ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดชลบุรี จัดพิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ซึ่งหน่วยงานของรัฐ และเหล่าข้าราชการได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติในการพัฒนาแรงงานไทยให้มีฝีมือ ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และมาตรฐานสากล
วันนี้ (2 มี.ค.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อีเทค) อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และทูลเกล้าขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงด้วยพระปรีชาสามารถด้านการช่างอันเป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่ทรงประดิษฐ์ของเล่นเมื่อครั้งทรงพระเยาว์วัย จนถึงเรือใบที่ทรงใช้แข่งขันในกีฬาแหลมทอง กังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนทรงตั้งโรงเรียนพระดาบส เพื่อสอนวิชาชีพให้แก่เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสทั่วไป และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่าง ของสโมสรโรตารี่ ณ ลุมพินีสถาน
พร้อมทั้งทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทยความตอนหนึ่งว่า “ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการ หรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่วัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่ายในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งจะต้องปรับปรุง ให้มีความประณีต และประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ”
กระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เป็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้า และบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะพระราชทานไว้เป็นเวลาผ่านมาถึง 45 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ และนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหน่วยงานของรัฐ และเหล่าข้าราชการได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติในการพัฒนาแรงงานไทยให้มีฝีมือ ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และมาตรฐานสากล พร้อมทั้งจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมโลกในอนาคตอีกด้วย