สะเก็ดไฟ
เอากันให้สุดโต่งไปเลย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โอเค เซย์เยส กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ซือแป๋ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่มีเสียงคัดค้านยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ปล่อยให้ฝ่าด่านไปถึงชั้นการทำประชามติได้ ต่อจากนี้ใครอยากบ่น อยากแขวะ อะไรก็เป็นได้แค่ลมปาก เพราะมันไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้อีกแล้ว ต้องสุดแท้แต่เวรแต่กรรม ผนวกกับการตัดสินใจของประชาชนว่า จะให้ “คว่ำ” หรือ “หงาย” เชื่อน้ำคำฝั่งไหนมากกว่ากัน
ผลของการทำประชามติคราวนี้ จะเป็นการชี้ชะตาประเทศว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ผลระหว่างผ่านความเห็นชอบ กับไม่ผ่านความเห็นชอบ ล้วนมีความสำคัญต่อการเมืองไทยต่อจากนี้อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะหากเกิดตุปัดตุเป๋ผ่านไปได้ขึ้นมา ก็พอจะเดาหน้าตาการเมืองไทยในปี 2560 ว่า จะละม้ายคล้ายคลึงกับใครที่มีอำนาจในปัจจุบัน ก็ในเมื่อบทเฉพาะกาล เขียนเอาไว้เสียโจ๋งครึ่มซะอย่างนั้น
แน่ ๆ 250 ส.ว. ลากตั้ง การันตีไม่มีคนจากฝ่ายการเมืองแน่ เพราะ คสช. เป็นคนตั้งมาเองกับมือ ไม่มีรายการเห็นขี้ดีกว่าไส้แน่ เหล่าท็อปบูต นักวิชาการ อดีตข้าราชการ ในสายคอนเนกชั่น พาเหรดตบเท้าสวมสูทสภาสูงกันเป็นกองร้อย ที่คุ้น ๆ หน้ากันอยู่ใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทุกวันนี้ มากันเป็นพรวน ใครเป็นเด็กดีไม่มีแตกแถว มีงานทำกันไปอีกยาว ๆ แล้วยิ่งให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีอายุขัยไปอีกแค่ 120 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ หดสั้นจากของเดิมไปไม่น้อย เหมือนกับว่า มีเวลาให้ทุกคนเคลียร์ตัวให้พร้อม สำหรับเก้าอี้วุฒิสภานั่นต่างหาก รายที่ออกมาบ่นก็เพียงเบา ๆ หวังเป็น ส.ว. ในภายภาคหน้า อ้าปากก็เห็นไปถึงไส้ติ่ง
มันไม่ผิดไปจากนี้แน่ เพราะทรัพยากรของ คสช. เองวันนี้ เอาแบบที่ไว้วางใจได้มันมีแค่จำกัด ในเมื่อต้องการให้ ส.ว. เข้ามาทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องเลือกใช้คนที่ฝากผีฝากไข้ได้ จะไปเอาภาพลักษณ์ดี มีสกุลรุนชาติ คุมไม่อยู่ ตั้งมา 250 คน ก็ไร้ความหมาย
บทบาท 6 ผบ.เหล่าทัพ ที่เข้ามาโดยตำแหน่ง แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่บังเอิญกุมงานด้านความมั่นคงของประเทศ กระแอมกระไอ ร้องทักในที่ประชุมที รัฐบาลก็ผวา ในทางปฏิบัติถามว่าใครจะกล้าขัดใจท็อปบูต ต่างก็กลัวเสถียรภาพสั่นคลอนกันทั้งนั้น เอาเป็นว่าจำนวนน้อยแต่ใหญ่พอเป็นจะเป็น “หัวโจก” ศูนย์รวมให้กับวุฒิสภาสายชน
ใหญ่ไม่ใหญ่ กองทัพก็คุมอยู่ แถมกลไกในสภาก็มีมโหฬาร ยังนึกสงสัยเหมือนกัน แล้วรัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไร ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลขึ้นมาคงไม่เป็นอันทำงานทำการ เพราะต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง พวกพี่ ๆ สายรถถังจะเออออห่อหมกด้วยหรือเปล่า ดีไม่ดีจะโดนเบรกกันทุกเรื่อง เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ค้านมันทุกเรื่องไป
กลับกัน ถ้าเกิดพรรคประชาธิปัตย์รวมหัวกับพรรคขนาดกลางพรรคขนาดเล็ก จัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายกฯคนนอก ตามออเดอร์ คสช. ได้ อย่างนี้น่ากลัว น่าสะพรึงกว่าสมัยพรรคไทยรักไทย ที่มีรัฐบาลพรรคเดียวที่รับประทานเรียบเสียอีก เพราะทั้งรัฐบาล ทั้งสภาผู้แทนราษฎร ทั้งวุฒิสภา ทั้งกองทัพ เนื้อเดียวกันหมด ถ้าจะกินรวบเบ็ดเสร็จ ขอถามเลยว่า ใครจะเข้ามาคานอำนาจ ลำพังพรรคเพื่อไทยแหกปากตะโกนปาว ๆ ในสภา ทำอะไรได้ เสียงแหบก็ไม่มีใครแยแส
สุดท้ายมันจะกลับเข้าสู่วังวนขัดแย้ง ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพราะอดรนทนไม่ได้ มันก็ไม่พ้นวงจรอุบาทว์เดิม ๆ ที่เสียเลือดเสียเนื้อ แล้วจบด้วยรัฐประหาร !
ขณะที่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่ กรธ. ยอมปรับแก้ให้ตามเสียงเรียกร้องหนาหู เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ลดหลั่นอะไรเลย แต่ยังกุมสภาพทำหน้าที่ผ่าทางตันประเทศ คว่ำรัฐบาลได้เหมือนเดิม ยิ่งถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เชื่อขนมกินได้ บันไดทางเข้าศาลรัฐธรรมนูญหัวกระไดไม่แห้ง ชนิดแม่บ้านไม่ต้องถู เดี๋ยวคนนี้ยื่น เดี๋ยวคนนั้นยื่น เรื่องรกเต็มศาลแน่ ขัดแย้งกันไม่หยุด
เรื่องที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง วันนี้ก็ยังไม่ได้รับความสนิทใจจากประชาชน ยังถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของประเทศในช่วงที่ผ่านมา แล้ววันนี้ไปเพิ่มอิทธิฤทธิ์ให้ในขณะที่โครงสร้างยังเหมือนเดิมไม่มีผิดเพี้ยน ถามว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความขัดแย้งมันจะลดลงได้จริงหรือ ?
วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญมันอาจจะตอบโจทย์ คสช. เพราะได้กลไกควบคุมในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่ในส่วนของประชาชน วันนี้ได้ถามสักคำหรือไม่ว่า ตอบโจทย์แล้วหรือยัง ประชาชนจะได้อะไรจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บ้าง แต่ละเรื่องที่บรรจงจัดใส่กันมาเพื่อตอบสนองความต้องการของ คสช. แทบทั้งสิ้น
นี่ยังโชคดีว่า กรธ.ยังกล้าขัดใจอยู่บ้าง ไม่ทำตามข้อเสนอทั้งหมด ไม่เช่นนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงดูไม่จืด เพราะถ้าจับอารมณ์สีหน้าเย็นชา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ไม่ใช่ว่าปลื้มใจอะไรนักหนา เนื่องจากสิ่งที่ต้องการมันไม่ได้เต็มร้อย เพียงแต่เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ยอมกำขี้ยังดีกว่ากำตด เอาแบบสุดโต่งอาจจะไปไม่รอด
“บิ๊กตู่” ในฐานะคนรับผิดชอบสูงสุด ย่อมอยากลงจากหลังเสือแบบอุ่นใจ สบายใจได้ว่าจะไม่มีใครตามมาเช็กบิล เพราะตอนอยู่สร้างโจทก์เอาไว้เยอะ ใช้กระบอง มาตรา 44 ไล่บี้ไม่เฉพาะนักการเมือง แต่ทุกวงการโดนกันสนั่นหวั่นไหว โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล โดนผลกระทบกันทั่วหน้าจากมาตรการกวาดล้าง สารพัดวงการจ้องจะเอาคืนอยู่มะรอมมะร่อ
แต่เมื่อสถานการณ์มันมาถึงตรงนี้ จะเอาให้ได้ดังใจทุกอย่าง มันเป็นเรื่องยาก ตัวเองก็เริ่มทนฝ่ากระแสไม่ไหว ยิ่งอยู่นานยิ่งลำบาก โจทย์ยาก ๆ ถาโถมมาให้แก้ไขไม่เว้นแต่ละวัน การยอมผ่อนสักนิดเพื่อให้มีโอกาสลุ้นผ่าน ก็เลยพอกล้อมแกล้มไปได้ เอาแค่พอรับประกันความปลอดภัยตัวเองได้ระดับหนึ่งก็ยังดี วันนี้ไม่ได้เต็มร้อย ก็ยังได้สักแปดสิบ ถือว่าเกินครึ่งความต้องการ ที่เหลือไปลุ้นเอาว่าประชาชนจะเซย์เยส หรือเซย์โน
แล้วยังเป็นการวัดใจนักการเมืองทั้งหลายไปในตัว แม้วันนี้จะออกแถลงการณ์คว่ำร่างกันคึกคัก แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าจะโหมกันเต็มที่ อย่างน้อย ๆ ก็มี ส.ส. หลายคนที่ไม่ใช่แกนนำประเภทเงินถุงเงินถังต้องคิด ระหว่างสิ่งที่มองไม่เห็นเลยว่า ถ้าโหวตคว่ำไปแล้วจะเป็นอย่างไร จะเจออะไรที่เลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
หรือจะเลือกรับไปก่อน ขี้ริ้วขี้เหร่แต่ก็ยังได้เลือกตั้ง ดีกว่าถูกมัดมือชก !