“ไก่อู” เผยรายงานมะกันชี้ไทยร่วมมือดีต้านลักลอบค้าสัตว์ ผลักดันให้เป็นปัญหาข้ามชาติ แจง รบ.ให้ความสำคัญพิทักษ์ป่า-สัตว์ป่า ตามแนวทางรักษาความมั่นคงทรัพยากรธรรมชาติ เน้นคนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์ควบคู่การรักษา รับเร่งแก้ปัญหาค้างาช้าง ไม่งั้นถูกระงับการค้าพืช-สัตว์ ส่งผลกระทบ ศก.
วันนี้ (11 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานความคืบหน้าการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า ประจำปี 2558 (Wildlife Trafficking Annual Progress Report) เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในรายงานได้กล่าวถึงประเทศไทยว่ามีความร่วมมือที่ดีกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยเป็น 1 ใน 2 ประเทศของเอเชียรวมกับจีนที่มีสำนักงาน U.S. Fish and Wildlife Service (USFWS) ตั้งอยู่
“รายงานยังระบุด้วยว่า ไทยมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งมิติการปราบปราม การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ การห้ามบริโภคและซื้อสัตว์ป่า กระตุ้นให้เกิดกระแสการงดเสิร์ฟหูฉลามในโรงแรมหลายแห่ง รวมถึงไทยยังมีนโยบายที่ไม่สนับสนุนการลักลอบค้าสัตว์ป่า และช่วยผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวบรรจุเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพิทักษ์รักษาป่าและสัตว์ป่า เช่น หยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ จัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ จัดทําแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยตามอนุสัญญา CITES ผลักดันกฎหมายหลัก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ. 2558 ปราบปรามการค้างาช้าง และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ โดยสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“ท่านนายกฯ เน้นให้ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า โดยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ด้วยการใช้ประโยชน์ควบคู่กับรักษาป่า ส่วนการลักลอบค้าสัตว์ป่านั้นจะต้องเริ่มจากการป้องกันไปสู่การปราบปราม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการค้างาช้าง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วน เพราะหากเราไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด อาจถูกระงับการค้าพืชและสัตว์ตามบัญชี CITES ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
ทั้งนี้ รายงานของสหรัฐฯ ฉบับดังกล่าวเป็นฉบับแรกตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อต่อต้านและปราบปรามการค้าสัตว์ป่า โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2556