หัวหน้า ปชป.ไม่มีปัญหาให้อำนาจ 7 ประธานวินิจฉัยทางตันนอกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่หนุนนำเรื่องการเมืองถก หวั่นเกิดความขัดแย้ง ชี้ยังไม่มีใครตอบได้หลังมีคำวินิจฉัยจะบังคับและยอมรับกันหรือไม่ แนะใช้ระบบอุทธรณ์คดีบิ๊กการเมืองแบบเดิม ชี้ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างบทเฉพาะกาลก็ต้องเขียนให้ชัดของเก่าเอายังไง จี้ “มีชัย” อธิบายด้วย ระบุ ส.ว.สรรหาควรมีบทบาทแค่เตือนรัฐบาล บี้ ผบ.ตร.แจงคำสั่งให้รายงานคดีความมั่นคงต่อ ผบก.ทท.กับรองนายกฯ ทำทำไม
วันนี้ (9 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาปรับเนื้อหาในส่วนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ให้หาทางแก้ไขวิกฤตทางตันที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาเป็นให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานองค์กรอิสระเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ต้องวินิจฉัยให้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายโดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่ไม่อยากให้การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบนี้สามารถวินิจฉัยเรื่องการเมืองได้ด้วย เพราะจะทำให้เกิดปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามการเพิ่มองค์ประกอบจากฝ่ายการเมือง เช่น นายกฯ ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา คิดว่าเป็นความพยายามที่จะคลายกังวลในกรณีที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญนำภาระไปอยู่ที่ศาลเพียงอย่างเดียว แต่องค์ประกอบนี้ยังถือเป็นเสียงข้างน้อย หากการวินิจฉัยอยู่ในขอบเขตอุดช่องว่างทางกฎหมายก็ไม่มีปัญหา
“ที่ผ่านมามีปัญหาว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติชัดเจนว่าจะใช้ช่องทางไหน พอเกิดปัญหาที่ไม่ระบุในรัฐธรรมนูญ เมื่อช่องทางชัดเจนจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่หลังจากมีคำวินิจฉัยแล้วจะสามารถบังคับใช้และยอมรับได้ทุกฝ่ายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครตอบได้ เพียงแต่หวังว่า สังคมต้องก้าวไปสู่การยอมรับคำตัดสินขององค์กรต่างๆ แต่ถ้าย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเดิมที่บางฝ่ายไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ต้องมีการค้นหาทางออกที่ฝ่ายการเมืองต้องทำกันเอง หากยังไม่ใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นและหวังใช้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็จะเกิดปัญหา หากฝ่ายการเมืองพยายามหาทางออกทุกมิติ รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องรอง ผมไม่ได้คัดค้านที่ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่เตือนว่าอย่าหวังพึ่งกลไกนี้เป็นหลัก” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ กรธ.แก้ไขขั้นตอนการอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมที่ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา มาเป็นให้ที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้งองค์คณะใหม่ขึ้นมาพิจารณาคำอุทธรณ์ ตนเห็นว่าควรกลับไปใช้ตามทางเดิมจะดีกว่า เพราะการยื่นอุทธรณ์ควรจะชัดเจนว่าผู้พิจารณาอยู่ในระดับที่สูงกว่าองค์คณะ ซึ่งการกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเหมาะสมแล้ว เพราะชัดเจนว่าสูงกว่าการพิจารณาขององค์คณะแค่ 9 ท่าน เพราะการตั้งองค์คณะใหม่จะไม่ชัดเจนว่า องค์คณะใหม่จะมีระดับที่สูงกว่าองค์คณะเก่าที่มาจากศาลฎีกาอย่างไร อีกทั้ง หากจะให้มีการอุทธรณ์ก็ต้องมีการจำกัดขอบเขตให้ชัดเจน เช่นมีพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใหม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อแพ้คดีจากศาลหนึ่งก็ไปลุ้นคดีอีกศาลหนึ่งโดยการขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนกติกานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รับอานิสงส์จากกรณีนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลที่ต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างก็ต้องระบุว่า สิ่งที่ค้างอยู่ตามกติกาเดิมจะให้ไปต่ออย่างไร จึงต้องถาม กรธ.ว่าคิดอย่างไร เพราะหากไม่ต้องการให้มีผลผูกพันกับคดีที่ค้างอยู่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล และขอให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อธิบายเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาส่วนนี้ด้วย เพราะก่อนหน้านี้เคยระบุว่าการให้ที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเป็นผู้พิจารณาคำอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็ต้องอธิบายและชี้แจงสังคม
ส่วนกรณีความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้มี ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีจะทำให้แรงเสียดทานลดลง แต่ต้องรวมอำนาจหน้าที่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสำหรับตนไม่ว่าจะเป็นการสรรหา แต่งตั้งเลือกอ้อม เลือกไขว้ประชาขนไม่มีส่วนร่วมอยู่แล้ว ส่วนที่บอกว่าต้องการให้ ส.ว.มีอำนาจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศนั้น หากเป็นการขับเคลื่อนเหมือนสภาปฎิรูปประเทศปัจจุบันก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือต้องการให้มีองค์กรที่เตือนรัฐบาลเพื่อไม่ให้การปฏิรูปชะงักก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ต้องไม่ไปไกลถึงขั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะจะกลายเป็นเรื่องการเมือง จึงต้องดูว่าจะมีการวางกลไกนี้อย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนตัวเห็นว่าควรจะมีบทบาทในการกระตุ้นเตือนรัฐบาล แต่ไม่ใช่มีอำนาจเหนือรัฐบาลหรือสภาผู้แทนฯ ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา เพราะขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องทิศทาง เช่น การพูดถึงแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามหลักรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้น รัฐบาลที่เข้ามาก็มีสิทธิทบทวนได้ แต่ส่วนตัวไม่เห็นประโยชน์ที่จะร่างแผนดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจทุก 5 ปี นับวันก็ถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ระยะยาวก็มีในแนวนโยบายแห่งรัฐอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำแผนหรือออกกฎหมาย เพราะจะเป็นการเพิ่มความซับซ้อน สร้างความยุ่งยากในระบบราชการ ส่วนจะเป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ถ้ามีอำนาจเหนือรัฐบาลก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว
“สิ่งที่จะเป็นหลักประกันในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่การเขียนกฎหมายหรือเขียนแผนบนแผ่นกระดาษ ต้องให้สังคมสนับสนุน เช่น ถ้ามียุทธศาสตร์ให้เด็กไทยรับการศึกษา15 ปี ก็ต้องประกาศให้สังคมรับรู้ เพื่อจะเป็นตัวบีบให้รัฐบาลต้องทำ อย่างผมเคยเสนอให้ทำประชามติปฎิรูปตำรวจ ซึ่ง คสช.ยอมรับว่าถ้ามติออกว่าต้องทำก็จะทำงานไม่ได้ เพราะประเด็นที่มีแรงเสียดทานมากๆ จะไม่สามารถปฏิรูปได้ วิธีการเดียวที่จะเอาชนะคือ เสียงของประชาชนหรือสังคม” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้รายงานคดีเกี่ยวกับความมั่นคงต้องรายงานผ่านต่อ พล.ต.ต.สุรเชษฐ หักพาล ผบก.ทท. เพื่อรายงานต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหมว่า ต้องไปถาม ผบ.ตร.ว่าคำสั่งในลักษณะเช่นนี้กระทบต่อระบบและสายงานการบังคับบัญชาหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่ออนาคตหรือไม่ เพราะหากปล่อยให้ทำระบบเช่นนี้ได้ ทำได้ครั้งหนึ่ง ต่อไปหากนักการเมืองเข้ามาทำเช่นนี้บ้างจะเป็นอย่างไร อยากให้มองในเชิงระบบ ผบ.ตร.ควรอธิบายว่าทำเรื่องนี้ทำไม เพราะปกติจะเป็นการรายงานผ่านผู้บังคับบัญชาและไปถึงรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้ว การรวมศูนย์ไว้กับคนสองคนต้องระวังเพราะเป็นเรื่องอันตรายคนที่รับผิดชอบจะลำบาก เพราะการรวมอำนาจต้องมาพร้อมความรับผิดชอบที่สูงขึ้น หากมีปัญหา พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ก็ต้องรับผิดชอบ