที่แสดงจุดยืนด้วยเหตุผลที่ดีที่สุดของหนังสือพิมพ์รายวันไทย อ่านจบผมให้ลูกสรุปให้ฟังว่า เขาว่าอย่างไร แรกๆ ลูกก็สรุปไม่เป็น แบบเข้าป่าเข้าดง แต่นานเข้าเขาก็เริ่มเรียนรู้หลักคิด เหตุผล และเริ่มจับประเด็นได้

ส่วนลูกสาว ผมสอนให้เขียนหนังสือ ตั้งแต่ ป.1 ป.2 ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์มี “การบ้าน” พิเศษ คือเขียนเรียงความ ตอนแรกลูกก็ต่อต้าน ไม่อยากเขียน แต่พ่อก็ต่อรองว่า ถ้าไม่เขียนก็คงไม่ได้ฟังนิทานก่อนนอน ลูกก็ยอม แต่เขียนแรกๆ แบบประท้วง คือ เขียนตัวโตๆ แบบคัดไทยให้ได้ครึ่งหน้ากระดาษ

ผมอยากให้เขาเขียนเรื่องใกล้ตัว อย่าง บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน สัตว์ที่ฉันรัก เครื่องเล่นที่ฉันชอบ อาหารที่ฉันโปรด แล้วค่อยๆ ไปเขียนเรื่องนามธรรม เขียนเสร็จก็ให้พ่อตรวจ พ่อก็ติชมและแนะนำให้เขียนอย่างไรให้ดี จากนั้นพ่อก็ให้ดาว เขียนดีก็ให้หลายดาว ดีที่สุดได้ 5 ดาว วันนี้เขามีเก็บไว้เป็นแฟ้มๆ

ลูกสาวได้เรียนรู้ว่า การเขียนหนังสือมีคุณค่าอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยให้เธอเรียนได้ดีขึ้น เขียนอะไรที่ครูให้ที่โรงเรียนได้เร็วและได้ดี ยังทำให้เธอได้ความมั่นใจในตัวเอง ผมก็เชื่อเช่นนั้นว่า ถ้าเขียนเป็นก็จะคิดเป็น คิดเป็นก็เขียนเป็น เพราะการเขียนเป็นการเรียบเรียงความคิดของตนเองเพื่อสื่อสารกับคนอื่น

ผมให้ลูกเรียนดนตรีทั้งสองคน ลูกชายอายุได้สองขวบครึ่ง ผมพาไปหาอาจารย์บรูซ แกสตันและอาจารย์ดนู ฮุนตระกูลที่โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ ที่ซอยประสานมิตร สุขุมวิท 23 อาจารย์สองท่านงงว่า พาลูกมาทำอะไร เพราะลูกยังเล็กมาก แถมลูกชายเป็นคนตัวเล็กด้วย ผมอยากให้ลูกเรียนเปียโน และเขาก็ไปเรียนกับครูที่นั่นอยู่เดือนเศษ เราเห็นว่า ลูกไม่มีความสุขเท่าไร เพราะมือเล็กนิ้วเล็กเกินไป เลยให้เลิก ซึ่งลูกก็ดีใจ

สามปีให้หลัง วันหนึ่งเขาบอกว่า อยากเล่นไวโอลิน ผมก็ไปหาซื้อไวโอลินเล็กๆ ให้ แล้วพาไปเรียนที่ลักกี้มิวสิกก่อน เขาเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารแม่และเด็กและรักลูกว่า ที่อยากเล่นไวโอลินเพราะเห็นในทีวีแล้วเพราะดี แต่เขาบอกว่า พอได้เล่นจริงๆ มันไม่เพราะ เล่นยาก ได้ยินแต่เสียงอีอ่อ อีอ่อ แต่ไม่กล้าเลิก เพราะได้ขอพ่อแล้ว

แต่ที่สุดเขาก็เล่นเก่งขึ้นเรื่อยๆ จึงพาไปหาอาจารย์สุทิน ศรีณรงค์ ที่โรงเรียนสาธิตเกษตร อาจารย์ฟังเขาเล่นแล้วบอกว่า “หูดี” นักดนตรีที่เก่งเขาดูที่ความสามารถในการฟังเสียงก่อน แล้วค่อยไปดูเรื่องเทคนิก

ส่วนลูกสาวก็ให้เล่นเปียโน ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยเต็มใจเท่าไร และชอบบอกใครๆ ว่า พ่อบังคับให้เรียน แต่นานเข้าลูกก็เริ่มชอบ อาจเพราะได้ครูดีที่ชื่อ “ดีนี่” ที่มีวิธีการสอนที่ดีมาก สอนไม่กี่เดือนทำให้ลูกหลับตาฟังเสียงเปียโนที่ครูเคาะแล้วบอกได้ว่าเป็นโน้ตอะไร

ผมเล่าเรื่องนี้เพราะอยากบอกว่า ตนเองอยากให้ลูกเป็นคนมีเหตุผล อ่านเป็น เขียนเป็น จัดระเบียบความคิดของตนเองได้ สื่อสารกับคนอื่นด้วยเหตุด้วยผลเป็น ในเวลาเดียวกันก็อยากให้ลูกพัฒนาด้านอารมณ์ ซึ่งไม่มีอะไรดีกว่าดนตรี ซึ่งจะช่วยให้ “อ่อนลง” (soft) ไม่แข็งกระด้างหรือดิบๆ จนเกินไป

วันหนึ่งลูกชายอายุ 13-14 มีรายการแสดงคอนเสิร์ตไวโอลินที่เชียงใหม่ ตอนกลางวัน วิทยุคลื่น 100 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สัมภาษณ์ลูก ผมไม่ได้ฟัง ผมพบลูกตอนเย็นก็บอกลูกว่า มีคนเล่าว่า ลูกพูดว่าเรียนดนตรีแล้วทำให้เย็นลง อ่อนลง แล้วผมก็กระเซ้าว่า แต่พ่อยังเห็นลูกก้าวร้าวอยู่นะบางครั้ง ลูกชายมองผมแล้วตอบว่า “ถ้าโดมไม่เล่นดนตรี ป่านนี้อาจเป็นโจรไปแล้วก็ได้”... เมื่อ “สอนลูกให้คิดเป็น” ก็ได้อย่างนี้

ตอนลูกชายอายุ 9 ขวบ ลูกสาวอายุ 6 ขวบ ผมพาครอบครัวไปยุโรป วันหนึ่งไปเยี่ยมโรงรียนแห่งหนึ่งที่มิวนิก เมืองที่ซึ่งผมเคยเรียนและรู้จักผู้คน อยากให้ลูกดูว่าเขาเรียนเขาสอนกันอย่างไร โดยไม่ได้มีความคิดสักนิดว่าจะส่งลูกไปเรียนที่นั่น ลูกชายขอให้พ่อถามครูใหญ่ว่า ที่นี่เขาตีเด็กไหม ครูใหญ่ตอบว่า ไม่ตี ถ้าตีจะมีตำรวจมาจับ ลูกตาโตด้วยความชอบใจ แล้วบอกพ่อแม่ว่า อยากมาเรียนที่นี่

ตอนแรกผมก็นึกว่าลูกพูดเล่น แต่เขาพูดจริง และกลับมาเมืองไทยแล้วก็นอนไม่หลับหลายวัน บอกพ่อแม่ว่าอยากไปเรียนที่เยอรมันจริงๆ เขาไปเห็นแล้วก็ชอบเพราะดูเด็กๆ มีความสุข เขาไม่มีความสุขที่โรงเรียนที่เมืองไทย ถูกครูตีครูทำโทษเกือบทุกวัน เพราะไปถามคำถามแปลกๆ ครูรับไม่ได้ ไม่ชอบ

ลูกเป็นเด็กคนเดียวในชั้นตอนเรียนอยู่ ป.1 ที่กลับมาบ้านแล้วบอกพ่อแม่ว่า ครูดูจู๋เขา เราก็นึกว่าลูกพูดเล่น ถามไปถามมาก็เป็นเรื่องจริง ครูตรวจว่าเด็กนุ่งกางเกงในมาโรงเรียนหรือไม่ แต่ครูกลับเปิดกางเกงเด็กมองเข้าไปในกางเกง แล้วพูดว่า จุ๋เด็กคนไหนเป็นอย่างไร เด็กหัวเราะกันสนุกสนาน แต่ลูกผมไม่สนุกด้วย ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ที่หลายคนอาจไม่รู้สึก

ผมไปที่โรงเรียนตอนเช้า ถามเพื่อนๆ ของลูกว่าครูดูของพวกเธอจริงหรือเปล่า เด็กๆ หัวเราะ ไม่ตอบ ผมจึงไปพบครูคนนั้น ซึ่งเป็นผู้หญิง คำถามของผมทำให้เธอหน้าซีด ไม่มีคำโต้แย้งใดๆ ผมจึงสอนเธอยาวนานว่า ทำเช่นนั้นเป็นความผิด สอนเด็กผิดๆ เด็กจะเก็บกดและอาจไประเบิดเอาเมื่อโต เป็นอาชญากรฆ่าข่มขืนก็ได้ ผมบอกครูคนนั้นว่า ครั้งนี้ผมจะไม่บอกผู้บริหารอาจารย์ใหญ่ แต่อย่าทำอีก

ผู้ปกครองมักกลัวว่าลูกจะได้รับผลกระทบถ้าหากไปว่าอะไรครู ผมไม่กลัว และลูกก็ไม่ได้รับผลกระทบจากครูคนนี้ แต่จากครูคณิตศาสตร์ ซึ่งชอบทำโทษแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดแย้งมากๆ เพราะครูคณิตศาสตร์จริงๆ น่าจะเป็นคนมีเหตุมีผล วิชานี้เองที่ลูกเรียนได้ย่ำแย่ที่สุด

สุดท้ายผมก็ให้ลูกไปเรียนที่เยอรมันจนได้ เหตุผลหนึ่งก็เพราะลูกเล่นไวโอลินเก่ง เขาเข้าคอร์สแบบที่เรียกกันว่า Master Class ที่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนดนตรีเมนูฮินจากสวิตเซอร์แลนด์มาทำที่เมืองไทย เขาแนะนำว่า ลูกมีพรสวรรค์ ถ้าอยากให้ดีน่าให้เขาไปเรียนที่ยุโรป จะได้ครูดีๆ ผมก็นึกว่า รอให้อายุสัก 17-18 เมื่อจบมัธยมปลายก็ได้

ลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมดนตรีที่เมือง Passau ริมแม่น้ำสามสาย แม่น้ำดานูบ แม่น้ำอินน์ และแม่น้ำอิลซ์ ตอนเหนือของรัฐบาวาเรีย ติดพรมแดนออสเตรียและเช็ค ตอนที่ไปเขาอายุ 10 ขวบ และเรียนยังไม่จบ ป.4 มีเวลาเตรียมตัวเรียนภาษาเยอรมันเพียงไม่กี่เดือน เมื่อไปถึงเขาจึงให้เรียนเกรด 4 พักอยู่ที่โรงเรียนกินนอนที่มีแม่ชีดูแล เด็กส่วนใหญ่เป็นเยอรมันและยุโรปตะวันออก มีเด็กไทยและเอเชียคนเดียวที่ชื่อ “โมกขพันธุ์ พงศ์พิศ” หรือชื่อเล่น โดม

ผมบอกว่าลูกว่า ลูกได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตเองนะ เล่นไวโอลินลูกก็เลือกเอง ไปเยอรมันลูกก็ได้ตัดสินใจเอง ฉะนั้นต้องสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ร้องไห้นะ ลูกก็สัญญา และเมื่อผมไปเยี่ยมลูก แม่ชีที่ดูแลอยู่ก็ชมว่า เด็กน้อยตัวเล็กสุดคนนี้ไม่เคยร้องไห้เลย มีแต่แม่ชีที่ร้องไห้ เพราะสงสารแก ไกลพ่อไกลแม่

จากโรงเรียนมัธยมดนตรีลูกสอบเข้า Richard Strauss Conservatory ที่มิวนิก จากนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะที่เบอร์ลิน ซึ่งมี่การแข่งขันกันสูงมาก ปีหนึ่งรับเพียงไม่กี่คน จบแล้วเขาเรียนปริญญาโท ด้านการแสดงและการสอนไวโอลิน

อาจารย์บอกให้กลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย ไปเขียนเรื่องเครื่องสายไทย เพราะในห้องสมุดเยอรมันไม่มีเรื่องนี้เลย ผมก็แนะนำให้ไปศึกษาเรื่องซอกับ “พญาซอ” ที่อัมพวา แม่กลอง ซึ่งอาจารย์เขาก็พอใจ และให้เรียนต่อปริญญาเอก เขาก็กำลังเลือกหัวข้อว่าจะทำเครื่องสายไทยต่อ หรือทำเรื่อง “ครู”

ถามพ่อก็ตอบแบบไม่ลังเลว่า “ทำเรื่องครูสิลูก” เพราะพ่อรู้ว่า ไม่มีประเพณีไหนในโลกที่มีเรื่อง “ครู” ยิ่งใหญ่เท่าครูในวัฒนธรรมไทย การไหว้ครูในทุกเรื่อง ทั้งศิลปะ การแสดง อาชีพ ทุกอย่างล้วนมีครู และครูไม่เพียงแต่บุคคล แต่ “วิญญาณครู” ที่สืบสานมาพร้อมกับประเพณีที่สืบทอดและถ่ายทอดต่อๆ กันมา ครูคือสายสัมพันธ์ หรือจิตวิญญาณของประเพณีวัฒนธรรมไทย

มีคนถามผมแบบเสียดสีว่า เห็นเขียนเรื่องภูมิปัญญาไทย เขียนเรื่องคืนสู่รากเหง้า แล้วทำไมส่งลูกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ผมตอบไปว่า ผมไม่เชื่อว่าการศึกษาไทยจะช่วยให้ลูกผมมีความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้

และบอกว่า ผมไม่เชื่อว่า ถ้าลูกไปเรียนเมืองนอกจะทำให้เขาลืมรากเหง้าของตนเอง ไม่ต้องไปถึงเมืองนอกหรอก การศึกษาไทยนี่แหละที่ทำให้ลูกหลานบ้านเราลืมรากเหง้าของตนเอง ดูถูกพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพราะท่านไม่มีปริญญา หาว่าท่านโง่ อายที่จะบอกใครๆ ว่าตนเองมาจากบ้านนอก อายที่จะแนะนำพ่อแม่ให้เพื่อนๆ รู้จักเพราะท่านเป็นชาวไร่ชาวนา
ลูกสาวผมไปเรียนที่อังกฤษตอนอายุ 12 ที่นั่นค่าใช้จ่ายแพงมาก แต่ก็กัดฟันสู้ ตอนทำงานที่ยูเอ็นก็พอมีเงินส่งลูก พอออกมาก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเรียนให้ถึงที่สุดจนไปกู้ยืมก็ต้องทำ เพราะเชื่อว่า การลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนเพื่อการศึกษา (ที่ว่านี่ไม่ใช่เพราะไปฟังนายวอร์เรน บัฟเฟต ที่ได้พูดไม่นานมานี้ที่มหาวิทยาลัยเนบรัสกา แต่เพราะเชื่อว่า “การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า” จริงๆ )

โรงเรียนประถม ลูกเรียนที่มาแตร์และย้ายไปเรจีนา เชลี เมื่อพ่อย้ายไปทำงานเกี่ยวกับเอดส์ที่เชียงใหม่ แม้เป็นโรเงรียนที่ดีมาก แต่ผมก็เคยเขียนจดหมายถึงครูประจำชั้นที่มาแตร์วันหนึ่งว่า “วันนี้ลูกไม่มีการบ้านมาส่งครู เพราะการบ้านมากเกินไป ครูหลายคนให้หลายวิชาพร้อมกัน ลูกไม่มีเวลา เพราะต้องพักผ่อน ซ้อมดนตรี และช่วยงานพ่อแม่บ้าง” ครูไม่ได้ว่าอะไร หรือทำโทษลูก คงเอาไปคิดต่อว่า จะจัดการอย่างไรไม่ให้ครูให้การบ้านพร้อมกันแบบนั้น

ต้องยอมรับว่า การให้ลูกไปเรียนต่างประเทศพร้อมกันสองคนเป็นเรื่องลำบากใจมากที่สุดสำหรับพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจิตใจที่ห่างไกล ค่าโทรศัพท์ก็แพง ไม่ได้มีสไกป์คุยกันฟรีแบบวันนี้ ไม่ได้มี fb หรือ line แต่เราก็เชื่อว่า เป็นเรื่องจำเป็น เป็นการลงทุนสำคัญเพื่ออนาคตของลูก

ลูกเรียนมัธยมปลายจบก็กลับมาเรียนต่อที่วิทยาลัยนานาชาติมหิดล เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอนที่ไปสมัครเรียน ลูกสาวถามเจ้าหน้าที่ที่รับนักศึกษาว่า ที่นี่มีห้องแลปไหม พนักงานงง ไม่เคยมีคนมาเรียนแล้วถามคำถามแบบนี้ ลูกบอกที่อังกฤษเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องแลปตลอด

ที่อังกฤษ ในการทดสอบและเตรียมอนาคตที่โรงเรียนจัดทำทุกปี ลูกอยากเรียนสถาปัตย์ แต่วันหนึ่ง กลับเมืองไทย พ่อให้ไปอยู่กับครูมุกดาที่ดอกคำไต้ ครูมุกดาพาไปเยี่ยมชาวเขาบนดอย ลูกกลับไปอังกฤษ เขียนอีเมลบอกพ่อว่า ไม่เรียนสถาปัตย์แล้ว อยากเรียนแพทย์ เพราะได้ไปเห็นชีวิตบนดอย และได้ดูหนังเรื่อง Patch Adams ที่พ่อแนะนำ เรื่องของแพทย์ที่รักษาฟรี ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

หลังจากเรียนที่มหิดลก็ได้พบว่ามีหลักสูตรแพทย์เป็นโครงการร่วมระหว่าง มศว.กับมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ที่อังกฤษ เธอไปสมัครสอบได้ จึงไปเรียน 3 ปีที่อังกฤษ 3 ปีที่องครักษ์ มีปัญหาที่มศว. ที่ผมทำหนังสือถึงอธิการบดีเพื่อทักท้วงว่า นักศึกษาเรียนด้วยกัน กลุ่มที่ไปเรียนที่อังกฤษกลับมา (ซึ่งมีอยู่เพียงไม่ถึง 10 คน) เรียนรวมกับนักศิกษาแพทย์อื่นๆ อาจารย์เดียวกันหมด พูดภาษาไทยหมด ทุกอย่างเหมือนกันหมด กลุ่มที่เรียนจากอังกฤษต้องจ่ายค่าเทอม 150,000 บาท คนอื่นจ่าย 50,000 บาท ผมบอกว่าไม่ยุติธรรม และได้ยินว่า จะขึ้นเป็น 300,000 อีกด้วย ถ้าขึ้นจริงผมฟ้องศาลปกครองแน่

ผมได้พยายามเชิญพ่อแม่ของเพื่อนๆ ของลูกสาวมาพบกันเพื่อหารือเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ทำอะไร เพราะกลัวมีผลกระทบต่อการเรียนของลูก กลัวอาจารย์กลัวมหาวิทยาลัยแกล้ง ทำให้ลูกเรียนไม่จบว่างั้นเถอะ สังคมไทยก็เป็นแบบนี้นี่เอง

อธิการบดีตอบจดหมายของผม แต่ก็ไม่ได้ตอบคำถามให้ชัดเจน บอกแต่ว่าเป็นโครงการพิเศษ เลยต้องจ่ายแบบพิเศษ จ่ายไปหลายล้านแล้วยังต้องมาจ่ายค่าเทอมพิเศษอีก ในเมื่อเรียนทุกอย่างเหมือนกันหมด คิดพิเศษได้ดีจริงๆ

อยากบอกว่า การศึกษาไทยมีปัญหาทั้งวิธีคิดและวิธีการ ทั้งระบบโครงสร้างและวิธีปฏิบัติ ปัญหาจึงซับซ้อนยิ่งนัก คนที่จะแก้ไขได้ถึงต้องเป็น “รัฐบุรุษ” ที่พร้อมจะปฏิรูปให้ถึงแก่นจริงๆ

ลูกชายของผมไปเรียนที่เยอรมัน เพียงปีเดียว ครูบอกผมว่า เขาได้ที่หนึ่งในวิชาคณิตศาสตร์ อธิบายด้วยว่า ไม่แปลก เพราะคนเล่นไวโอลินเก่งใช้สมองด้านเดียวกับการคิดคณิตศาสตร์ ไอน์สไตน์ก็เล่นไวโอลินได้ดี ผมเคยดูการบ้านลูก เห็นแล้วจึงได้เข้าใจว่า ทำไมลูกเรียนคณิตศาสตร์ได้ดี เพราะเรียนสนุกนั่นเอง บวก ลบ คูณ หาร แล้วออกมาเป็นช้าง เป็นต้นไม้ เหมือนเล่นเกม คือ play + learn = เพลิน นั่นเอง

วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้คิดเป็น มีเหตุมีผล เป็นวิชาที่ลูกทุกข์มากที่สุดตอนเรียนที่เมืองไทย เป็นวิชาที่เขามีความสุขมากที่สุดตอนเรียนที่เยอรมัน

ลูกสาวเรียนที่อังกฤษก็เรียนได้ดี เรียนดนตรีและสอบได้เกรด 8 ของ Royal Music Academy ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับนักดนตรีสมัครเล่น เธอไม่ได้ต้องการเป็นนักดนตรี เล่นด้วยความสนุกเท่านั้น วันนี้กำลังเรียนแพทย์เฉพาะทางที่ King’s College ลอนดอน

ผมเขียนเรื่องนี้ เล่ายาวๆ เพราะเบื่อที่จะวิพากษ์การศึกษาไทยที่เขียนมานาน วันนี้ผมลงมือทำเอง ทำ “มหาวิทยาลัยชีวิต” สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน อุดมศึกษาทางเลือก เรียนแล้ว “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตนได้” “เรียนแล้วช่วยตนเองได้ ช่วยคนอื่นได้” “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง”

นักศึกษาของผมเป็นผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ย 41 ปี อายุตั้งแต่ 20 ถึง 80 กว่า ผมอยากให้พวกเขามาเรียนแล้วชีวิตดีขึ้น แก้ปัญหาตนเองได้ หนี้สินลดลง สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น มาเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาศักยภาพมาพัฒนา เอาปัญหามาแก้ ทั้งของตนเอง และของชุมชน อยู่บ้านตนเองโดยไม่ต้องไปหางานทำที่ไหนก็อยู่ได้ เป็นการศึกษาเพื่อท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อทิ้งถิ่น

ตอนแรกๆ ผมก็พัฒนาหลักสูตร “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” โดยการระดมสมองจากผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ ที่แก้ปัญหาตนเองได้ด้วยปัญญาและความกล้าหาญ แล้วทำเป็นหลักสูตร นำไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่งตั้งแต่ปี 2548 แต่มีปัญหา เพราะความคิดไม่เหมือนกัน ของเขาเป็นการศึกษากระแสหลัก เรียนหนังสือ ท่องหนีงสือไปสอบ ของเราเรียนเรื่องชีวิตตนเอง คนละเรื่องเลย จนต้องลงมือตั้งสถาบันเอง

ทำแล้วก็มีปัญหากับ สกอ. เพราะเขามีร้องเท้าเบอร์เดียวให้ทุกคนใส่ เท้าผมใส่ไม่ได้เพราะใหญ่เกินไป เขาใช้เวลา 3 ปีถึงอนุมัต ให้เปิดแล้วก็มีปัญหาเรื่อยมา เพราะผมไม่สามารถตัดเท้าให้เข้ากับเกือกได้ วันนี้จึงร่วมกันเสนอกฎหมาย “พรบ.อุดมศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” โดยหวังว่า พรบ.นี้จะช่วยให้ใครๆ ที่อยากทำการศึกษาทางเลือกมีที่ยืนในสังคม และทำประโยชน์ให้สังคมได้ ไม่ใช่จับไปไว้ในตะกร้าเดียวกับเอแบค ม.กรุงเทพ ม.ศรีปทุม หรืออยากให้เป็นเหมือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์

สังคมไทยมีความหลากหลาย สกอ. และกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถตอบสนองความหลากหลายของสังคมยุคใหม่ได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องปฏิรูป แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังถืออำนาจ ยังสับสนบทบาทหน้าที่ จะทำทุกอย่างเองหมด ทั้งกำหนดนโยบาย (policy maker) กำกับดูแล (regulator) และทำเองด้วย (operator) แบบนี้ก็ไม่มีวันปฏิรูปได้ เพราะจะเอาแต่ออกกฎระเบียบให้ตนเอง เพิ่มอำนาจให้ตนเอง อำนวยความสะดวกให้ตนทำงานได้ แสดงอำนาจได้ ควบคุมได้

ประเทศอื่นๆ เขาเลิกกฎหมาย เลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค บ้านเรากลับทำตรงกันข้าม นอกจากไม่เลิกแล้วยังเพิ่มทุกวัน มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 200 ฉบับ จนวันนี้มีกฎหมายทุกระดับกว่า 100,000 ฉบับ

พรบ.อุดมศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม จะเปิดโอกาสให้องค์กร มูลนิธิ สถาบัน หน่วยงาน ที่ต้องการทำการศึกษาเพื่อสาธารณประโยชน์สามารถทำได้ เหมือนกับที่เรากำลังจะมี พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE Social Enterprises) ลองคิดว่า ถ้ามูลนิธิปอเต๊กตึ้งอยากทำมหาวิทยาลัย สันติอโศก หรือมูลนิธิองค์กรต่างๆ รวมทั้ง อบจ.อยากทำอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น เขาจะทำได้ดีถ้ามี พรบ.นี้

ปัญหาสังคมบ้านเราเป็นปัญหา “อำนาจ” ที่รัฐ “ผูกขาด” ไม่ว่าการศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ ถ้าหากไม่ปฏิรูปการกระจายอำนาจ ยากที่บ้านเมืองจะพัฒนาให้พ้นกับดักไปได้ เอกชนทำอาชีวะศึกษาได้ดีก็ไปกดไปดันจนหดหายไปเกือบหมด รัฐทำเองก็ทำได้ไม่ดี อุตสาหกรรมและงานบริการของไทยจึงขาดแรงงานที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ไม่มีแรงงาน แต่คนที่เรียนจบออกมาทำงานไม่เป็น ไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมเพราะการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่เราก็ลงทุนการศึกษามากมายกว่าหลายประเทศ ถึงเกือบหนึ่งในสี่ของงบประมาณแผ่นดิน (ประมาณห้าแสนล้านบาท) แต่ไปจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์เกือบหมด ไม่มีเงินไปพัฒนา ไม่มีช่องให้คิดนวัตกรรม ถ้าหากกระจายอำนาจ คนที่อยู่ใกล้ชุมชนท้องถิ่นย่อมจะมีอิสระมากกว่าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ และตอบโจทย์ของท้องถิ่นของตนเอง

สังคมไทยรวมอำนาจ รวมศูนย์ คุณบรรยงค์ พงษ์พานิช บอกว่า “โลกได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีรัฐแสนดีแสนเก่ง ที่ทำเองได้หมด เขาเลิกวางแผนจากส่วนกลางและรวมศูนย์อำนาจกันแล้ว แม้แต่คอมมิวนิสต์ยังเลิกเลย” แต่เมืองไทยไม่เลิก และยังเชื่อว่าจะ “ทำได้และเอาอยู่”

การศึกษาในระดับประถม มัธยมก็เหมือนกัน วันนี้มีการปฏิรูป แต่เท่าที่ประกาศออกมากลายเป็นการกระชับอำนาจมากขึ้นไปอีก หัวใจของการปฏิรูปที่ให้กระจายอำนาจไม่มีจริง
หลายปีมาแล้วและหลายครั้งมีความพยายามกระจายอำนาจ แต่เพราะทำแบบหลอกๆ จึงไม่เกิดผล อย่างเช่นการให้โรงเรียนต่างๆ ในเขตการศึกษาพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเอง ปรากฎว่า ไม่สำเร็จ ที่สุดกระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้อีกตามเคย เพราะอำนาจยังรวมศูนย์ งบประมาณยังรวมศูนย์ เกิดการปฏิรูปไม่ได้ อะไรๆ จึงเกิดได้ถ้า “มีคำสั่งและมีงบประมาณ” เท่านั้น ไม่สั่งก็ไม่ทำ ไม่มีงบก็ไม่ทำ มีงบก็ทำ งบหมดก็เลิก ตัวอย่างเช่นโครงการโรงเรียนเพื่อชุมชนที่กู้เงินธนาคารโลกมาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ทำได้ดีไม่กี่ปีก็เลิก เพรางบประมาณหมด

ประเทศพัฒนาแล้วรัฐส่วนกลางไม่ได้จัดการศึกษาเอง ให้ท้องถิ่นจัดการ หรือให้เอกชนจัดการ โดยรัฐมีกลไกในการกำกับดูแลและส่งเสริม บ้านเรากำหนดนโยบายเอง กำกับเอง ทำเอง งบประมาณโรงเรียนรัฐจึงสูงและมีสวัสดิการ ขณะที่เอกชนได้รับงบสนับสนุนน้อยและคุมค่าเทอมอีก จึงมีแต่เตี้ยลงๆ และอาจจะหดหายตายไปเหมือนอาชีวะเอกชนดีๆ ทั้งหลาย

ประเทศพัฒนา เขาไม่มีความเหลื่อมล้ำแบบนี้ เขาอุดหนุนผู้เรียน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนก็ได้รับการสนับสนุนเหมือนกัน เพราะรัฐให้การสนับสนุน “ผู้เรียน” ไม่ใช่ “ผู้ประกอบการ”
ปัญหาการศึกษาบ้านเรา ความคิดดี แต่วิธีการผิด คือ วิถีกับเป้าหมายไปกันไม่ได้ Means does not justify the end ซึ่งที่ถูก เป้าหมายดี วิธีการต้องดีด้วย Means justifies the end

เราเอาแต่ออกกฎระเบียบต่างๆ เต็มไปหมด แต่กลไก ระบบ และกระบวนการไม่ดีพอ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงมีปัญหา สอบโอเน็ตตกกันทั้งประเทศ เป็นไปได้อย่างไร แต่พอไปประเมินโรงเรียนกลับผ่าน การบริหารดี เพราะไปตั้งคำถามอะไรที่ตอบให้ดีได้หมด ถ้าดีจริงแล้วทำไมผลลัพธ์ถึงได้ที่โหล่เกือบทุกครั้งที่ประเมินแข่งกับประเทศต่างๆ โรงเรียนก็ดี มหาวิทยาลัยก็ดี รู้ว่าเขาอยากประเมิน “กระดาษ” ก็ตั้งคณะทำงาน “กระดาษ” ขึ้นมาจัดให้เต็มที่ การประเมินก็ผ่าน แต่ก็ไม่เคยไปดูผลสัมฤทธิ์จริงๆ

อย่าง สกอ. มีเจ้าหน้าที่กี่สิบคนเอง ต้องตรวจดูหลักสูตรเป็นหมื่นของมหาวิทยาลัย 170 กว่าแห่งของไทย แล้วตัดสินว่า “รับทราบ” ซึ่งก็ทำเหมือนกับว่า “รับรอง” เพราะถ้าไม่รับทราบจะเปิดสอนก่อนไม่ได้ จะไม่ให้เรียกว่าสับสนในเรื่องอำนาจได้อย่างไร

เจ้าหน้าที่ สกอ.บางคนตั้องดูถึง 800 หลักสูตร เป็นไปได้อย่างไร คงทำได้แต่ดูตัวหนังสือ ไม่เคยไปดูว่าในความเป็นจริงเขาทำกันอย่างไร ตรวจสอบคุณสมบัติอาจารย์ว่าจบปริญญาอะไรมาจึงจะสอนวิชานั้นๆ ได้ ถ้าไม่ตรงก็รับไม่ได้ ให้ไปเปลี่ยน

ผมเรียนจบปริญญาตรี โท เอก ทางปรัชญาจากมหาวิทยาลัยที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และเมืองมิวนิกประเทศเยอรมนี เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ และทำงานพัฒนามาตั้งแต่ปี 2521 เคยเป็นที่ปรึกษางานพัฒนาให้รัฐและเอกชนในหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา สอนปริญญาเอกและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ท่านทราบไหมว่า ผมไม่มีคุณสมบัติเป็นอาจารย์ในสาขา “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ในสถาบันของผมเอง

ผมบรรยายพิเศษเรื่องการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนที่สถาบันพระปกเกล้า ที่ จปร. ที่ วปอ. ที่ บยส. และที่สถาบันพัฒนาบุคลากรของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่คลอง 5 คลอง 1 ของกระทรวงมหาดไทย และหลักสูตรต่างๆ ของกรมการพัฒนาชุมชนมาหลายสิบปี แต่ไม่มีคุณสมบัติพอ เพราะเจ้าหน้าที่เขาดูแต่วุฒิใบปริญญา (เพราะความฉลาดหรือโง่วัดกันที่ใบปริญญา)

อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหลายหมื่นคน จบปริญญาเอก ปริญญาโท เป็นศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการพัฒนาบ้านเมือง แต่ต้องมาอยู่ใต้อำนาจการ “พิสูจน์อักษร” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ มีสภามหาวิทยาลัย มีกลไกต่างๆ ในการกำกับดูแลคุณภาพ การประเมิน ทั้งจากภายใน และจากภายนอกโดยสมาพันธ์สถาบันอุดมศึกษาเอง

บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตนเองในการเลี้ยงลูก ให้โอกาสการศึกษาแก่ลูก และการทำงานการศึกษาและการพัฒนาประเทศ หวังให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมได้ความคิดว่า ถึงเวลาที่เรา ประชาสังคม จะต้องระดมพลังกันปฏิรูปการศึกษา คืนอำนาจการศึกษาให้ประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้ลูกหลานตนเอง ให้ชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ปล่อยให้ไปรวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง

ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยค่านิยมอำนาจ ค่านิยมรัฐอุปถัมภ์ จนต้องพึ่งพารัฐหมด รอแต่อัศวินขี่ม้าขาวมาโปรด มาแก้ปัญหาให้ การศึกษาเราต้องแก้เอง และจะแก้ได้ถ้าเราลุกขึ้นมาแสดงประชามติว่า เราต้องการการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดที่ทำกันไว้มากมายแล้ว แต่ไม่มีการนำมาใช้จริง

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ดุมสมบูรณ์ที่สุดในโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แล้วทำไมประชาชนบ้านเราถึงยังลำบากยากแค้น ผมว่าอยู่ที่คุณภาพการศึกษา อย่างที่ปราชญ์เขาบอกว่า “ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน”

ทราบไหมว่า ประเทศที่เขามีความรู้อย่างอิสราแอล มีการศึกษาดี แม้ทะเลทรายก็เปลี่ยนเป็นป่า เป็นนา เป็นสวน จ้างคนไทยไปทำงานให้ ผลิตอาหารส่งออกไปเลี้ยงคนในโลกได้ แต่ประเทศที่ไม่มีความรู้ การศึกษาไม่ดี แม้มีป่ามากมายก็เปลี่ยนให้เป็นทะเลทรายได้

ประเทศสารขันณ์เป็นเช่นนี้ ผลิตอาหาร ส่งออก ประกาศเป็นครัวของโลก แต่เด็กนับล้านคนยังเป็นโรคขาดอาหาร ผู้คนยังลำบากยากแค้น คนจนก็จนมากขึ้น คนรวยก็รวยมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำรุนแรง คนมีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองครอบงำสังคม ครอบงำทรัพยากร และครอบงำสติปัญญาของผู้คนจนเป็นง่อยไปหมด สังคมอุปถัมภ์เจริญพัฒนา ประชาธิปไตยต่ำเตี้ยลง

อำนาจรัฐคงไม่เปลี่ยน ไม่มีใครมีอำนาจแล้วจะยอมคืนอำนาจง่ายๆ นอกจากจะถูกยื้อแย่ง วันนี้เราประชาสังคมคงต้องทำเอง สร้างสังคมที่อุดมด้วยปัญญาและความกล้าหาญทางจริยธรรม บ้านเมืองนี้จึงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้จริง

โชคดีที่วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรามีกลไกในการตรวจสอบความโปร่งใสเป็นตาสับปะรดทั่วแผ่นดิน ทั้งกล้องมือถือ และสารพัดกล้อง มีเครื่องมือสือสารความเร็วเท่าแสง และไปถึงล้านๆ คนได้ในเวลาไม่กี่อึดใจ ส่งต่อข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ เป็นการ “ไปมาหาสู่” ของคนในโลกยุคใหม่ ซึ่งได้ก้าวไปไกลกว่าสังคมข้อมูลข่าวสารความรู้ เราได้มาถึงสังคมแห่งการสร้างสรร (creativity society) ทำให้เกิดสิ่งใหม่ เกิดนวัตกรรม ทำให้ชีวิตสังคมเปลี่ยน เกิด “พลังสังคมอย่างใหม่”

ไม่เช่นนั้น เรื่องราวอย่าง “แพรวา” ก็ดี “ปอร์เช่ชนตำรวจตาย” ก็ดี “รถเบนซ์ชนรถฟอร์ด” ก็ดี น่าจะพลิกผันเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีคนตาม ไม่มีแรงกดดันจาก “สังคม” และเรื่องราวอย่าง "พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา" คงไม่ “ลุกลามแบบติดเชื้อ” (viral) เช่นเดียวกับ “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” และเรื่องราวอื่นๆ มากมายในสังคมวันนี้ที่เป็นโลกออนไลน์ไร้พรมแดน
วันนี้ “สังคม” มีพลังเหมือนป๊อบอายได้กินผักโขม แต่จะมีพลังพอที่จะปราบยักษ์กล้ามใหญ่อย่าง บลูตัสหรือบลูโต แม่มดและตัวร้ายต่างๆ ได้หรือไม่ ต้องคอยดู ผนึกเครือข่าย ผนึกพลังกันให้หนัก คงจะเจอ “จุดคานงัด” ดีๆ สักวัน เพื่อจะงัดแงะเปลี่ยนสังคมที่กอดอำนาจไว้แน่นอย่างวันนี้

("หนังสือ "สอนลูกให้คิดเป็น" ถ้าสั่งซื้อที่ซีเอ็ดไม่ได้ เพราะอาจเลิกขายแล้ว ให้สั่งที่เวปของผม www.phongphit.com ส่วน "มหาวิทยาลัยชีวิต" อ่านได้ใน www.life.ac.th )
กำลังโหลดความคิดเห็น