กกต.เตรียมออก พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ก่อนนำเสนอ ครม. ระบุเนื้อหาคล้าย พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2552 แต่เพิ่งความชัดเจนทั้งในเรื่องการนับคะแนน วิธีการตัดสิน รวมถึงบทกำหนดโทษที่ปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่การวิจารณ์ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ให้ข้อมูลเท็จ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า หลังจากได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้เห็นพ้องตรงกันว่าให้นำร่างประกาศ กกต.หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... มารวมเป็นฉบับเดียวกันโดยเรียกว่าร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เพื่อรับทราบ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายสมชัยกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจำเป็นต้องล้อจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ดังนั้น กระบวนการจึงจำเป็นต้องรอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เสร็จเรียบร้อยก่อน กฎหมายประชามติจึงจะต่อเนื่องไปได้ แต่เบื้องต้นได้เตรียมการในเชิงคู่ขนานเพื่อไม่ให้เสียเวลาและสามารถทำได้ทันภายในกำหนดคือมีผลบังคับใช้ช่วงประมาณต้นถึงกลางเดือนเมษายนนี้
“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 แต่หลายเรื่องจะมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น วิธีการนับคะแนน วิธีการตัดสิน รวมถึงบทกำหนดโทษที่ปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งอาจมีการนำเทคโนโลยีมาทำผิดกฎหมายได้”
นายสมชัยกล่าวอีกว่า กฎหมายที่ กกต.ออกมานั้นขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต่อการแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ตามปกติทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ การรณรงค์ด้านใดด้านหนึ่งสามารถกระทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย คือ ไม่มีการกล่าวร้าย ให้ความเท็จ ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ หรือขัดขวางกระบวนการต่างๆ เป็นต้น