•พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกลในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวม
•ทรงคาดการณ์แนวโน้มในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยพระปรีชาสามารถในการทรงงานด้านข้อมูล บุคคล สิ่งแวดล้อม ประเพณีนิยมในท้องถิ่น ลักษณะภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยา ผนวกเข้ากับพระราชดำริอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
พระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รอบด้าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ อย่างละเอียดรอบด้านแล้วประมวลเข้าด้วยกัน ผ่านการวิเคราะห์ กลั่นกรอง เลือกสรร และผสมผสานเชื่อมโยงบูรณาการอย่างรอบคอบ มีเหตุผล เพื่อค้นหาส่วนที่เป็นประโยชน์เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ในลักษณะองค์รวม หรือการมองอย่างครบวงจร จึงทำให้ทรงเข้าใจในภาพรวมของสถานการณ์ และนำไปสู่การทรงคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
ดัวยพระปรีชาสามารถดังกล่าวทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประมาณ 4,000 โครงการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นอกจากเป็นการช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง มีความเป็นเอกภาพและมั่นคง
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานให้หน่วยงานและชุมชนรับไปปฏิบัติสะท้อนพระราชวิสัยทัศน์ที่ทรงเข้าถึงปัญหาของประเทศอย่างลึกซึ้ง ทรงตระหนักถึงลักษณะเฉพาะของประเทศที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นในโลก จึงทรงเลือกและพระราชทานแนวทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์
ดังตัวอย่างการดำเนินงานโครงการตามพระราชประสงค์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงแสวงหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดี เมื่อทรงเห็นว่าโครงการนั้นดำเนินงานได้อย่างมีผลดีมีประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงานต่อไป เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ โครงการหลวงพัฒนาชาวไทยภูเขา เป็นต้น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายจึงครอบคลุมการพัฒนาหลายสาขาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและศีลธรรมของราษฎรให้ดีขึ้นในลักษณะยั่งยืน ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง อันจะเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ
สิ่งแวดล้อม ชุมชน พัฒนาอย่างสัมพันธ์กัน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัดคือ ด้านเกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำและป่าไม้ การส่งเสริมอาชีพ และสวัสดิการสังคม
เริ่มจากด้านเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพรรณพืช ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช รวมทั้งพรรณสัตว์ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ ปลา และสัตว์ปีก เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนและใช้ต้นทุนไม่สูงเกินไป
ที่สำคัญคือ พรรณพืช พรรณสัตว์ และเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยพระราชประสงค์ให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะด้านอาหาร ทรงเน้นให้ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยเพียงพอกับการบริโภคของแต่ละครัวเรือน และหากมีส่วนเหลือจากบริโภคจึงนำไปจำหน่าย
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิคและวิชาการเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ซึ่งมีความหมายต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่นและของประเทศด้วย
สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา มีการนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาใช้ประโยชน์โดยมิได้วางแผนจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่จึงเป็นการช่วยทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ ทรงตระหนักว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
โดยมีการอนุรักษ์ต้นน้ำและพัฒนาป่าไปพร้อมๆ กัน และจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้ในที่สุด นอกจากนี้ จากการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหามลพิษจากน้ำเน่าเสียที่มีปริมาณสูงขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขน้ำเสีย ด้วยการพระราชทานแบบเครื่องจักรกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าบนทุ่นลอย ให้กรมชลประทานนำไปวิจัยและจัดสร้างขึ้น เรียกว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และหลังจากนำไปทดสอบปรากฏผลว่าเป็นที่พอใจ จนได้รับลิขสิทธิ์และการรับรองจากทั่วโลกว่าเป็นเครื่องกลที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม อีกทั้งยังได้รับการถวายรางวัลเครื่องประดิษฐ์ดีเด่นจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2536
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเผาถ่าน นอกจากนี้ การเร่งการดำเนินงานบางโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน สร้างเขื่อน ทำให้มีการตัดไม้ ป่าไม้ลดลงตามลำดับ บางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของป่าไม้ จึงทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมเพื่อป้องกันอุทกภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น โครงการปลูกป่าทดแทน โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
การส่งเสริมอาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่มักทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง
ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงเป็นการช่วยเหลือให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ เช่น โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์การพัฒนา โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก และโครงการศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่
สวัสดิการสังคม เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น แหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค เพื่อให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น พออยู่พอกิน และดำรงชีวิตด้วยความผาสุก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำนวัตกรรมด้านการพัฒนามาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงกำหนดสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงในเรื่องของขั้นตอนการดำเนินการ การจัดแบ่งหน้าที่ การปรับปรุงกระบวนการ ตลอดจนการวัดและประเมินผล
จะเห็นว่าแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้และพระราชทานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาล้วนเป็นสิ่งใหม่ในกระบวนการพัฒนาสังคมไทย ตั้งแต่การกำหนดแผนงาน แผนเงิน แผนคน และการประเมินผลโครงการ โดยผลของงานมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์เป็นอันดับแรก และทรงเน้นความร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน เพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำเร็จอย่างสมบูรณ์