ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่กังวล กปปส.จะฟ้องร้องดำเนินคดีกลับ หลังฟ้องเรียกหายเสียหายทั้ง “ปู” และ “ทีมลุงกำนัน” ฝ่ายละ 2.4 พันล้าน แต่ตอนนี้เรื่องยังอยู่ที่คณะกรรมการไต่สวนความผิดทางละเมิด บอกใครทำอะไรไว้ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติเตรียมชง ครม.อีกครั้ง
วันนี้ (5 มี.ค.) ที่สถาบันพระปกเกล้า นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่า กกต.มีมติฟ้องเรียกหายเสียหายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ฝ่ายละ 2,400 ล้านบาท จากกรณีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ว่า ตนยังไม่ได้ลงนามในสำนวนนี้หรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพราะสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนความผิดทางละเมิด ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.จะร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถกระทำได้ และเชื่อว่าบุคคลใดทำอะไรไว้ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ อย่างไรก็ตาม การจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั้น กกต.ทำตามขั้นตอนในประกาศกฤษฎีกาที่กำหนดวันเลือกตั้งไว้ จึงไม่กังวลที่ กปปส.จะฟ้องร้องดำเนินคดี
ทั้งนี้ นายศุภชัยกล่าวถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า กกต.ได้ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว ซึ่งตนเตรียมลงนามและส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ส่วนการกำหนดโทษนักการเมืองที่รณรงค์ชี้นำการประชามติ จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาทนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขัดขวางการเลือกตั้งเหมือนกับวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการปิดกั้นการรณรงค์ประชามติ เพราะหากไม่กระทำผิดก็ไม่ได้รับบทลงโทษ
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวกับ กกต. แต่ไม่มีใครอยากแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่าเลยขั้นตอนของ กกต.ไปแล้ว รวมทั้งไม่อยากจะให้สัมภาษณ์ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นตอบโต้กันไปมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น กกต.ได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยว อาทิ อัยการสูงสุด โดยได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน ภาพถ่าย บันทึกถ้อยคำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จำนวนหลายลัง เพื่อให้หน่วยงานนำหลักฐานไปพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องต่อไปซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาพิจารณานานพอสมควรกว่าที่จะสามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล หรืออาจต้องใช้เวลายาวนานเป็นปี