“สมบัติ” ค้านไม่นับบัตรผู้ไม่ลงคะแนน-บัตรเสีย “บรรเจิด” ชี้รัฐอยากให้เลือกตั้งตามโรดแมปจึงปรับเงื่อนไขอ่อนลง แนะยิ่งเข้ม รธน.ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปธ.กรธ.รับดีแล้วนับคะแนนแต่คนมาใช้สิทธิ คาดไม่กลับไปให้ ส.ว.เลือกนายกฯ รับข้ามพิจารณาหมวดรัฐสภา เตรียมสรุปสาระสำคัญและภาพการ์ตูนอธิบาย รธน.เผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์
วันนี้ (2 มี.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า กล่าวถึงแนวคิดการประชุมร่วมระหว่าง ครม.กับ สนช. ถึงการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดเงื่อนไขการทำประชามติ โดยให้ใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้ไปใช้สิทธิ โดยไม่นับบัตรเสียและบัตรผู้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วยว่า ตนเห็นว่าไม่ควรจะแยกส่วนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนและบัตรเสียออกไป โดยควรจะให้ถือเสียงข้างมากที่เกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมดเป็นตัวชี้ขาด จึงจะทำได้น้ำหนักของผู้ออกเสียงประชามติอย่างแท้จริง
ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวว่าหากเปรียบเทียบกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้อง ว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 50% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดก่อน เช่น มีผู้มีสิทธิออกเสียง 44 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคนเป็นเงื่อนไขแรกก่อน แล้วจึงมาดูว่าเสียงข้างมากออกเสียงอย่างไร จึงจะถือว่าการออกเสียงประชามติครั้งนั้นมีผลบังคับใช้ ดังนั้นถือว่าเงื่อนไขใหม่นี้อ่อนด้อยกว่า
“เงื่อนไขการทำประชามติหากยิ่งเข้ม ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านออกมาจะยิ่งสูง ตรงกันข้ามหากเงื่อนไขยิ่งอ่อน ความศักดิ์สิทธิ์น้อยก็จะทำให้อายุการใช้งานของรัฐธรรมนูญยิ่งสั้นลง คงเป็นเพราะรัฐบาลอยากให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแมปให้ได้จึงปรับเงื่อนไขให้อ่อนลง” นายบรรเจิดกล่าว
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า กรณีนี้ถือว่ามีความชัดเจนแล้วว่าการนับคะแนนประชามติจะใช้หลักเสียงข้างมาก ซึ่งการปรับแก้ไขก็จะได้ไม่มีการถกเถียงกันอีก ซึ่งถือว่าดีแล้ว เพราะจะเป็นการนับเฉพาะเสียงข้างมากของคนที่ออกมาใช้สิทธิเท่านั้น เพราะคนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิหรือนอนอยู่บ้าน เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจึงเอามานับไม่ได้ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลจะไปรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติกันให้มากอีกด้วย
ส่วนข้อเสนอให้ ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ยังไม่ได้คิดเลย แต่เคยมีในอดีตนานแล้ว เป็นลักษณะประชุมร่วมกัน แต่คงไม่กลับไปถึงขนาดนั้นแล้ว
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อยากให้มีการสรรหา ส.ว.ชุดแรก นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ยังพิจารณาไปไม่ถึงส่วนนี้ดังนั้นคงไปให้ความเห็นไม่ได้ เดี๋ยวไว้ถึงแล้วจะมาบอก เมื่อถามต่อว่าข้อเสนอนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ ครม.โดยเฉพาะข้อ 16 นายมีชัยกล่าวว่า คงต้องไปถามคนที่พูด มาถามคนฟังจะไปรู้ได้อย่างไร
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อพิจารณาเสร็จก็จะทบทวนต่อในหมวดองค์กรอิสระและหมวดอื่นๆ ตามลำดับ โดยเราพิจารณาตามที่มีข้อเสนอปรับแก้ไขเข้ามา ขณะที่หมวดรัฐสภานั้นที่ประชุมได้ข้ามการพิจารณาตรงนี้ไปก่อน ส่วนการรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นทาง กรธ.จะเป็นเจ้าภาพในการทำหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสาระที่สำคัญที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า มีข่าวว่าทาง กรธ.จะมีการซื้อพื้นที่ของสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่บทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัยกล่าวว่า เขาพูดกันว่าเวลาเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหายาวนั้นเป็นร้อยมาตรา เวลาพิมพ์แจกประชาชนก็ต้องแจกทุกคนมันก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าถ้าทำแบบนี้ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองเป็นพันล้าน กระดาษก็ไม่พอ จึงขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ให้แจกทุกคน ก็เลยมีคนแนะนำว่านอกจากเผยแพร่ทางเว็บแล้ว กกต.ก็อาจไปซื้อเนื้อที่ของสื่อเพื่อให้ชาวบ้านได้อ่านได้ แต่ทางกระทรวงมหาดไทย บอกว่าวิธีที่ดีที่สุดคือไปไว้ตามหมู่บ้านๆ ละ 5 ฉบับทั่วประเทศ ประมาณ 70,000 แห่ง รวมก็จะพิมพ์เนื้อหาแจก 300,000 กว่าฉบับก็น่าจะพอทำได้ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการเสนอว่าจะทำเช่นไรที่จะเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ แต่ กรธ.มีแนวคิดว่าถ้าเป็นแบบนั้นก็ควรให้ กรธ. สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแบบสั้นแจกชาวบ้านก็น่าจะช่วยทำให้ประชาชนได้เปิดความเข้าใจได้มากกว่า ก็เลยขอเวลาว่าหลังจากที่ กรธ.ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ววันที่ 29 มี.ค. หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน กรธ.จะจัดทำเล่มสรุปสาระสำคัญและภาพวาดการ์ตูนอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เล่มขนาดเล็กประมาณ 5-10 หน้า แล้วซื้อโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์แนบไปด้วย เพื่อให้ประชาชนพกพาไปอ่านได้ง่าย