xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวแผนเก็บค่าเช่า-ภาษีโรงเรือนแบบใหม่ ลดปัญหาพิพาทท้องถิ่นกับรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไฟเขียวแผนจัดเก็บค่าเช่า-เสียภาษีโรงเรือนแบบใหม่ ลดปัญหาพิพาทท้องถิ่นกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พบท้องถิ่นต้องการจัดเก็บจำนวนมาก รัฐวิสาหกิจต้องการจ่ายน้อย สั่ง “มหาดไทย” กำหนดเกณฑ์ทุกอย่างให้ชัดเจน ยกตัวอย่างจัดเก็บภาษี “การบินไทย” แล้วไม่ต้องจัดเก็บจาก ทอท.เพิ่ม พร้อมกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย เป็นฐานในการคำนวณภาษีและมูลค่าเครื่องจักรส่วนควบลดลง 1 ใน 3 มูลค่าต่อปีตามราคาฐานทรัพย์สิน

วันนี้ (8 มี.ค.) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการจัดทำหลักเกณฑ์ค่าเช่า การจัดเก็บภาษีโรงเรือนรายปี สำหรับโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการจัดเก็บค่าเช่า และเสียภาษีโรงเรือน จึงต้องเสนอ ครม.พิจารณาตัดสินข้อพิพาทจำนวนมาก เนื่องจาก อปท.ต้องการจัดเก็บจำนวนมาก ขณะที่รัฐวิสาหกิจต้องการจ่ายน้อย

มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดเกณฑ์ทุกอย่างให้ชัดเจนเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ทั้งการใช้พื้นที่ด้วยตนเองของรัฐวิสาหกิจ หรือให้หน่วยงานอื่นเช่าช่วงต่อ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เช่าพื้นที่บริการผู้โดยสาร การประเมินภาษีจากเครื่องจักรส่วนควบจากโรงเรือน หลังจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ อัยการ กฤษฎีกา หารือร่วมกันแล้ว เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจน เช่น เมื่อจัดเก็บภาษีจากการบินไทยแล้วไม่ต้องจัดเก็บจาก ทอท.เพิ่ม และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทยเป็นฐานในการคำนวณภาษีและมูลค่าเครื่องจักรส่วนควบลดลง 1 ใน 3 มูลค่าต่อปีตามราคาฐานทรัพย์สิน

มีรายงานว่า หลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจที่ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจมีเหตุผลความจำเป็นที่จะขอลดหย่อนค่ารายปี โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงินหรือการดำเนินกิจการ เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้นเสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการคลังรับไปพิจาณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อยุติก่อน และให้กระทรวงการคลังนำผลการพิจารณาดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า เพื่อลดประเด็นปัญหาข้อโต้แย้งของรัฐวิสาหกิจที่ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมทั้งเพื่อยุติประเด็นปัญหาการขอลดหย่อนค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจที่ยังคงค้างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ กค. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจ ในช่วงระยะเวลาก่อนที่กฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกนำมาใช้บังคับแทนกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังนี้

1. ให้ มท.ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีเครื่องจักรเป็นส่วนควบ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ ให้ชัดเจน ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยของปีก่อนหน้าการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษีปัจจุบันเป็นเกณฑ์คำนวณผลตอบแทนของเครื่องจักเพื่อกำหนดเป็นค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินกรณีของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก กค.มีระเบียบ กค.ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องฝากเงินกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ให้นำค่ารายปีของเครื่องจักรที่หักค่าเสื่อมราคาและได้คำนวณผลตอบแทนของเครื่องจักร มารวมกับค่ารายปีของโรงเรือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณการลดค่ารายปีของโรงเรือนที่มีเครื่องจักรเป็นส่วนควบที่สำคัญลงเหลือ 1 ใน 3 ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ

2. ให้ มท.ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดิน ซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรียน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติให้ชัดเจนในแต่ละกรณีปัญหาของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ กรณีทรัพย์สินที่เจ้าของซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการเอง ให้ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินนั้นโดยใช้วิธีเทียบเคียงตามบัญชีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือน

หากเจ้าของซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนำทรัพย์สินบางส่วนไปใช้หาผลประโยชน์ และมีรายได้ ให้ประเมินค่ารายปีจากรายได้ที่ได้รับจริงจากการนำทรัพย์สินนั้นไปใช้หาประโยชน์ โดยต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบเพื่อแสดงจำนวนเงินรายได้ ที่ได้รับรับจากการดำเนินการดังกล่าว กรณีทรัพย์สินที่เจ้าของซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนำทรัพย์สินของตนไปให้เช่าและมีรายได้หรือผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้น ตามสัญญาที่ได้ตกลงร่วมกันเป็นรายปีที่ชัดเจน ให้ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่ให้เช่าดังกล่าวจากรายได้หรือผลตอบแทนตามสัญญาเช่าที่รัฐวิสาหกิจและผู้เช่าได้ตกลงร่วมกัน กรณีที่ผู้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น (ผู้เช่าเป็นเจ้าของโรงเรือน และเช่าเฉพาะที่ดินจากรัฐวิสาหกิจ) ให้ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินดังกล่าวโดยใช้บัญชีกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือน

ให้รัฐวิสาหกิจที่เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 31 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ และเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่ยังคงค้างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ยอมรับผลการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน หาก อปท.ได้ประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรา แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ และตามหลักเกณฑ์ที่ กค.เสนอ เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่เสนอเรื่องขอลดหย่อนค่ารายปี โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 31 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จะเป็นผู้รับภาระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งหมด และรัฐวิสาหกิจนั้นมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะขอให้มีการบรรเทาภาระค่ารายปี เนื่องจากรัฐวิสาหกิจประสบปัญหาทางการเงินหรือการดำเนินการ ทั้งนี้ ค่ารายปีที่จะลดหย่อนให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นๆ ต้องคำนึงถึงรายได้ของท้องถิ่นและความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั่วไปรายอื่นๆ ในท้องถิ่นนั้นเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น