xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ดัน กม.ฮั้วประโยชน์ ลดครอบคลุม 3 ชั่วโคตร ชี้ปีนี้พิจารณาเร็ว-โกงติดคุกแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ปฏิรูปป้องกันทุจริต เผยเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง-จนท.รัฐเอื้อประโยชน์ญาติ ลดครอบคลุมเหลือ 3 ชั่วโคตร ชงต่อ สปท. แจงตั้งศาลอาญาแผนกคดีทุจริตลดใช้เวลาพิจารณาเหลือ 1 จาก 7 ปี เชื่อกระบวนการต่างๆ ทำเร็ว ปีนี้มีคนโกงติดคุกแน่

วันนี้ (17 มี.ค.) นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.เห็นชอบกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมีสาระสำคัญคือการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าทีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เครือญาติ

นายวรวิทย์กล่าวว่า เดิมที่มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2551 ซึ่งกำหนดให้คำว่าเครือญาติมีความหมายครอบคลุมไปถึงบุพการีหมายถึงพ่อแม่ บุตร ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลุง ป้า น้า อา พ่อตา แม่ยาย ลูก หลาน เหลน แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากองค์ประชุมของ สนช.ไม่ครบ ดังนั้น กมธ.จึงเห็นว่าควรมีการนำเสนอกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง แต่กฎหมายที่ กมธ.เสนอจะครอบคลุมเฉพาะ 3 ชั่วโคตร ประกอบด้วย บุพการีหมายถึงพ่อแม่ ลูก และคู่สมรสของลูก หลังจากมีเสียงท้วงติงว่าการบังคับใช้ถึง 7 ชั่วโคตรมีความเข้มงวด และเกิดความยุ่งยากเกินความจำเป็น

ทั้งนี้ หากมีผู้กระทำความผิดจะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนและจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาตรา 100 ทั้งนี้ ทาง กมธ.จะเร่งเสนอกฎหมายฉบับนี้ให้แก่ สปท.เพื่อให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ เพื่อส่งต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ นายวรวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศาลอาญาแผนกคดีทุจริตซึ่งมีคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาประมาณ 60 คดี โดยสามารถพิจารณาคดีได้ถึง 1 คดีต่อหนึ่งปี ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีต่อการพิจารณาหนึ่งคดี ดังนั้น ถือว่าเป็นความก้าวหน้าในการทำงานของศาล อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าหากต่อไปนี้การพิจารณาคดีเกิดความล่าช้า จะอยู่ที่การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และอัยการ โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้ากระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ สามารถทำได้รวดเร็ว คาดว่าปีนี้จะได้เห็นคนทุจริตต้องติดคุกอย่างแน่นอน






กำลังโหลดความคิดเห็น