xs
xsm
sm
md
lg

"คณิน"ชี้ร่าง รธน.ฉบับ"มีชัย"จงใจตัดคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าเท่าที่ดูในบททั่วไปซึ่งเป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ก็รู้แล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเดินไปในทิศทางใด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย มีบททั่วไปแค่ 5 มาตรา เมื่อเทียบเทียบปี 2540 และ 2550 มีอยู่ 7 มาตรา จึงหายไป 2 มาตรา คือ มาตรา 7 ที่ให้วินิจฉัยการกระทำใดที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง กรธ. ได้แจงแล้วว่าเอาไปไว้ในหมวดศาล เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งเท่ากับเป็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือระงับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบางมาตราได้ตลอดเวลานั่นเอง โดยอีก 1 มาตรา คือ มาตรา 4 เดิม ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเมื่อตัดข้อความในมาตรานี้ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย จะมีบททั่วไปเหมือนกับปี 2534 ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด และปี 2534 นายมีชัย ก็เป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ทราบว่า จะเป็นความตั้งใจของนายมีชัยหรือไม่ที่ตัดคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกไป
นายคณิน กล่าวอีกว่าว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับกันเป็นสากล เพราะสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนปี 50 ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังบัญญัติคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เอาไว้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ซึ่งเลวร้ายกว่าปี 50 อยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องประชาธิปไตยและอำนาจประชาชน ยังจะตัดคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ออกไปอีก มันจะเป็นอย่างที่บางคนเคยตั้งฉายาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไม่เห็นหัวประชาชน และนอกจากจะตัดคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกไปแล้ว ยังได้เพิ่มข้อความในวรรคสองของมาตรา 3 อีกด้วยว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและความผาสุขของประชาชนโดยรวม เท่ากับว่าทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งเป็นสามอำนาจอธิปไตย ตามวรรคแรกของมาตรา 3 ต้องถูกลดฐานะลงมาเท่ากับองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ และยังต้องถูกกำกับ และควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และตามหลักนิติธรรม ดังนั้น ข้อความในวรรคสองนี้ จึงมีผลเป็นการลบล้างข้อความในวรรคหนึ่งที่ว่าอำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย เพราะในเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลแล้ว เหตุไฉน จะต้องมีองค์กรอื่นใดมากำกับควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล อีกทั้งนี้หากอำนาจอธิปไตยทั้งสามซึ่งดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ในหมวดรัฐสภา หมวดคณะรัฐมนตรี และหมวดศาล อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ แล้ว ก็ยังนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงใช้อำนาจตามมาตรา 3 วรรคแรกไม่ได้ ถ้าหากเกิดข้อสงสัยว่าการดำเนินการทั้งหมดของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมต้องมีการตัดสิน ชี้ขาดอีกทีหนึ่ง ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเหมือนจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าชี้ขาด ถือเป็น ตลกร้าย
อย่างไรก็ตาม บททั่วไปของรัฐธรรมนูญถือเป็นแม่บทใหญ่หรือหัวใจของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 3 ซึ่งมีวรรคเดียวมาแต่ไหนแต่ไร การเพิ่มข้อความ ในวรรคสองนี้เข้าไป เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากการเบียดบังอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และดังนั้นข้อความที่บัญญัติในมาตรา 2 ที่ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่มีความหมาย เพราะร่างแบบนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศ ไปโดยปริยาย จึงอยากถามว่า กรธ.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายมีชัย คิดดีแล้วหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น