“ประยุทธ์” ฉะพวกเคลื่อนไหวใช้องค์กรระหว่างประเทศ-ต่างประเทศ มากดดันประเทศไทยเป็นการทำลายแผ่นดินแม่ ยันอ่านร่าง รธน.แล้วไม่เห็น “สืบทอดอำนาจ” ตรงไหน แจงบทเฉพาะกาล-ช่วงเปลี่ยนผ่านแค่วางแนวทางให้รัฐบาลเลือกตั้ง ไม่มีกลไกไหนไปควบคุม ฝากประชาชนย้อนมอง 80 ปี ประชาธิปไตยไทย ก่อนไปฟังพวกเสียประโยชน์ รับอยากให้ประชามติผ่านเพื่อการปฏิรูป พร้อมสารภาพยังไม่รู้ทางออกถ้าไม่ผ่าน เตือนชาวนาดื้อปลูกข้าวจะเสียหายหนัก เหตุวิกฤตแล้ง แนะหาพืชทางเลือกปลูกแทน
วันนี้ (4 มี.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า ขณะนี้ยังคงมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งกฎหมายปกติ คำสั่ง คสช. รวมทั้งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ยังคงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และมีพฤติกรรมต่อต้านทุกอย่าง ต่อต้านกฎหมาย ไม่ยอมรับการตรวจสอบ หรือต่อสู้คดีตามครรลองของกฎหมาย มีการหลบหนี แล้วไปอ้างต่างประเทศ ว่า ถูกรังแกทางการเมือง ทั้งที่มีข้อมูลหลักฐานในการกระทำผิดชัดเจน จึงขอให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนคนต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทยอย่าได้หลงเชื่อบุคคลเหล่านี้ที่ไม่ยอมยอมรับกติกา และไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วยังนำองค์กรระหว่างประเทศ และต่างประเทศมากดดันประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของชาติไทย ก็เพียงเพื่อปกปิด ลบล้างความผิดของตัวเองเท่านั้น
“ท่านต้องสำนึกว่าท่านได้ทำลายแผ่นดินแม่ของท่าน บ้านเกิดเมืองนอนที่ท่านเคยกล่าวเสมอว่ารัก อยากกลับมา อยากมีความสุขกับพ่อแม่ลูกเมีย พี่น้องอะไรก็แล้วแต่ แต่ท่านไม่ยอมรับความผิด ไม่รับกฎหมาย ไม่ต่อสู้ทางคดี ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่คงรับไม่ได้ รัฐบาลก็รับไม่ได้เหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
หัวหน้า คสช.กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติว่า อาจจะมีการสร้างความเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่ตรงกัน จากทั้งมีเจตนาอันบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ มีการบิดเบือนมากมาย เช่น กล่าวหาว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ อันที่จริงแล้วเป็นกลไกที่จะทำให้สิ่งที่ได้เริ่มไว้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดระเบียบ การสร้างความเข้มแข็ง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การปฏิรูปทั้ง มีผลสัมฤทธิ์ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ หรือว่าทำเฉพาะบางพื้นที่เหมือนเดิม รัฐบาล คสช.ก็เพียงแต่กำหนดกรอบการทำงานในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้หวังทำเพื่อตน หรือ คสช. หรือเพื่อใครทั้งสิ้น หวังแต่เพียงว่าให้รัฐบาลต่อไปได้ได้ดำเนินการทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง ทั่วถึง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนจะได้มีความสุข มีประโยชน์ที่ได้จากการทำงานของรัฐบาลนั้นอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีธรรมภิบาล โปร่งใส ไม่ทุจริต ใช้จ่ายงบประมาณอย่างถูกต้องไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว โดยจะวางยุทธศาสตร์ ที่เราเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติให้ครอบคลุม ในเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้
“ผมศึกษาในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งก็ยังไม่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขาร่างมาว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นใจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ได้รับแรงกดดันมากพอสมควร ตนมองว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานี้ หลักๆไม่ได้แตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆมากนัก อาจจะมีการเน้นหนักในเรื่องการป้องกันการทุจริต ป้องกันการใช้อำนาจทั้ง 2 สภาที่อาจจะมาจากคนกลุ่มเดียวกัน ทั้ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขณะที่ประเด็นสำคัญคือการปฏิรูปประเทศ หากทำได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้ผ่านช่วงเวลานี้มาเกือบทั้งสิ้น ไม่อยากให้ประชาชนคนไทยไปหลงเชื่อคำบิดเบือน สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ โดยการอ้างคำว่าประชาธิปไตยอีกต่อไป
“อะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สามารถทำได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่ว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แล้วผมจะไปควบคุมใครเขาได้ 5 ปี ก็ผมไม่มีอำนาจแล้ว จะไปคุมอะไรเขาตรงไหนได้ หรือผมจะไปอยู่ตรงไหนที่จะคุมได้ ไม่มี เพราะเป็นประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องอยู่ในกลไก สภา อะไรต่างๆ เหล่านี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หัวหน้า คสช.อธิบายต่อว่า ในส่วนของบทเฉพาะกาลที่ทุกคนพยายามกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ ก็เขียนไว้เพื่อเป็นแนวทางให้ทำอะไรต่อไป ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ทุกอย่างที่ผ่านมา 2 ปีกว่าๆ ไม่มีประโยชน์เลย วันนี้ คสช.ทำได้บางส่วน บางส่วนต้องคอยก่อน ก็วางแนวทางให้รัฐบาลหน้านำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง เรามองเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ การเข้าสู่อำนาจ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาแนวทางที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม เกิดความเท่าเทียม อะไรที่นำไปสู่ความขัดแย้งก็ต้องหยุดตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ทุกอย่างปล่อยให้จนบานปลายไปหมด แล้วก็กลับมาแก้ไข แล้วก็มาถามว่าทำไมต้องรัฐประหาร ลองย้อนกลับไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในช่วง 80 กว่าปี ของประชาธิปไตยไทย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติ ก็ต้องผ่านมีความแตกต่าง ทุกคนอยากเห็นการปฏิรูป ถ้าเขียนแบบเดิมก็ไม่ต้องไปเขียนให้เสียเวลา ไม่ควรไปฟังคนที่สูญเสียอำนาจ หรือคนที่มีความผิดอีกต่อไป อย่าให้มีการชี้นำ บิดเบือนในทางที่ผิด
“ผมอยากให้ผ่านด้วยประเด็นเหล่านี้ แต่ถ้าไม่ผ่าน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เพราะทุกคนก็อยากเลือกตั้ง ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมไปบังคับท่านอีก หรือขู่ท่าน ไม่ใช่ จะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมอยากให้ทุกคนใช้วิจารณญาณ ใช้เหตุใช้ผล ในการตัดสิน อยากให้ทุกคนออกไปทำประชามติ เลือกตั้ง จะออกผลมายังไง ก็ต้องช่วยกัน” หัวหน้า คสช.กล่าว
นายกฯ กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งว่า ถ้าเราเรียกร้องน้ำมากกว่านี้เพื่อปลูกข้าวนั้น คงเป็นไปไม่ได้ รวมไปถึงการทบทวนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ที่คงทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะปริมาณน้ำน้อยลง ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับการบริหารจัดการน้ำให้ตรงกับพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้จริง ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ การเพาะปลูกจะต้องไม่ปลูกส่วนใดส่วนหนึ่งที่มากเกินไป แล้วก็มีการเสียหายจากภัยแล้งอีก เราต้องปลูกในพื้นที่ที่เป็นไปได้ มีน้ำมีดินเพียงพอ จึงอยากให้ไปเรียนรู้ว่า จะปลูกอย่างอื่นขายแทนได้อย่างไร การทำเกษตร ไร่นาสวนผสมในพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่ที่ทำนาได้ผลมาก ๆ จะทำยังไง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน และรัฐบาลต่อไปด้วย
“ผมห้ามไม่ได้ แต่ผมก็เตือนไว้เท่านั้นเองว่า การที่จะปลูกข้าวไว้ขายทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ เพราะข้าวคุณภาพต่ำ พื้นที่ไม่สมบูรณ์ ข้าวก็มีคุณภาพไม่ดี ราคาก็ตกต่ำ แล้วต้นทุนการผลิตเราก็สูงอีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 4 มีนาคม 2559
สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี จะเป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยประชาชนชาวไทยร่วมใจถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้ทรงมีพระปรีชาสามารถทางการช่าง ทรงเป็นแบบอย่างของนักประดิษฐ์ โดยทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง ครั้งทรงพระเยาว์ เช่น เครื่องร่อน เรือรบจำลอง และรถลากไม้ ทั้งนี้ ทรงเป็นนักการช่างที่เป็นมิ่งขวัญและเป็นกำลังใจสำหรับแรงงานไทยทุกคน ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย จนมีผลงานฝีมือและงานประดิษฐ์เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา และฝนหลวง เหล่านี้ถือเป็นผลงานที่ทรงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง
ในการนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับแรงงานที่ต้องใช้ทักษะทางการช่าง รวมทั้งช่างฝีมือไทยที่มีมาแต่โบราณกาล สืบทอดกันมายาวนาน และช่างยุคใหม่ที่ต้องก้าวทันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกในยุคปัจจุบัน โดยขอได้น้อมนำแนวทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม และเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ ด้วยความทุ่มเทและด้วยใจรักในวิชาชีพ
พร้อมกันนี้ ผมขอให้นักศึกษาสายอาชีพ เทคนิค อาชีวศึกษา ทุกคนได้มีความภาคภูมิในสาขาวิชาชีพของตน รวมทั้งนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ที่เรียกว่า การศึกษาสเต็มนะครับ ต่อไปนั้นจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จากสังคมเกษตรกรรม ให้มีมูลค่าเพิ่มเป็นเศรษฐกิจเกษตรอุตสาหกรรม และเป็นประเทศอุตสาหกรรมในที่สุด แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวนะครับ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในส่วนของรัฐบาลได้จัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการแรงงานทั้งระบบ ที่ยึดหลักการปฏิบัติตามกฎหมาย ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้าย ไม่ใช้แรงงานบังคับ ต้องโปร่งใส มีความรับผิดชอบ รวมทั้งมีข้อกำหนด และรับการจัดการ เพื่อประกันคุณภาพที่สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เช่น ข้อกำหนดของมาตรฐานในการทำงานที่มีความสอดคล้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งอนุสัญญา หรือปฏิญญาสากล ที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้สถานประกอบกิจการไทยเราเป็นที่ยอมรับ ผ่านการรับรอง ทั้งจากสถาบันตรวจสอบมาตรฐานภายในประเทศ และที่เป็นสากล ให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ลูกค้า หรือประเทศคู่ค้า และเชื่อมั่นในแหล่งผลิตสินค้า กระบวนการผลิต และการบริการของไทยสู่สายตาโลกให้ได้
วันนี้ ผมมีเรื่องต้องการจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังต่อไปนี้นะครับ เรื่องแรก เรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่กระทำผิดทางกฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทัง้กฎหมายปกติ คำสั่ง คสช. มาตราที่ 44 ที่ยังคงไม่ยอมรับในขบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งเราก็ได้ใช้ทุกกฎหมายกับทุกคดี ทุกข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทุกคน ในทุกคดีบางกลุ่มไม่ยอมรับเลยในช่วงที่ผ่านมา บางคนบางกลุ่มไม่ยอมเข้าด้วย ต่อต้านทุกอย่าง ต่อต้านกฎหมาย ไม่ยอมเข้ารับการตรวจสอบ หรือต่อสู้คดีตามครรลองของกฎหมาย มีการหลบหนี แล้วไปอ้างต่างประเทศว่าถูกรังแกทางการเมือง ทั้งที่มีข้อมูล มีหลักฐานชัดเจนนะครับ หากไม่มีความผิด หรือไม่มีมูลเลย คงไม่มีใครไปแกล้งท่านได้อยู่แล้วนะครับ ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนคนต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทย อย่าได้หลงเชื่ออีกต่อไปนะครับ เราควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาอื่น คดีอื่น ๆ เขาบ้าง นับพันนับหมื่นราย ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ หรือต่อสู้ทางกฎหมายอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกันนี้ เราจะต้องบังคับใช้กฎหมายเดียวกัน ในลักษณะเดียวกัน กับทุกคดี แล้วใครเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็ควรกลับมาสู้คดี หรือมีตั้งหลายศาล ก็มาแก้กันไปนะครับ แต่ละพวกก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ก็ถ้ามีหลักฐานที่เพียงพอก็มาต่อสู่คดี ก็จบ เท่านั้นเอง ยอมรับในกติกาบ้าง
สำหรับผู้ที่ใช้องค์กรระหว่างประเทศ ต่างประเทศ มากดดันประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของชาติไทยนั้น ก็ต้องการเพียงเพื่อจะปกปิดลบล้าง เพื่อให้เป็นของตัวเอง มีนโมธรรม ท่านต้องสำนึกว่า ท่านได้ทำลายแผ่นดินแม่ของท่าน บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ที่ท่านเคยกล่าวเสมอว่า ท่านรัก อยากกลับมา อยากมีความสุขกับพ่อแม่ ลูก เมีย พี่น้องอะไรก็แล้วแต่ แต่ท่านไม่ยอมรับความผิด ไม่รับกฎหมาย ไม่ต่อสู้ทางคดี ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่คงรับไม่ได้ รัฐบาลก็รับไม่ได้เหมือนกัน
ในส่วนของกรณีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการสร้างความเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่ตรงกันจากทั้งมีเจตนาบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์นะครับ มีการบิดเบือนมากมาย เช่นในกรณีที่กล่าวว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ อันที่จริงแล้วมันเป็นวิธีการ ในการที่จะมีกลไกต่างๆ ที่จะทำให้สิ่งที่เราเริ่มไว้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดระเบียบ การสร้างความเข้มแข็ง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การปฏิรูป 11 ด้านระยะที่ 1 ก่อนการเลือกตั้ง ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะต่อไป จนเกิดผลดีมีผลสัมฤทธิ์ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่คือการรู้แล้วทำเฉพาะบาง ก็เหมือนเดิมนะครับ ผมอยากให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รัฐบาล คสช.ก็เพียงแต่กำหนดกรอบการทำงานให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่หวังทำเพื่อผม เพื่อ คสช. เพื่อใครทั้งสิ้น หวังแต่เพียงว่าให้รัฐบาลต่อไปได้ดำเนินการในสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง ทั่วถึง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนก็จะได้มีความสุข มีประโยชน์ ที่ได้จากการทำงานของรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน เพราะว่ารัฐบาลนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้อง ที่มีธรรมาภิบาล ที่มาจาก ส.ส. ซึ่งทุกท่านก็จะเป็นผู้ได้รับการรับเลือกจากประชาชนให้เป็นผู้แทน เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่เลือกตั้งนั้นต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่ทุจริต ใช้จ่ายงบประมาณอย่างถูกต้อง ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้ประโยชน์ทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว โดยจะวางยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่ายุทธศาสตร์นั้น ให้ครอบคลุม หลายประเทศเขามีหมดแล้วนะ รอบบ้านเราก็มี ไปศึกษาดู เราจะสะเปะสะปะต่อไปอีกไม่ได้ ในเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ ทุกอย่างมันต้องเป็นยุทธศาสตร์ทั้งหมด ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพราะฉะนั้นจะต้องมีพื้นฐานในการบริหารราชการแผ่นดินให้กับทุกรัฐบาล เพื่อชาติ บ้านเมือง และประชาชน ท่านก็สามารถทำควบคู่ไปกับการดำเนินการตามนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้ ผมก็ยังไม่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขาร่างมาแล้ว ผมศึกษานะ ในฐานะผมเป็นประชาชนคนหนึ่ง ว่ามันจะเป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน ผมมองรวม ๆ นะ
ในส่วนของรัฐธรรมนูญที่ กรธ. ร่างมานั้น ผมเห็นใจ กรธ. นะครับ แรงกดดันมากพอสมควร ทุกคณะที่ผ่านมาก็ถูกกดดันมาตามลำดับ หวังดีบ้าง ไม่หวังดีบ้าง จากคนภายนอก ส่วนตัวผมนั้น ผมเรียนไปแล้วว่า เราอาจไม่มีความแตกต่างมากนักจากรัฐธรรมนูญ ฉบับอื่น ๆ อาจจะมีการเน้นหนัก ป้องกันการทุจริต ป้องกันการใช้ร่างสภา ที่อาจะมาจากคนกลุ่มเดียวกัน ทั้ง ส.ว. ส.ส. ประเด็นสำคัญ ก็คือ การปฏิรูปประเทศ ถ้าสามารถทำได้ ระยะยาว ต่อไปมันก็อาจเป้นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ของประเทสไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายประเทศ ที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่เรียกว่าสากลนั้น ก็ได้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาเกือบทั้งสิ้น วันนนี้ผมอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า เราในฐานะประชาชนคนไทย ผมเองก็ใช่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการทุกคนก็ใช่ แล้วประชาชนก็ใช่ หากพวกเราไม่เข้าใจกัน ไปหลงเชื่อคำบิดเบือน สร้างความเสียหายให้กับประเทศในอีกต่อไป โดยการอ้างว่าประชาธิปไตย แล้วก็อ้างว่า มาจากประชาชน ความต้องการของประชาชน ผมอยากจะถามกลับไปว่า แล้วเพราะเหตุใดประชาชนกว่า 40% ยังยากจน เหลื่อมล้ำ รายได้ไม่เพียงพอ ไม่เป็นธรรม มีหนี้สินมากมาย ประเทศล้าหลัง มีความขัดแย้ง พัฒนาไม่ได้ ติดล็อกทุุกอย่าง หรือจะพัฒนาเฉพาะพื้นที่ พื้นที่หาเสียง เพราะฉะนั้น เราในฐานะประชาชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ทำอย่างไรจะได้ ส.ส. ทุกพื้นที่ ที่ได้นำความต้องการ ความเดือดร้อน ของแต่ละพื้นที่ของตัวเองมาให้รัฐบาล ซึ่งจะต้องมีธรรมาภิบาล ได้มีการพิจารณาการจัดทำแบบแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย เผื่อแผ่แบ่งปัน และลงทั่วทุกพื้นที่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ หรือ ส.ส. คนใดแล้วแต่นะครับ เราต้องวางยุทธศาสตร์โดยรวม ในทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มจังหวัด และทุกตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ให้มีการประสานสอดคล้องกันเป็นอย่างแน่นหนา โดยจัดลำดับความเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบบริหารจัดการน้ำการเกษตร การเกษตรอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ปศุสัตว์ หรือที่อื่น ๆ ที่ต้องประสานสอดคล้องกันทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งเรื่องการเพาะปลูก เลี้่ยงสัตว์ ไปสู่การแปรรูป เพิ่มมูลค่าโดยภาคประชาชน อาจจะโดยสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรทำเอง เพื่อเป็นทางเลือกกับพ่อค้าคนกลาง และเชื่อมต่อกับธุรกิจเอกชน ให้ได้อีกทางหนึ่ง เราจะได้ใช้เป็นเรื่องยกระดับราคาผลผลิตให้สูงขึ้น คือ หมายความว่าให้ดึงราคาตลาด สร้างความเชื่อมโยงภาคประชาชนกับภาคธุรกิจให้ได้
วันนี้ เรามีหลายคณะช่วยเราให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าให้ได้ และเชื่อมโยงยังประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน ประชาคมโลกอื่น ๆ เราต้องใช้การประชาคมให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และทุกประเทศในอาเซียนนะครับ พี่น้องกันทั้งสิ้น เราต้องเริ่มพิจารณาจากความต้องการของนอกประเทศ การทำอะไรแล้วแต่มันต้องมองปลายทางด้วย ย้อนกลับเข้ามา และมองจากข้างในไปข้างนอก จะเห็นวิธีการในการทำงานนะครับ ผมยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเรามองจากปัจจัยภายนอกประเทศ มองกลับมาที่อาเซียน อาเซียน+3 อาเซียน+6 มาดู CLMV แล้วมาดูภูมิภาคของเรา ก็คือภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ตะวันตก ภาคกลาง แล้วไปดู 18 กลุ่มจังหวัด แล้วก็ไปดู 77 จังหวัด ย้อนกลับมาถึงท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้าน ชุมชน แล้วเราก็ดูว่าเราจะจัดระเบียบเรื่องเหล่านี้อย่างไรในทุกมิติ ทำยังไงจะประสานสอดคล้องเกื้อกูลกัน ประเด็นสำคัญก็คือ ผมอยากทำความเข้าใจว่า วันนี้เราต้องยอมรับว่าแต่ละภูมิภาคของประเทศเรานั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคน ไม่ว่าจะพื้นที่ ไม่ว่าจะปัญหา คุณภาพของดิน ความสูง-ต่ำ ชั้นความสูง ลมฟ้าอากาศ วัสดุต้นทุนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มันเกิดขึ้นในแต่ละภาค มันอาจจะคล้ายๆ กัน ไม่เหมือนกัน ทำไมเราไม่ทำให้ภูมิภาคที่ผมกล่าวไปแล้ว เหนือ ใต้ กลาง ออก ตก นั้นมีความเข้มแข็งในภูมิภาคของตนเองให้ได้ ทั้งคน ทั้งการประกอบอาชี ทั้งในส่วนของการศึกษา การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ เราต้องส่งเสริมกิจกรรมทั้งหมดในลักษณะเป็นการส่งเสริมทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ต้องมาดัดแปลง มาประยุกต์ แล้วใช้ให้ได้นะ เพราะจะได้เอาความแตกต่างที่มีเหล่านั้นมาทำให้เกิดนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่ละพื้นที่นั้น เมื่อไม่เหมือนกัน คนไม่เหมือน วิธีการไม่เหมือน ประเพณีวัฒนธรรมไม่เหมือน ความคิดก็แตกต่างกัน ทำไมไม่เอาความแตกต่างนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็คือสร้างผลผลิต ซึ่งอาจจะต้องทำ 2 อย่างด้วยกัน ก็คือ หนึ่ง เพื่อใช้บริโภคภายในพื้นที่ อาจจะไม่มากนัก แต่ส่วนหนึ่ง ที่ไหนทำได้ผลมาก ก็ส่งออกตลาดต่างประเทศ คือต้องอยู่กินได้ก่อน ที่เหลือก็ขาย มีมากขายมาก มีน้อยขายน้อย แลกเปลี่ยนกันเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความสำคัญกับการเกษตรที่ครบวงจร ก็ตั้งแต่ปลูก ผลิต แปรรูป อาจจะเป็นขั้นที่ 1 หรือขั้นที่ 2 แล้วก็ส่งออกไปตลาดใน ตลาดนอกภูมิภาค ไปสู่ปลายทาง
ทั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อเพิ่มมูลค่า เกษตรกรต้องมีความรู้นะ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่บ้าง สมาร์ทฟาร์เมอร์ (smart farmer) เหล่านี้ ก็พูดทุกวัน ก็พยายามพัฒนาด้วยนะ ก็ขอให้เข้าใจข้อเท็จจริงว่า ถ้าเราปรับตนเองบ้างจากอดีต เราก็น่าจะมีรายได้ที่สูงขึ้นบ้าง เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในระยะต่อไป ไม่อยากให้มีหนี้สินต่อไปอีก อยากฝากให้ช่วยกันคิด
เรื่องน้ำ ถ้าเราจะเรียกร้องน้ำมากกว่านี้ เพื่อปลูกข้าว มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว การปลูกพืชใช้น้ำมากคงต้องทบทวนว่าคงทำไม่ได้อีกต่อไปทั้งหมด เหมือนเดิม เพราะปริมาณน้ำน้อยลง ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอีก เราต้องปรับการบริหารจัดการน้ำให้ตรงกับพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้จริง ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลักษณะภูมิประเทศสูง - ต่ำ แล้วก็ลักษณะดินต่างๆ เหล่านี้ต้องมาพิจารณาทั้งหมด การเพาะปลูกจะต้องไม่ปลูกส่วนใดส่วนหนึ่งที่มากเกินไป เกินความต้องการ แล้วก็มีการสูญเสีย เสียหายจากภัยแล้งอีก อะไรเหล่านี้ มันเป็นปัญหาใหญ่นะ เราต้องปลูกในพื้นที่ที่เป็นไปได้ มีน้ำ มีดิน เพียงพอ การทำเกษตรแปลงใหญ่ มีทั้งหลายลักษณะด้วยกัน อันที่ 1 อาจจะเป็นทำการเกษตรในเรื่องข้าว นาข้าวขนาดใหญ่ แปลงรวมในเขตชลประทาน ถ้านอกเขตน้ำฝนอะไรต่าง ๆ ก็ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ที่เหลือก็ไปปลูกพืชอย่างอื่นใช้น้ำน้อยไป ผมคงห้ามไม่ได้หรอก แต่ผมก็เตือนไว้เท่านั้นเองว่า การที่จะปลูกข้าวไว้ขายทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ เพราะข้าวคุณภาพต่ำ พื้นที่มันไม่สมบูรณ์ ข้าวมันก็มีคุณภาพไม่ดี ราคาก็ตกต่ำ แล้วต้นทุนการผลิตก็สูงอีก เพราะฉะนั้นอยากแนะนำว่าถ้าเราไปเรียนรู้ ว่าเราจะปลูกอย่างอื่นขายแทนจะทำได้อย่างไร การทำเกษตรไร่นาสวนผสมในพื้นที่ที่มันสูงจากพื้นที่ที่ทำนาได้ผลมาก ๆ จะทำยังไง จะปลูกพืชอะไรแทน พืชน้ำน้อยมั้ย อันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน และรัฐบาลต่อไปด้วย
ทั้งนี้ เพื่อจะมุ่งหวังให้ประเทศเราหลุดพ้นจากการที่เป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน
เรื่องที่ 2 ก็คือ ในการประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่เรียกว่า จี77 นั้น ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวน 134 ประเทศ ในสหประชาชาติ สิ่งที่ผมได้นำเสนอในที่ประชุมก็คือการน้อมนำหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยมากว่า 40 ปีแล้ว และก็เป็นหนทางที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตรงกับของสหประชาชาติในระยะ 15 ปีข้างหน้า รัฐบาลก็ได้ยึดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารประเทศ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมให้กับประชาชนได้ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย อันนี้ก็เล่าให้เขาฟังว่าเราดำเนินการมาได้อย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราก็มีความสำเร็จอยู่ ด้วยสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำไว้ให้
ความท้าทายของโลกปัจจุบันนี้มันมีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายใน ภายนอก ภายในก็ได้แก่ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมือง สังคม วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็จะเป็นเสมือนวัคซีน ช่วยคุ้มกัน สร้างความเข้มแข็งในตัวเอง ป้องกันผลกระทบจากภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ เป็นภูมิคุ้มกันสำหรับทุกคน เป็นความพอดี พอประมาณ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย บนพื้นฐานของเหตุผล ของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามสถานะ เพียงแต่เราต้องรู้เท่าทัน และข้อสำคัญคือต้องมีคุณธรรม ที่กล่าวไว้ว่า ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม
ในเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่รูปแบบของการพัฒนาที่สำเร็จรูปนะครับ เราต้องรู้จักการประยุกต์ นำมาใช้ตามความแตกต่างของสภาพแวดล้อม ของแต่ละภูมิประเทศ ของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยเองพร้อมจะแนะนำให้ความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนแนวคิด แนวปฏิบัติที่ผ่านมานั้น หลายประเทศนำไปใช้แล้ว ประเทศเลโซโท ประเทศติมอร์-เลสเต กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน จอร์แดน เซเนกัล และโมซัมบิก เป็นตัวอย่างเท่านั้น อีกหลายประเทศนะครับ และเราให้ทหารที่ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ได้มีทหารพัฒนาไปช่วยด้วยหลายประเทศ ปลูกพืชในพื้นที่น้ำน้อย เขตทะเลทราย เขาก็ลดความยากลำบากในเรื่องอาหารการกินได้บ้างพอสมควร เรามีการถ่ายทอดสร้างวิทยากรแนะนำต่อไป ทำให้ทุกประเทศร่วมมือกับเรา
ทุกกระทรวงขณะนี้นำไปใช้แล้ว และหลายประเทศส่งคนดูงานนะครับ ด้านการเกษตร การพัฒนา เช่น โครงการหลวง 4,000 กว่าโครงการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่เกษตรกรไทย บนพื้นฐานแนวทางการพัฒนา เช่น 1 ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ภาคเหนือ เกี่ยวกับพื้นที่เป็นภูเขา ที่ราบสูง แนวทางการบริหารจัดการป่าไม้ การอนุรักษ์ดินและน้ำ 2ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง ภาคใต้ เกี่ยวกับเรื่องการชะล้างหน้าดิน ความเสื่อมโทรมของดิน ดินเค็ม ดินเปรี้ยว 4 ศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ภาคตะวันออกนะครับ เป็นเรื่องการพัฒนาหมู่เกาะ หรือติดชายฝั่งทะเลให้บริหารทรัพยากรชายฝั่ง การประมงบ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 5 ศูนย์การศึกษาห้วยทราย ภาคกลางตอนล่าง เป็นการเปลี่ยนสภาพพื้นดินทะเลทราย ค่อนข้างแล้งมากเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศที่แห้งแล้ง เหล่านี้เป็นต้นนะครับ ผมเห็นว่า ประเทศสมาชิกหลายประเทศด้วยกัน อยู่ในประเภทที่มันมีความแตกต่างกันอย่างที่ผมกล่าว มักจะเลือกไปใช้ ไม่ใช่ใช้ได้ทั้งหมด ต้องประยุกต์บ้าง เหมือนที่เราประยุกต์ให้เหมาะสมพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคของเรา
ผมได้จุดประกายให้ทุกประเทศนะครับ หากเราส่งเสริมให้ทุกประเทศ ให้ประชาชนทุกประเทศ อยู่ดีกินดีนั้น เราต้อง รัฐบาลทุกรัฐบาลมีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ผมยกตัวอย่างนะครับแนวทางการทำงานแบบประชารัฐของเรา เป็นตัวอย่างเท่านั้นนะครับ จะดีหรือไม่ดี แล้วแต่ประเทศจะไปปรับประยุกต์ ของเราเริ่มได้ผลมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งชี้แจงว่า เป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน เอกชน ประชาสังคม ให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะทำให้เกิดบรรลุเป้าหมายการบริหารที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ผมแสดงให้กลุ่ม จี77 ได้มองเห็นว่า ประเทศไทยเราได้พัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับหลักคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ ค.ศ. 2030 คือ 15 ปี ต่อไป สหัสวรรษ ต่อไปนี้ ก็อาจจะสามารถเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เป็นการพัฒนาที่สร้างความเจริญ มีรายได้ คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น แล้วทำอย่างไรจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนะครับ ในประเทศเราก็ทิ้งใครไม่ได้ ในประเทศรอบบ้านก็ทิ้งกันไม่ได้อีกนะ เราจะจะต้องเจริญเติบโตแข็งแกร่งไปด้วยกัน ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาอยู่ก็แล้วแต่ ต้องช่วยกัน ในกรอบของความร่วมมือเหนือใต้ ต้องร่วมกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาได้ พยายามหากิจกรรมให้ตรงกันเป็นกลุ่ม ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้ก็ส่งเสริมสนับสนุนได้เหมือนที่รัฐบาลนี้กำลังทำในประเทศ ถ้าท่านไม่รวมกลุ่มกัน แตกแยกเป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นหมู่ เยอะแยะไปหมด มันสนับสนุนอะไรไม่ได้เลย ท่านต้องรวมกันให้ได้ ในกิจกรรมเดียวกัน ต้องรักกัน แล้วก็สามัคคีกัน เราจะได้เสริมสร้างขีดความสามารถให้ได้ ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่กัน ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหมด ใครเก่งก็ให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเขาเรียนรู้ เราต้องให้เขาดีขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาล ทุกประเทศที่มีต่อประชาคมโลก เราต้องแสวงหาความเหมือนในความต่าง ซึ่งจะเป็นพื้นฐาน และโอกาสที่สำคัญในการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ยั่งยืน ก็มีตั้ง 161 เป้าหมาย ใน 15 ปีข้างหน้า และมุ่งสู่พัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันบนโลกใบนี้
เรื่องต่อไปคือเรื่องการลงทุนโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การเชื่อมโยงกับโลกภายนอกนะครับ จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันทั้งในประเทศ และนอกประเทศด้วย อะไรที่เชื่อมโยงก็ต้องทำ เพราะเป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต เป็นการสร้างแรงจูงใจ เป็นการส่งเสริมการลงทุน เราต้องดำเนินการเชิงรุกบ้าง การค้าขายมันจำเป็นมีการเปิดตลาดใหม่ การเชื่อมโยงกับประชาคมโลกให้ได้ จะด้วยวิธีไหนก็แล้วต้องดำเนินการใหม่ทั้งสิ้นในปัจจุบัน รัฐบาลพยายามอย่างที่สุดด้วยความระมัดระวังไม่ว่าจะเป็นโครงการตามนโยบาย หรือว่าการเมือง การต่างประเทศเราจะต้องดำเนินการอย่างเป็นอิสระนะครับกับมิตรประเทศ ทุกประเทศที่เป็นเพื่อนเราด้วยความสมดุลบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ที่เท่าเทียม และทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่นั้นใช้อย่างจำกัดให้เกิดความสมดุลกับพ่อแม่พี่น้องด้วย
อย่าลืมนะครับ อีกเรื่องสำคัญก็คือเรื่องการศึกษา มันเป็นบ่อเกิดทุกอย่างความรู้ความเข้าใจ ความคิดที่มันเป็นระบบ เพราะฉะนั้นทุกคนในประเทศทั้ง 70 ล้านคน ถ้าเรายกระดับการศึกษาเหล่านี้ขึ้นมาได้ โดยไม่มีพื้นฐานนี้ขึ้นมา ทุกคนจะคิดคือมีหลักการ มีเหตุผล สามารถคิดกระบวนการเชิงวิเคราะห์ได้ อะไรได้เหล่านี้ ไม่ใช่ฟังมาแล้วก็เชื่อไปตามนู้นตามนี้ มันก็ทะเลาะกันอยู่แบบนี้ นี่แหละคือสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่มันก็ยากนะ มันต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งงบประมาณ ผมก็คาดหวังว่า 20 ปีข้างหน้า เราจะมีทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทยมั้ย ที่ทันสมัย เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ในการปฏิรูป 20 ปีของเรานั่นล่ะ ตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งจบปริญญา ที่ทำงานได้ เราจะได้คนรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อไปในโลกใบนี้ ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า ไม่งั้นเราไม่พร้อม ไม่เข้มแข็งเพียงพอ เพราะฉะนั้นเราต้องมีการพัฒนาคนอย่างทั่วถึง ผมย้อนกลับไปว่า ทุกอย่างในภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ตะวันตก ต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งคน ทั้งพื้นที่ ทั้งอาชีพ เรื่องอะไรทั้งหมด มันต้องเข้มแข็งเป็นภูมิภาค เสร็จแล้วก็จะเชื่อมโยงภูมิภาคนี้ต่อภูมิภาคโน้น ไม่ว่าจะการตลาด ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เชื่อมต่อออกไปนอกประเทศ ถ้าคิดแบบนี้มันก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่่จะเดินไปข้างหน้าของทุกกระทรวง แล้วก็จะมีการพูดคุยกันเรื่องงบประมาณว่าจะมายังไง ทำยังไงจะใช้งบประมาณอย่างประหยัด ก็ต้องบูรณาการร่วมกันในกิจกรรมหรืองานที่มันเป็นกลไกเดียวกัน ไม่อย่างนั้นทุกกระทรวงก็คิดงบประมาณมา แล้วมันไม่ต่อกัน ทุกคนก็ต่างคนต่างทำไป วันนี้ผมเจอปัญหานี้มาเกือบทั้งหมด
ผมอยากให้ช่วยกันพิจารณานะครับ ให้ความสำคัญด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การเลือกตั้ง ไม่มีใครเขาเจตนาที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหา ถ้าไม่จำเป็น เขาก็ไม่อยากจะเขียนให้มันวุ่นวายไปหมดหรอกนะ วันนี้เราต้องดูปัญหาของเรา การที่จะผ่านหรือไม่ผ่าน มันจะเกิดปัญหาต่อไป ก็ต้องช่วยกันแก้ไป ไม่อยากให้ทุกคนมาให้ขึ้นอยู่กับผมแต่เพียงคนเดียว ผมพยายามฟังท่านทั้งหมดอยู่แล้ว วันนี้เอาทุกท่านเข้ามา มาสู่ในกระบวนการ รับฟัง อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำยังไม่ได้ก็รอก่อน ไปอยู่ในแผนปฏิรูป อะไรที่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้มันสามารถทำได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่ว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แล้วผมจะไปควบคุมเขาใครเขาได้ 5 ปี ก็ผมไม่มีอำนาจแล้ว ผมจะไปคุมอะไรเขาตรงไหนได้ หรือผมจะไปอยู่ตรงไหนที่มันจะคุมได้ มันไม่มีหรอกครับ เพราะมันเป็นประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้ง มันก็ต้องอยู่ในกลไก สภา อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราต้องได้ทุกคนที่มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ เข้าใจสถานการณ์เมื่อก่อน แล้วก็ปัจจุบัน อนาคตของโลกใบนี้ ทั้งอาเซียนด้วย อะไรด้วย จะทำยังไง บทเฉพาะกาลที่ว่าทุกๆ คนก็พยายามจะหาว่าสืบทอดอำนาจ ก็เขาเขียนไว้เพื่ออะไรล่ะ กฎหมายลูกเขาเขียนไว้เพื่ออะไร เพื่อให้มันทำได้ไง ถ้าทำไม่ได้มันจะ ... มันไม่มีประโยชน์ ทุกอย่างที่ผ่านมา 2 ปีกว่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้นเลย มันล้มทั้งหมด แล้วผมถามว่า แล้วไม่สงสารคนจนเหรอครับ คนที่ยากไร้ ผู้ประกอบการที่เขาถูกรังแก ไม่ได้รับเข้าพิจารณาในการแข่งขันโดยเสรี หมด เดือดร้อนกันหมด วันนี้พยายามทำให้ได้มากที่สุด ยังมีปัญหาเลย หลายคนก็ได้บ้าง หลายคนก็ไม่ได้ แต่ผมถามว่าที่ผ่านมามันไม่ได้เลยใช่มั้ยล่ะ วันนี้ผมทำให้บางส่วนได้ บางส่วนมันต้องคอยก่อน ก็ว่ากันไปสิครับ เนี่ย รัฐบาลหน้าก็ต้องทำแบบนี้ มันจะได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง อย่างที่เขาบอกว่าจะเอาที่ดิน แต่นำไปสู่การปฏิบัติไม่ได้ ข้าราชการทำไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ ผมให้กำลังใจข้าราชการทุกกระทรวงนะครับ
ถ้าเราจะมองเรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว สิทธิเสรีภาพอย่างเดียว หรือเรื่องอำนาจ การเข้าสู่อำนาจ การบังคับใช้กฎหมายอะไรก็แล้วแต่ หลายคนพยายามจะพูดแบบนี้ แต่ผมไม่เห็นมีใครพูดออกมาเลยว่าเราจะทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุขได้อย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม เกิดความเท่าเทียมได้อย่างไร ผมไม่เห็นมีใครพูดอย่างนี้เลย มีแต่ผมเนี่ยพูด แล้วผมก็โดนตำหนิทุกวัน ผมถามว่ามันผิดหรือเปล่าที่ผมพูด แล้วผมทำด้วยไง เพราะฉะนั้นทหารพูดอะไรแล้วก็ต้องทำนะ แต่มันมีช่องทางกลไกต่างๆ ก็ไปหาช่องทางกันมา เรื่องกฎหมาย ฝ่ายกฎหมายก็ทำไป เรื่องการบริหารประเทศ มันก็มี ส.ว. ส.ส.ว่าไป เรื่องของอะไรที่มันมีปัญหา ที่จะต้องไปสู่ความขัดแย้งบ้าง มันก็ต้องหยุดตั้งแต่เริ่มต้น บางทีทุกอย่างมันปล่อยให้จนบานปลายไปหมด แล้วก็กลับมาแก้ไข แล้วจะมาบอกว่าทำไมต้องปฏิวัติ ท่านย้อนกลับไปดูซิว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา 86 ปี ของการมีประชาธิปไตยไทย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะผ่านประชามติ มันก็ต้องผ่านประชามติ เพราะความแตกต่าง เพราะทุกคนอยากมีการปฏิรูปทำนองนี้นะ ถ้าแบบเดิมก็ไม่ต้องไปเขียนให้เสียเวลา มีการเลือกตั้งที่สุจริต ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลมาบริหารประเทศ ระยะแรกเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มีการป้องกันและมีมาตรการแก้ไข ไม่ให้เกิดปัญหาทับซ้อนอย่างเดิมขึ้นมาอีก หรือปัญหาที่ทำให้เกิดมีวันนี้ ผมก็ไม่อยากให้มีอยู่แล้วนะ ทำยังไงจะให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง
อย่าไปฟังคนที่สูญเสียอำนาจหรือคนที่มีความผิด ก็จะกล่าวอ้างเสมอ ผมอยากให้ผ่านด้วยประเด็นเหล่านี้ แต่ถ้าไม่ผ่านผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เพราะทุกคนก็อยากเลือกตั้ง ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมไปบังคับท่านอีก หรือขู่ท่าน ไม่ใช่ จะผ่านหรือไม่ผ่านผมอยากให้ทุกคนใช้วิจารณญาณ ใช้เหตุใช้ผล ในการตัดสิน เพราะท่านเป็นคนลงคะแนน ลงประชามติหรือเลือกตั้งก็แล้วแต่ท่าน หนึ่งเสียง หนึ่งคน นี่เขาเรียกว่าหลักการประชาธิปไตยขั้นต้น ทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์ในเรื่องประชาธิปไตย ออกไปทำประชามติ ออกไปเลือกตั้ง ไม่ใช่ออกไปเลือกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งไม่ออก ให้กลุ่มนี้ กลุ่มนั้น ขัดแย้งกันไปทั้งหมด
ผมอยากให้ทุกคนออกไปทำประชามติ เลือกตั้ง จะออกผลมายังไง ก็ต้องช่วยกัน ผมว่าอย่ามาทะเลาะกันอีกต่อไปเลย เรื่องที่เราบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศอยู่แล้ว มีบางอย่างที่มีความแตกต่างก็พัฒนา และปฏิรูปอย่างยั่งยืนไง เพราะเรายังไม่เกิดตรงนั้น ซึ่งก็ต้องมีบ้าง เราไม่ได้ทำสิ่งที่เกิดในประเทศต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาแล้วมาคิดดู แล้วอะไรที่เรายังแย่อยู่ อะไรที่เราต้องพัฒนา อะไรต้องปฏิรูป อะไรที่ต้องเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว นั่นคือสิ่งที่ต้องมาใส่ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น แล้วทำยังไงรัฐบาลจะทำ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวกำหนดชี้วัดอนาคตให้กับประเทศไทย ลูกหลานไทยทุกคน ไม่ใช่ว่าตามนโยบายพรรค หาเสียงอย่างเดียว แล้วเป็นยังไงบ้างล่ะครับ วันนี้มันคนจนเยอะไหม เดือนร้อนเยอะไหม เข้มแข็งไหม ประเทศชาติ เศรษฐกิจเป็นยังไง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าผมเข้ามาบริหารมันถึงแย่ มันแย่มานานแล้วด้วย เผอิญมันโชคดีมั้ง ต่างประเทศรู้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ตกต่ำขนาดนี้ วันนี้ทุกประเทศตกหมดไปดูสิ ผมไม่อยากจะบอกว่า เราตกน้อยกว่าเขา ยังไงมันก็ตก มันก็ไม่ดี ผมพยายามทำให้มันดีไง และคงสภาพให้ได้ ก็ไปชดเชยตรงที่มันตกด้วยอย่างอื่นเข้าไปแทน เช่น ราคาเกษตรมันตกต่ำ ก็เริ่มทำเป็นโครงการแปรรูปเป็นสู่การผลิต ไปจ้างงาน ไปหางานให้เขาทำ มันก็มาใช้มาตรการการเงินด้วย ผมถามว่าไม่มีใครคิดทำแบบนี้หรอกมั้ง ที่ผ่านมาไม่ได้คิดหรอกครับ มาเป็นชิ้นๆ หมด นี่สามารถจัดกลุ่มให้เลย อันไหนคือบรรเทาความเดือดร้อน อันไหนคือชั่วคราว อันนี้ระยะกลาง อันนี้ระยะยาว งบประมาณต้องใช้แบบนี้ มันก็ไปด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ใช้โครมๆ หมด เงินหมดไป แล้วอนาคตอยู่ไหน ลงทุนอยู่ที่ไหน ไม่เกิดซักอัน เต็มไปหมด
เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนนั้น เอาสิ่งที่ผมพูด ถ้าคิดว่ามันถูก เอาเป็นหลักในการพิจารณา แล้วก็ตัดสินใจ ท่านต้องใช้คะแนนเสียงของท่านอย่างไร ให้มองใกล้ๆ ก่อนว่า การใช้สิทธิในระบอบประชาธิปไตย มันก็คือทุกคนมีสิทธิเท่ากันทั้งหมด ผมก็มีสิทธิเท่ากับท่านแหละ 1 เสียงเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านเพื่อผมอยู่ในอำนาจ เป็นการเปลี่ยนผ่านสิ่งที่รัฐบาลนี้ คสช. ทำไว้ให้ท่าน และเรียกว่าเปลี่ยนผ่าน อันนั้นคนละเรื่องกัน รัฐบาลคือรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจการบริหารคนละเรื่อง เพราะฉะนั้น ก็จะได้ต่อไป ถ้าเป็นไปได้จะเลือกตั้งผู้แทน ผมบอกแล้วไง ตามโรดแมป ตามนั้น ไม่ได้จะทำยังไง ทุกคนต้องช่วยกันนะครับ พิจารณาให้ถ่องแท้ และเข้าใจกันบ้าง เหตุผลความเป็นมา และมาตรการลดความเสี่ยง เหล่านี้ เป็นความท้าทายนะครับ ของคนไทยทุกคน ทำได้ หรือไม่ได้ สำเร็จ หรือไม่ ไม่ใช่ผมคนเดียว เป็นผลประโยชน์คนทั้งชาตินะครับ อย่าให้มีการชี้นำบิดเบือนทางที่ผิด มีหลักการเหตุผลที่ดีพอ ขจัดการซื้อเสียงให้ได้โดยเด็ดขาด จำไว้ และรังเกียจคนที่ซื้อสิทธิขายเสียง หรือทุจริตนะครับ อย่าให้มีส่วนร่วมในการบริหารแผ่นดิน รัฐบาลอีกต่อไป ด้วยวิธีการตามกฎหมายนะครับ ตามสากลเขาว่าไง ก็ตามนั้น และให้ทุกคนรังเกียจหัวคะแนน ที่ไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุงตัวเอง ยังเป็นหัวคะแนนอีกต่อไป ผมว่าใช้ไม่ได้ ทุกคนมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น อสม. ทั้งหมด ทุกกระทรวงนะ มีมวลชนจำนวนมาก ไม่ใช่หัวคะแนน ให้ดูแลประชาชนนะครับ เข้าใจด้วย
จุดมุ่งหมายสุดท้ายของเรา ถ้าเราบริหารช่วงเปลี่ยนผ่าน จาก 5 ปี อาจจะดีขึ้นใน 1 ปี ดีแล้ว 2 ปี ก็ดีแล้ว 3 ปี ก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าตั้งไข่ได้แล้ว พอรัฐบาลต่อไป มันก็เป็น 5 ปีต่อไป ไม่มีใครยุ่งกับท่านอีกแล้ว ทำให้ได้แล้วกัน เราจะได้เป็นประเทศไทยที่มีประชาธิปไตยที่สง่างาม มีศักดิ์ศรี ทุกคนมีความสุข ไม่ขัดแย้งกลับสู่สังคมไทยที่มีวัฒนธรรมดีงามนะครับ รักสามัคคี งดงาม เราจะปล่อยให้ประเทศชาติตกอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี ไม่เคารพกฎหมายอีกต่อไปเหรอครับ เราปล่อยปละละเลย นานเกินพอแล้ว
สำหรับตลาดคลองผดุงกรุงเกษม วันที่ 5-27 มีนาคมนี้ เป็นเรื่องการจัดงานในหัวข้อ งานวิจัยรายได้ ภายใต้แนวคิด ร้อยงานวิจัยสร้างไทยยั่งยืนได้อย่างไร เป็นการนำผลิตภัณฑ์จากองค์ความรู้การวิจัยท้องถิ่นที่รัฐบาลนี้กำลังขับเคลื่อนอยู่ทั้งหมด เก็บตกต่างๆ ทั้งหมดมาขับเคลื่อนสู่ภาคการผลิตให้ได้ มาจำหน่ายให้ได้ จัดแสดงในงานนี้ มีหลายอย่างมาก เพื่อจะยกระดับสินค้าชุมชนให้สามารถทัดเทียมนานาประเทศ ไม่เก็บงานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่มีการต่อยอด จะต้องส่งเสริมขยายผลในการพาณิชย์ เช่น นักประดิษฐ์ นักวิจัย นักออกแบบ ไม่งั้นทุกคนไม่มีกำลังใจหมด ไม่มีรายได้จากการวิจัยเลย ประดิษฐ์ก็ไม่ได้ อะไรไม่ได้ และเราขาดแคลนคนเหล่านี้ เพราะไม่มีรายได้ที่มากพอ แค่ขอทุนผลิตเสร็จก็เพิ่มทุนวิทยฐานะเสร็จจบแล้ว รัฐบาลจะทำอะไรก็ทำ
วันนี้ผมควักทุกวัน หลายพันรายการนะ หลายอย่างที่เรามีดีอยู่ ไม่ใช่ต้องสร้างแข่งกับประเทศอื่นๆ ที่แพงๆ ใหญ่โต ทันสมัยมากเกินไป สิ่งที่เราใช้ในประเทศทุกคนวัน ซื้อเขาได้ไง เราต้องผลิตเอง ไม่ได้ยากอะไรเกินไป ยิ่งเครื่องมือการเกษตร ผมเห็นทำได้ตั้งเยอะแยะ วันนี้ ก็แก้ไขกฎระเบียบการใช้งบประมาณให้อุดหนุนได้แล้ว แต่ต้องผ่านมาตรฐาน เร่งดำเนินการนะครับ เราจัดให้มีการพบปะผู้ประกอบการ นักลงทุน สิ่งประดิษฐ์กับอุตสาหกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการวิจัย การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการแสดงผลงานวิจัยไปสู่กระบวนการผลิตเชิงสังคม เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาวิชาชีพ นักประดิษฐ์ไทย เป็นต้นนะครับ รวมทั้งแสดงผลงานวิจัยกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม หัตถกรรม งานฝีมือ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม รวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานทางเลือกด้วยนะครับ เราผลิตเอง ใช้เองด้วยก็ดีนะครับ และวันหน้าจะได้ขยายไปต่างประะเทศ มีรายได้เข้ามาประเทศ เราขายของ ขายพืชเกษตรกรรมอย่างเดียวคงไม่ไหว
ขอเชิญชวนพี่น้องนะครับ ขอเชิญทุกคนมาช้อปปิ้ง ไม่ช้อปปิ้งก็ได้ มาดูเฉยๆ จะได้ภูมิใจประเทศไทย ผลิตเอง และเราจะได้ไม่ซื้อที่อื่น ราคาก็ถูกกว่า มีการรับประกัน มีการซ่อม ผมอยากให้ทุกคนภูมิใจ ผมเห็นแล้วผมก็ภูมิใจ ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนได้ทำไว้ และวันนี้ เราได้ส่งเสริมใหม่ให้มากขึ้น วันนั้นผมไปอเมริกา ก็ไปเจอนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ทำงานอยู่ เกี่ยวกับเรื่องขององค์การนาซ่าด้วย ได้ผลิตคิดค้นเสาอากาศไปดาวอังคาร ผมยินดีที่จะส่งเสริมการวิจัยในประเทศไทย พร้อมที่จะให้ความรู้ เอาวิชาความรู้ที่เขากำลังใช้อยู่ในต่างประเทศเป็นอาชีพรายได้ กลับมาพัฒนาสู่ประเทศไทยนะครับ ผมจะได้ให้มีการเชื่อมต่อกับคณะกรรมการลงไปแล้ว ธุรกิจกับต่างประเทศ ขอให้นักเรียนนักศึกษาได้ขึ้นมาดูด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชีวะด้วย เทคนิค เทคโนฯ อะไรต่างๆ มาดูเพื่อจะได้เกิดแรงบันดาลใจว่า เออไอ้นี่เราน่าจะทำได้ ทำไมเราต้องไปคิดเรื่องอื่นๆ เสียเวลา จะได้เลิก เลิกอะไร ใช้สมองไร้สาระ
เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เกิดความภาคภูมิใจทุกคนก็รักเรา ไม่ใช่เขาก็กลัวเรา กลัวนี่กลัวนู้นกลัวทะเลาะกัน กลัวใช้อาวุธ กลัวอะไรไม่ใช่แล้ว ต้องนึกรักเรา อาชีวะทุกโรงเรียนต้องให้คนรักทุกโรงเรียน รักทุกคน ถ้าทะเลาะกันไปไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้นเลย ประเทศชาติเสียหาย พ่อแม่พี่น้องต้องเสียใจ และคนก็ไม่รักท่าน แล้วยังไงมันจะไปยังไง ท่านเป็นพระเอกหรือไง สู้กัน ยิงกัน ตีกันแล้วชนะกันได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้อะไรซักอย่าง วันหน้าท่านก็ต้องหนี เดี๋ยวท่านต้องแก้แค้น กฎหมายนะครับ ผมบังคับเรื่องกฎหมายเต็มที่ต่อไปนี้
เพราะฉะนั้นอยากให้ท่านมาร่วมรับผิดชอบ ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนประชารัฐของรัฐบาลนะครับ สุดท้ายนี้ช่วงปิดเทอมของลูกหลาน ผมอยากแนะนำกิจกรรมยามว่างให้กับลูกหลาน สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองได้พิจารณาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จากประสบการณ์ต่างๆ ที่เราจัดหาไว้ให้ ใช้สำหรับการศึกษานอกโรงเรียน จากพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยได้นำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในวิชาความรู้ประวัติศาสตร์ของชาตินั้น มาเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราต้องเรียนรู้อดีตนะครับ เพื่อจะสร้างอนาคต เพราะอดีตคือปัจจุบันและคืออนาคต ผมเคยพูดหลายครั้งแล้ว ได้มีการจัดค่ายกิจกรรมเยาวชนต่างๆ ก็ขอให้เสริมความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสะเต็มศึกษา ไม่ใช่สเต็มเซลล์ สะเต็มศึกษาเมื่อกี้พูดไปแล้ว จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และคู่คุณธรรม ได้แก่ ค่านิยมหลัก 12 ประการ และความรัก ความศรัทธา ความเชื่อมั่นในสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งได้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้แก่ลูกหลานของเราด้วย ขอให้ทุกคนภูมิใจช่วยกันปฏิรูปประเทศนะครับ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปถึง 20 ปีข้างหน้า ผมจะมีส่วนร่วมกับท่านด้วยในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งเท่านั้นเอง 1 เสียง ในการเป็นประชาธิปไตยไทยในอนาคต ขอบคุณครับ สวัสดีครับ