xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จช่วง-ธัมมชโย-สรยุทธ มาตรฐานคนละเรื่องเดียวกัน !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้ แม้ว่าจะมีสถานะต่างกัน แต่กลายเป็นว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในที่นั่งเดียวกัน นั่นคือ แรงกดดันจากกระแสสังคม ถูกตั้งคำถามในเรื่องของ “ความเหมาะสม” เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างหนัก ขณะเดียวกัน กรณีที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์พลังทางสังคม ว่า จะวางเฉย หรือว่าร่วมมือกันจัดการกับความไม่ถูกต้องได้อย่างไรบ้าง หรือว่าจะปล่อยให้ “ลอยนวล” แบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างจะค่อย ๆ เงียบหายไปตามกาลเวลาอย่างนั้นหรือ

หากไล่เรียงกันไปทีละกรณี ก็จะเห็นภาพชัดเจน เริ่มจาก “สมเด็จช่วง” หรือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีพรรษาสูงที่สุด มีความอาวุโสสูงสุด และได้รับการเสนอชื่อจากมติมหาเถรสมาคมให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งทุกอย่างก็น่าจะจบ น่าจะทำตามขั้นตอน แต่กลายเป็นว่า “สมเด็จช่วง” คนนี้กำลังถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิติเตียนถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะวัตรปฏิบัติที่ “ไม่งาม” ไม่สมกับว่าที่ประมุขของสงฆ์ที่ต้องมีภาพในเรื่องของความสมถะ ไม่ยึดติดอยู่กับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ของมีค่าทั้งปวง แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างกลับเป็นตรงกันข้าม มีแต่ความหรูหรา มีรสนิยมแปลก ๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ โดยเฉพาะรสนิยมการสะสมรถยนต์โบราณที่คลาสสิกหรูหรา

ล่าสุด ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เข้ามาตรวจสอบรถยนต์โบราณยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ขม 99 ที่มีชื่อครอบครองโดย สมเด็จช่วง ได้สรุปว่า มีความผิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำเข้า การจดประกอบ การจดทะเบียนเสียภาษี และมีการปลอมแปลงเอกสาร และกลายเป็นคดีอาญาที่จะต้องดำเนินการกันต่อไป

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสถานที่ตั้งแสดงของรถโบราณดังกล่าวที่อยู่รวมกันอีกหลายคันภายใน “มหาเจดีย์มหารัชมงคล” ที่มีมูลค่าก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท เรียกว่าหรูหราอลังการงานสร้าง

คำถามก็คือ นับจากนี้ไป สมเด็จช่วง จะต้องถูกสอบปากคำ และในที่สุดอาจต้องถูกดำเนินคดีอาญา อย่างไรก็ดี ยังมีความพยายาม “ตัดตอน” นั่นคือ ความพยายามจะทำให้ไม่มีความผิด โดยอ้างว่า เขาไม่เกี่ยว มีลูกศิษย์ถวายรถมาให้ ซึ่งในทางคดีความก็อาจเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่คำถามก็คือ “เรื่องความเหมาะสม” คำถามก็คือ พระสงฆ์ แบบนี้หรือที่สมควรจะมาเป็น “พระสังฆราชองค์ใหม่” พระที่มีรสนิยมในการ “สะสมกิเลส” เป็นคำถามที่สังคมต้องการเห็น “จิตสำนึก” รู้จักละวาง ไม่ยึดติด ไม่ใช่ดันทุรังอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมันคนละเรื่อง

กรณีของ “ธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่กำลังพัวพันอยู่กับคดีเช็คบริจาคจากผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น กว่า 700 ล้านบาท อาจถูกดำเนินคดีในข้อหา “รับของโจร” ในไม่ช้า ซึ่งในเรื่องตัวบุคคล คือ ธัมมชโย ก็เกี่ยวข้องกับ สมเด็จช่วง เป็นพระอุปัชฌาย์ มีการเกื้อหนุนกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังคมรับรู้กันดี นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “ลิขิตสมเด็จพระสังฆราช” ที่ให้ ธัมมชโย ปาราชิก พ้นจากความเป็นพระไปตั้งนานแล้ว นี่ก็อีกหนึ่งในความไม่เหมาะสม ซึ่งในกรณีนี้ก็มีการต่อสู้เรื่องข้อกฎหมาย มีการเบี่ยงเบนอ้างเรื่องกฎหมาย หรืออ้างว่าเป็นเรื่องเก่า ไม่มีการนำเรื่องมาพิจารณาหรือว่าคดีตกไปนานแล้ว

สำหรับกรณีล่าสุด ที่ต้องเป็นกรณีศึกษา นั่นคือ กรณีที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดังในข้อหา “โกง” ค่าโฆษณาบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และจับตามองจากสังคมว่าในที่สุดแล้วกรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้ “คนโกง” ได้ลอยนวล แบบลอยหน้าลอยตากันตามปกติต่อไปหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมไทยมีความตื่นตัว และมีความรู้สึกรังเกียจกับพฤติกรรมการโกง และรู้เท่าทันกับกลโกงของคนพวกนี้หรือไม่ รวมไปถึงองค์กรทางสังคมว่าจะร่วมมือกันจนมีพลังกันแค่ไหน หรือว่า “ดีแต่พูด” หรือว่าวางเฉย ไม่รู้ไม่เห็นกันแบบเดิมต่อไป แน่นอนว่า ข้ออ้างของคนพวกนี้ก็เหมือนเดิม คือ อ้างว่า “คดียังไม่สิ้นสุด” ทุกอย่างต้องว่ากันไปตามขั้นตอนต่อไป และที่สำคัญถึงกับอ้างหลักการว่า เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด สรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ยังบริสุทธิ์ ซึ่งก็อ้างแบบนั้นได้ หากเป็นบุคคลทั่วไป บุคคลที่มีสถานะทางสังคมอื่น ๆ

แต่สำหรับบุคคลที่เป็นสื่อ มีการพูดให้โก้เก๋ว่า “กรรมกรข่าว” คนพวกนี้ถือว่ามี “สถานะพิเศษ” จำเป็นต้องพูดถึง “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่ต้องสูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย เหมือนกับที่สื่อเคยเรียกร้องจริยธรรม กับ นักการเมือง กับข้าราชการระดับสูง เพราะคนแบบนี้ถูกหน่วยงานอิสระ อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่กรณีที่เกิดขึ้นถูกศาลตัดสินจำคุกถึง 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แม้ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น แต่ก็มีการลงโทษในอัตราที่สูงมาก ต้องมีความชัดเจนทางพยานหลักฐาน ที่สำคัญ นี่คือ “เรื่องโกง” ที่จะทำแบบ “หยวน ๆ” กันได้ เพราะสิ่งที่ต้องดำเนินการ ก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้คนแบบนี้ลอยนวล ต้องไม่ปล่อยให้องค์กรที่สนับสนุนยืนอยู่ได้ รวมไปถึงต้องบอยคอตสินค้าที่ยังลงโฆษณากับรายการแบบนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดี เริ่มมีปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นเกิดขึ้น นั่นคือ กระแสต่อต้าน บอยคอตเริ่มรุนแรง และจริงจัง มีหลายหน่วยงาน บริษัทห้างร้านบางแห่งเริ่มเคลื่อนไหว องค์กรสื่อมีการตื่นตัวพูดจากันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

ดังนั้น ถ้าจะพูดว่ากรณีของ สมเด็จช่วง ธัมมชโย และ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะเป็นคนละเรื่อง แต่ก็เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” เพราะเกี่ยวข้องกับความเหมาะสม กับ “สถานะ” ของพวกเขาที่ต้องมีสูงกว่าคนทั่วไป ไม่ต้องมาพูดถึงกันเรื่องความผิดทางกฎหมาย เพราะนาทีนี้สิ่งที่ต้องพิจารณากันมันไปไกลมากกว่าจะมาอ้างเรื่องถูกผิดกันแล้ว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น