xs
xsm
sm
md
lg

ยำใหญ่ กรธ.! “เต้น” ซัดร่างรัฐธรรมนูญใส่ของเน่า - “ถาวร” ไม่ติดใจปฏิรูปถูกเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีตแกนนำ กปปส.ไม่ติดใจ กรธ.ไม่บัญญัติหมวดปฏิรูป แต่ย้ำต้องปฏิรูป 5 ด้านที่เสนอ เห็นดีด้วยองค์กรอิสระเตือนรัฐบาลมือเติบได้ ย้ำไม่ปลุกระดม แต่แกนนำ นปช.อ้างหนุนคว่ำเพราะขัดประชาธิปไตย ซัดเอาของเสียฉบับที่แล้วมาใส่เกือบหมด เหน็บฝ่ายที่ด่าว่าตัวปัญหา บอกภูมิใจกว่าเป็นคนคุณภาพของเผด็จการ โฆษกพรรคพลังชลบอก กรธ.ควรรับฟัง อ้างสองพรรคใหญ่มีประสบการณ์ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะคว่ำ

วันนี้ (20 ม.ค.) นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แสดงเจตนาว่าจะไม่บัญญัติการปฏิรูปขึ้นเป็นหมวดใหม่ของร่างรัฐธรรมนูญว่า โดยส่วนตัวแล้วตนไม่ติดใจในเรื่องนี้ว่าจะบัญญัติเป็นหมวดหรือไม่ สิ่งที่ตนต้องการก็คือ เรื่องใดที่ปฏิรูปไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ ตนต้องการให้ให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญไว้เพื่อให้รัฐบาลถัดไปดำเนินการ ซึ่งจะบัญญัติไว้ในรูปแบบใด ตนก็ไม่ติดใจ แต่ต้องการให้มีการปฏิรูปให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปทั้ง 5 ด้าน ที่กลุ่ม กปปส.ได้เสนอไว้

สำหรับกรณีที่ กรธ.ได้บัญญัติให้องค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการรป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนรัฐบาลได้ หากพบมีเรื่องที่ส่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ นายถาวรกล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าองค์กรอิสระ อาทิ สตง. ถ้าตรวจสอบพบโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายว่าการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว เป็นการใช้เงินที่นำไปสู่ความเสียหาย และถ้า สตง.เตือนไปแล้ว แต่ฝ่ายรัฐยังดันทุรังเดินหน้าใช้จ่ายเงินต่อไป ถ้าเป็นในรูปแบบนี้ ตนก็เห็นด้วยกับ กรธ.ที่บัญญัติให้องค์กรอิสระมีอำนาจเตือนรัฐบาล แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่องค์กรอิสระนั้นๆ เท่านั้น จะไปก้าวก่ายหรือมั่วไปถึงหน้าที่องค์กรอิสระอื่นๆ ไม่ได้

นายถาวรกล่าวต่อถึงกรณีที่มีข่าวว่าทางพรรคการเมืองจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นประชามติ โดยกล่าวว่า สำหรับตนนั้นต้องรอดูเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ประชาชนจะเอาอย่างไร ตนจะไม่ไประดมให้คว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นสิทธิของประชาชน ให้เป็นผู้เรียนรู้รัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยเองและใช้ดุลยพินิจของตัวเองว่าจะเอาอย่างไรดีกว่า ส่วนตนนั้นก็จะแสดงความเห็นในแต่ละประเด็นออกมาเป็นระยะ ทั้งในเรื่องที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช.กล่าวว่า การประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นอยู่บนหลักคิดว่า หัวใจหลักของปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาคือความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเนื้อหาในร่างแรกที่ กรธ.สรุปมามีความชัดเจนว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย จึงเชื่อว่านอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังขยายความขัดแย้งให้ลุกลามออกไปอีกด้วย รูปธรรมอย่างง่ายที่จะชี้ให้เห็นคือ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองก็ยอมรับว่าการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 เป็นเรื่องเสียของ แต่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเอาของเสียจากฉบับที่แล้วแปลงร่างมาใส่ไว้เกือบหมด แถมเพิ่มดีกรีให้สวนทางกับประชาธิปไตยมากขึ้นอีกด้วย แล้วจะไม่เสียของอีกครั้งได้อย่างไร

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า สุดท้ายต้องให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสิน เเต่เมื่อท่านประกาศแบบนี้ก็ต้องทำให้สนามประชามติเปิดกว้าง มีพื้นที่ให้คนเห็นต่างแสดงความเห็น ไม่ปิดกั้นการรณรงค์ทั้งฝ่ายรับและไม่รับ และไม่ใช้อำนาจรัฐกดดันบุคคลหรือองค์กรใดๆ ให้มีมติตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ทั้งนี้ ประชามติที่ชอบธรรมต้องดำเนินการโดยประชาชนทุกฝ่ายมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีนักการเมืองคนไหนไปบังคับประชาชนได้ มีแต่เผด็จการเท่านั้นที่จะลงมือทำ

อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกบนเรือแป๊ะบางคนที่สลับกันออกมาตอบโต้ฝ่ายการเมืองและชี้ว่าเป็นตัวปัญหานั้น อยากฝากข้อคิดว่าทุกวิชาชีพประกอบด้วยคนทั้งที่มีและไม่มีคุณภาพ เพียงแต่นักการเมืองจะเข้าทำหน้าที่ต้องผ่านการคัดกรองจากประชาชน สำหรับตนหากจะเป็นคนไร้คุณภาพจากการตัดสินของประชาชนก็ต้องยอมรับ แต่ยังน่าภูมิใจกว่าการเป็นคนคุณภาพของอำนาจเผด็จการ

“ปกติคนถูกหวยบนดิน ใต้ดิน เขาจะดีใจ ประกาศหัวซอยท้ายซอย แต่คนถูกหวยรัฐประหารควรสงบปากสงบคำบ้าง บ้านเมืองนี้ถ้าใครหาประโยชน์อันมิชอบจากระบอบประชาธิปไตยก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่พวกหาประโยชน์จากเผด็จการกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร นี่คือความเสียหายของประเทศ ถ้าจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็เป็นเผด็จการเสียให้ชัดไปเลย ดีกว่าอ้างประชาธิปไตยแต่สร้างกลไกกดทับอำนาจประชาชนไว้เหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นายณัฐวุฒิกล่าว

ขณะที่นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล กล่าวถึงกรณีที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญว่า ความคิดเห็นของฝ่ายการเมืองที่แสดงออกมา ล้วนแต่เป็นความเห็นของผู้มีประสบการทางการเมือง กรธ.ควรรับฟัง เพราะเป็นความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง หากเอาไปพิจารณาปรับใช้จะเป็นประโยชน์ รวมถึง กรธ.ควรเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ส่วนความเห็นแย้งนั้น กรธ.ก็ควรอธิบายหลักการและเหตุผลให้เข้าใจกันทั้งหมด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักสากล และเป็นที่ยอมรับจากสังคม ส่วนจะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ส่วนตัวถือว่ายังเร็วไป เพราะ ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ต้องรอดูร่างที่เสร็จสมบูรณ์ก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น