xs
xsm
sm
md
lg

พบ “ตำบล” จ่อพับโครงการ 5 ล้าน ยอดกว่า 239 ล้าน-เหตุไม่มีผู้รับงาน ติดอนุญาตที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมการปกครอง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๑๔/ ว๕๓๑๒  ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ปค.วิทยุด่วน! ถึง ปจ.จี้นายอำเภอ เร่งตำบลละ 5 ล้าน หลังพบตัวเลขโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เหตุยังหาตัวผู้รับงานไม่ได้ แม้มีตัวเลขจองเงินในระบบกว่า 10,662 ล้านบาท เผยมีตำบลขอยกเลิกโครงการ วงเงินกว่า 62 ล้านบาท แถมติดปัญหาขออนุญาตใช้ที่ดินจากกระทรวงอื่นๆ จำนวน 177 ล้านบาท เผยยอดเบิกจ่ายจริง 1.5 หมื่นล้าน มท.แจงเหตุล่าช้าติดกำหนดราคากลาง-ตรวจรับงาน ขีดเส้นจองเงินในระบบไว้ก่อน 31 มี.ค.

วันนี้ (16 มี.ค.) มีรายางานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการปกครองได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๑๔/ว๕๓๑๒ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เปิดเผยข้อมูลการเบิกจ่าย/ก่อหนี้ผูกพันโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) มีการเบิกจำนวนเงิน 15,736.85 ล้านบาท มียอดการจองเงินในระบบคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าบ (PO) จำนวน 15,116 ล้านบาทเศษ โครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือ ยังหาตัวผู้รับจ้างไม่ได้ หรือยังไม่ลงระบบได้ครบ ทำให้ไม่สามารถจองเงินในระบบได้ประมาณ 10,662 ล้านบาท โครงการที่ขอยกเลิกประมาณ 62 ล้านบาท และเป็นโครงการที่มีปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้ที่ดินจากกระทรวงอื่นๆ จำนวน 177 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้สามารถบริหารโครงการ และสามารถก่อหนี้ผูกพัน (PO/GSMIS) ได้ในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และป้องกันมิให้เงินตกไป จึงมอบหมายให้ปลัดจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการกำกับตรวจสอบการเบิกจ่ายใช้หนี้ผูกพัน ในกรณีเจ้าหน้าที่หลายคน หลายฝ่ายช่วยกันทำให้ตรวจสอบไม่ให้มีการซ้ำซ้อน

ส่วนกรณีที่มีการยกเลิกโครงการหรือยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ทำการยกเลิกในระบบ ขณะที่สั่งการให้นายอำเภอ วางระบบเอกสารและตรวจรับการจ้างงานว่าแต่ละสัญญาครบกำหนดเมื่อใด และกำชับให้คณะกรรมการตรวจการจ้างและช่างคุมงานออกรายงานผลการตรวจรับงานจ้างโดยเร็ว และให้นายอำเภอทำการตรวจซ้ำ (RE-Check) กรณีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการทั้งจากจังหวัด และสำนักงบประมาณว่ายังมีคงค้างหรือไม่ รวมถึงบันทึกลงเว็บไซต์ตำบลดอตคอมให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยในตอนท้ายหนังสือ ได้สั่งการให้ปลัดจังหวัดที่ได้รับมอบหมายต้องเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเอง

มีรายงานว่าเมื่อต้นสัปดาห์ นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินงานโครงการตามมาตรการ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน มียอดการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการต่างๆ เป็นจำนวนเงิน 15,736.85 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติโครงการจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้ว จำนวน 121,527 โครงการ เป็นเงิน 36,254.78 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 11,946.32 ล้านบาท ซึ่งมีหลายจังหวัดที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดนราธิวาส เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 91.01 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 385 ล้านบาท จังหวัดสกลนคร เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 82.45 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 625 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดติดตามการดำเนินงาน และการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งกำชับให้ทุกจังหวัดกำกับดูแล และตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

ส่วนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้า เช่น การขออนุญาตใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการ ปัญหาเรื่องการกำหนดราคากลาง ปัญหาเรื่องการรับจ้างงานกรณีผู้รับจ้างในระดับอำเภอมีจำนวนจำกัด แต่มีปริมาณงานจ้างเป็นจำนวนมาก ปัญหาความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลทำให้การรับส่งข้อมูลในการดำเนินงานมีความล่าช้า ปัญหาการตรวจรับงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างที่มีเนื้องานคอนกรีต ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ระยะเวลาในการบ่มคอนกรีต อายุ 28 วัน ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้า เนื่องจากผู้ตรวจรับงานรอระยะเวลาการบ่มคอนกรีตตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจในการอนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่เหลือ ทุกจังหวัดจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้ทันตามกำหนดระยะเวลา จึงเกรงว่าระบบอาจจะรองรับไม่ทัน ดังนั้น เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย จึงจำเป็นจะต้องทำการก่อหนี้ผูกพันโดยการจองเงินในระบบ (พีโอ) ไว้ก่อนในทุกๆ โครงการ ภายใน 31 มี.ค.นี้ โดย รมว.มหาดไทยได้มอบเป็นนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในแต่ละพื้นที่ลงไปกำกับติดตาม ตรวจสอบดูแลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น