xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ยอมดึง รธน.50 ใส่ร่างคุ้มครองสิทธิ แจงกรอบยื่นศาล รธน.ชี้ ม.7 เฉพาะคนใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กรธ.แจง ให้เกิดความสบายใจจึงนำเอารัฐธรรมนูญปี 50 เกี่ยวคุ้มครองสิทธิฯ ใส่ในร่าง ยังไม่พิจารณาคำแนะ ครม. เผยกรอบยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ ม.7 เฉพาะคนใน ช่วยเซฟตัวเองหากไม่แน่ใจ



วันนี้ (19 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงภายผลการพิจารณาทบทวนเนื้อหารายมาตราว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ กรธ.จะเห็นด้วยในหลักการและกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วนแล้ว แต่เพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการเกิดความสบายใจ กรธ.จะนำเอาเนื้อหาตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ครอบคลุมสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้เหมือนฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็นำเอาเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิมาบัญญัติไว้ด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสู้คดีตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป ส่วนข้อเสนอต่อร่างแรกรัฐธรรมนูญของ ครม.ทั้ง 16 ข้อนั้น กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา อำนาจจะพิจารณาปรับแก้ตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กรธ. ยืนยันว่าทุกความเห็นสำคัญเท่ากัน การพิจารณาขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นสำคัญ

นายอุดมกล่าวว่า สำหรับการปรับย้ายข้อความตามมาตรา 7 ที่ใส่ไว้ในมาตรา 207 ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ กลับมาอยู่ที่เดิมนั้น เนื่องจากมองว่า องค์กรอย่างคณะรัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. และองค์กรอิสระ ย่อมต้องมีอำนาจในการตีความข้อขัดแย้งภายในก่อนจึงส่งให้ศาลพิจารณา บุคคลหรือองค์กรอื่นไม่สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 7 ได้ หากบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยขององค์กรนั้นก็ให้ใช้ช่องทางตรวจสอบ ฐานกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น หากเห็นว่าเสียงข้างมากของรัฐสภาประพฤติมิชอบก็ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น การกำหนดเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อช่วยให้หน่วยงานเหล่านั้นเซฟตัวเอง หากไม่แน่ใจก็ส่งให้ศาลตีความก่อนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น