สนช.ติดใจตั้งบิ๊กข้าราชการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ รมช.คลัง แจงมีกฎหมายควบคุมไม่ต้องกังวล
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (4 มี.ค.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณากระทู้ถามของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. เรื่องปัญหาข้าราชการระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนจากบริษัทเอกชน ที่ถามนายกรัฐมนตรีซึ่งมอบหมายให้นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายวัลลภกล่าวว่า การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ ในองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนแห่งใดแห่งหนึ่ง และมักเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวพันกับการได้ผลประโยชน์จากองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ข้าราชการระดับสูงผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ เช่น คณะกรรมการปิโตรเลียม คณะกรรมาการบริหารบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ปตท. คณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น ซึ่งมักเป็นที่วิจารณ์ว่าข้าราชการเหล่านี้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ที่ไปเป็นคณะกรรมการด้านการเงินหรือด้านพลังงานบางราย และยังเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการด้านพลังงาน จึงมีความสงสัยว่ากำไรจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นมีผลโดยตรงต่อเบี้ยประจำเดือน เบี้ยประชุม และโบนัสของกรรมการ
ทั้งนี้ ถือเป็นรับประโยชน์หรือผลตอบแทนจากบริษัทเอกชน เป็นการขัดกับหลักธรรมาภิบาล จึงขอถามว่า ข้าราชการระดับสูงที่ไปดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในองค์กรหรือรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารบริษัทเอกชน มีมากน้อยเพียงใด เกิดปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และรัฐบาลมีแนวทางหรือนโยบายที่จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายวิสุทธิ์ชี้แจงว่า การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการต่างๆ ในองค์การหรือรัฐวิสาหกิจเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ซึ่งยอมรับมีช่องว่างหรือช่องโหว่ แต่ไม่ได้ผิดกฎหมายเพราะได้เปิดช่องว่างไว้ เช่น คนที่จะเป็นกรรมการในบริษัทลูกหรือบริษัทคู่สัญญาของรัฐวิสาหกิจนั้น
ทั้งนี้ คนที่ไปนั่งต้องได้รับมอบหมายคณะกรรมการจากบริษัทแม่ ในเรื่องที่ข้าราชการระดับสูงไปทำหน้าที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทลูกนั้น มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฏีกาเมื่อปี 2539 ระบุว่า รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรของรัฐต้องมีระบบควบคุมเพื่อให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการสนองประโยชน์และนโยบายของรัฐ การตั้งคนไปเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเป็นวิธีการควบคุมอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกรรมการตามกฎหมายหรือการแต่งตั้งจึงมี 2 บทบาท คือ เป็นกรรมการบริหารและเป็นการปฏิบัติงานควบคุมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นการควบคุมกำกับด้วย
อย่างไรก็ดี รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการกำกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีทรัพย์สินใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ โดยได้เข้ามากำกับและดูแล เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เห็นว่ามากเกินไปก็ได้มีการปรับลดให้เข้ากับภารกิจของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ และยังเข้าไปดูเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจหรือโฮลดิ้งเสร็จเรียบร้อยแล้วกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งร่างดังกล่าวจะมีการแยกแยะหน้าที่ นโยบาย การบริหารงาน ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทับซ้อนชัดเจน มีกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีนักการเมืองเข้ามาเป็นกรรมการ แต่ในร่างนี้มีกรรมการสรรหาเพื่อให้ได้กรรมการที่เหมาะสมไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน