xs
xsm
sm
md
lg

“บรรเจิด” หวั่นร่างรัฐธรรมนูญขาดดุลยภาพ เกิดวิกฤตศาลรัฐธรรมนูญซ้ำรอยปี 49

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรเจิด สิงคะเนติ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด บวรศักดิ์ ชี้ ร่างรัฐธรรมนูญยุคมีชัย ให้ความสำคัญกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ มาก ขาดดุลยภาพระหว่างประชาชนกับรัฐ และไม่มีดุลยภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เหมือนรถยนต์ที่เสียศูนย์ หวั่นเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญจะเกิดวิกฤตเหมือนปี 2549 แนะควรให้น้ำหนักไปที่การปฏิรูปประเทศ

วันนี้ (23 ก.พ.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ มาก อาจจะดูปัญหาเฉพาะแต่ไม่ได้ดูดุลยภาพแบบระยะยาว จนทำให้ไม่มีดุลยภาพ คือ 1. ขาดดุลยภาพระหว่างประชาชนกับรัฐ เพราะไม่ให้ความสำคัญในมติอำนาจของประชาชนเลย

2. ไม่มีดุลยภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพราะไม่มีกลไกให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานรัฐบาล ทำให้ระบบรัฐสภาไม่มีดุลยภาพ เพราะไปให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาประเทศ แต่ไม่ทำกลไกในรัฐสภา ในการถ่วงดุล ตรวจสอบ เพื่อแก้ปัญหา และ 3. ไม่มีดุลยภาพระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องการกระจายอำนาจ และเมื่อเกิดปัญหาก็จะกลับมาสู่ส่วนกลางเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะมีการมองดุลยภาพของทุกฝ่าย ไม่ให้อำนาจไปอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นข้อพิจารณาของ กรธ. ในการสร้างดุลยภาพทั้งหมด หากเป็นอย่างนี้อยู่ก็จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ทำให้ภาคประชาชนไม่มีอำนาจ ภาครัฐไปให้อำนาจองค์กรตรวจสอบ และภาคการเมืองถูกกำกับ จนทำให้เสียศูนย์ เหมือนรถยนต์ที่เสียศูนย์

“การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างมากนั้นไม่เห็นแนวความคิดว่าเพิ่มขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะไม่พยายามสร้างกลไกในทางการเมือง กลไกทางรัฐสภามาแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายผลที่จะตามมาคือไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลก็จะไปที่ศาล ทั้งที่เรื่องการเมืองควรให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบถ่วงดุล หรือให้อำนาจองค์กรอื่น รวมทั้งให้อำนาจประชาชน ไม่ใช่อะไรก็โยนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากวันหนึ่งศาลนี้โดนเจาะก็จะเกิดเป็นวิกฤตอีก วันนี้คิดว่าฝ่ายการเมืองไม่ดี เลยให้ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เอาปัญหา 108 ของบ้านเมืองไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด คิดว่าในอนาคตก็จะเกิดปัญหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกิดวิกฤตศาลรัฐธรรมนูญเหมือนในปี 2549 อีก ซึ่งจะกลายเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์” นายบรรเจิด กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการทำประชามติหรือไม่ นายบรรเจิด กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูวันที่ 29 มี.ค. ที่จะถึงนี้ก่อนว่า ข้อกังวลในหลาย ๆ เรื่องนั้น กรธ. จะมีการแก้ไขมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญควรให้น้ำหนักไปที่การปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่รากฐานของปัญหาอย่างแท้จริง โดยวันนี้รัฐบาลสามารถทำการปฏิรูป วางแนวทางได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ เพราะผ่านมาแล้ว 2 ปียังไม่ไปไหน มีแต่แพลนนิ่งแต่กลับไม่มีแอคชั่นเรื่องการปฏิรูปเลย

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐธรรมนูญจะต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นายบรรเจิด กล่าวว่า ก็ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น