xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ร่วมหารือกับบุคลากรไทยที่ทำงานสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” จับเข่าคุยบุคลากรไทยที่ทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ระบุไทยเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ คุมเข้มเบิกจ่ายงบประมาณ ดึงเอกชนรายใหญ่ลงทุนพัฒนาประเทศ ด้านกองทุนฯ เห็นพ้องมาตรการดูแลเศรษฐกิจ เชื่อยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ภาคการบริโภคไม่สามารถฟื้นตัวได้

วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 07.30 น. ณ โรงแรม Ritz CarltonPentagon City กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับบุคลากรไทยที่ทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ในโอกาสร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 (Nuclear Security Summit) ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 โดยบุคลากรไทยที่ทำงานในสถาบันการเงินการคลังระหว่างประเทศทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) อ้างอิงการลงพื้นที่เพื่อจัดทำรายงานเศรษฐกิจ พบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าประมาณการ เป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุน และการเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ในส่วนของไทยได้ให้ความสำคัญในการติดตามเฝ้าระวังปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจเพื่อเตรียมมาตรการรองรับเรื่องต่างๆ ในอนาคตเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม แม้ว่ากองทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับสูง รัฐบาลเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ ปรับโครงสร้างการนำเข้า-ส่งออก รักษาอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้หน่วยงานระหว่างประเทศจะเป็นผู้กำหนดกติกา แต่การทำงานเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เพื่อประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน อาทิ การรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ จะต้องมีการอธิบายสาเหตุหรือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประมาณเพื่อการดำเนินงาน (Function) และงบประมาณตามภารกิจ (Agenda) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงแนวทาง “ประชารัฐ” ว่าเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่จำนวน 13 กลุ่ม เพื่อดึงภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล มาช่วยกันลงทุนพัฒนาประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยต้องปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหากพบเห็นโครงการหรือกลุ่มใดทำการทุจริตจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายต่างๆ อาทิ การปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นการปรับโครงสร้างการศึกษาทั้งหมด รวมทั้งการพิจารณาเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้คนจบการศึกษาด้านศาสนาจากต่างประเทศสามารถเทียบวุฒิและใช้ในการทำงานได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การเรียกคืนพื้นป่า มีโครงการต่างๆ ที่จะทำให้คนและป่า สามารถอยู่ร่วมกัน สำหรับปัญหาความต้องการแรงงาน จะต้องมีการจัดหาแรงงานที่เหมาะสมให้เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้ ไทยยังเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทุกประเทศต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี และความร่วมมือระดับกลุ่มประเทศทั้งกลุ่ม G77 และความร่วมมือเอเชีย ACD เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ และเพิ่มอำนาจต่อรองระหว่างประเทศด้วย

โอกาสนี้ ผู้แทนบุคลากรไทยที่ทำงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงมุมมองของกองทุนฯ ว่า เศรษฐกิจที่มีการเติบโตที่ดีจะมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงให้กับโลก ดังนั้น บทบาทของกองทุนฯ จะทำหน้าที่เป็นทั้งนักดับเพลิง คือเร่งกำจัดวิกฤตทางการเงิน เมื่อประเทศสมาชิกเกิดวิกฤต เหมือนการดับไฟ กองทุนฯ จะทำหน้าที่ประเมิณสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละประเทศอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการพบหมอเพื่อตรวจสุขภาพ และบทบาทสุดท้าย คือ การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ (Capacity Buiding) และการฝึกอบรม การดำเนินการต่างๆ เพื่อกำจัดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤต เพราะการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมีต้นทุนมหาศาล เช่น ประเทศไทย ที่เคยประสบวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพง ส่งผลให้ไทยมีการพัฒนาในการกำกับสถาบันการเงินเข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ก็มีการประเมินบทบาทของตนเองเป็นระยะและยอมรับว่าไม่สามารถใช้แนวทางชุดเดียวในการแก้ทุกปัญหา และการให้ยาแรงเกินไปในวิกฤตไทยเมื่อปี 2540

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าประมาณการ โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ มองถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาไทยมีการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างดี สามารถผลักดันการเบิกจ่ายภาครัฐที่ทำได้ดี ส่งผลให้มีการลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ มีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.การเงินการคลัง เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการคลัง และขจัดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า สำหรับความเสี่ยงภายในประเทศ คือ หนี้ครัวเรือน ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคการบริโภคไม่สามารถฟื้นตัวได้ ปัจจัยต่างประเทศ ที่เกิดจากการปรับตัวของจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยลดพึ่งพาการส่งออก อาจสร้างความผันผวนทางการเงินส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ล้วนแต่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย

คณะทำงานของกองทุนฯ เห็นพ้องกับมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นที่มีความจำเป็นที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการที่รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในหมู่นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่มีต่อเศรษฐกิจ และการลงทุน อย่างไรก็ตาม ไทยเร่งพัฒนาในทุกมิติเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในขณะที่ประเทศ CLMV สามารถพัฒนาตนเอง ปัญหาต่างๆ จะต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การย้ายถิ่นฐาน การปฏิรูประบบบำนาญ การปรับปรุงมาตรการทางภาษี รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้แทนบุคลากรไทยที่ทำงานกับธนาคารโลกได้กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้เปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้ ขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสุขภาพทางการเงินการคลังของประเทศ โดยมีข้อสังเกตว่า ไทยยังมีข้อจำกัด 5 ด้านสำคัญ คือ ประสิทธิผล (productivity) การศึกษา ประสิทธิภาพระบบราชการ ปัญหาผู้สูงอายุและแรงงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ปัจจัยสำคัญคือ ไทยจะเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินธุรกิจของต่างประเทศในไทย ซึ่งทุกมิติดังกล่าวนี้ต่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศมีเสถียรภาพ คนไทยมีศักยภาพ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มั่นใจว่าประเทศยังสามารถเดินหน้าต่อไปหากคนไทยทุกคนช่วยกัน รัฐบาลส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกของคนไทยให้มีคุณธรรม เพราะการทำความดีคือการสร้างประโยชน์ต่อตนและส่วนร่วม และขอให้ทุกคนร่วมมือกันทำในสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติ





กำลังโหลดความคิดเห็น