xs
xsm
sm
md
lg

อดีตกัปตันบินไทยร้อง ป.ป.ช. ปมอดีตผู้บริหารตั้ง “นกสกู๊ด” เข้าข่ายมีผลประโยชน์ขัดกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นการบินไทย ร้อง ป.ป.ช.สอบ “รักษาการดีดี-บอร์ดการบินไทย ปี 56-57 เหตุจัดตั้งสายการบินราคาประหยัด “นกสกู๊ด” โดยไม่ยับยั้ง ทำลายการแข่งขันเสียหาย เข้าข่ายมีผลประโยชน์ขัดกันกับการบินไทยอย่างชัดแจ้ง

วันนี้ (1 มี.ค.) มีรายงานว่าอดีตผู้บริหารการบินไทย นำโดยนายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตันการบินไทย และนายสุเทพ สืบสันติวงศ์ ผู้ถือหุ้นการบินไทย พร้อมด้วย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษเป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ กลุ่มอดีตผู้บริหารการบินไทยได้ขอให้ตรวจสอบอดีตพนักงานระดับตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงประมาณปลายปี 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2557 กระทำการอันถือได้ว่าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยทุจริต ทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย

โดยเฉพาะการอนุมัติความตกลงแบบไม่มีเงื่อนไขผูกพันจัดตั้งสายการบินราคาประหยัด ชื่อบริษัท นกสกู๊ด จำกัด และยังอนุมัติให้สายการบินนกแอร์ เข้าทำสัญญา Joint Venture Agreement ซึ่งทำขึ้นระหว่าง NOK SPA คือ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด กับบริษัทลูกของบริษัทสายการบินของสิงคโปร์ มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 245,000,000 หุ้น หรือร้อยละ 39.2 เป็นหุ้นที่มีส่วนได้เสียเช่นเดียวกับผู้บริหารนกแอร์ ที่ถือหุ้น 25,000,000หุ้น หรือร้อยละ 4 จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่ผู้บริหารตัวแทนการบินไทยที่ถือหุ้นนกแอร์ กลับอนุมัติและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนอนุมัติจัดตั้งสายการบินราคาประหยัดชื่อนกสกู๊ด แทนที่จะทำการระงับยับยั้งการจัดตั้งสายการบินที่ประกอบกิจการแข่งขันและขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท การบินไทย อย่างชัดเจน

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ นกแอร์ ยังได้อนุมัติให้กู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 970 ล้านบาท แก่บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด เพื่อลงทุนผ่าน NOK SPV ได้ ซึ่งการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว การบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นได้ให้ความยินยอมและสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย

“รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงประมาณปลายปี 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2557 กลับไม่ยับยั้ง การที่สายการบินนกสกู๊ดได้รับอนุญาต มีเส้นทางการบินเส้นทางเดียวกับการบินไทย ก็เท่ากับว่าจะต้องมีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจสายการบินกับการบินไทยอย่างชัดเจน จึงเป็นกรณีที่มีผลประโยชน์ขัดกันกับการบินไทยอย่างชัดแจ้ง”

ทั้งนี้ กลุ่มฯ เรียกร้องเพิ่มเติม ให้ ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบการทุจริตในการเปิดสัมปทานเส้นทางการบินของผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีผลกระทบต่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภายหลังเข้าร่วม AEC




กำลังโหลดความคิดเห็น