xs
xsm
sm
md
lg

พณ.หนุนแผนผลิตข้าวครบวงจร งบหมื่นล้าน กษ.มุ่งลดข้าวนาปรัง พัฒนานวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (แฟ้มภาพ)
ปลัดพาณิชย์แจง นบข.เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร วงเงินรวมกว่า 10,000 ล้าน ทำงานแบบประชารัฐ เป้าหมายผลิตข้าว 25 ล้านตันข้าวเปลือก ด้าน กษ.เตรียมออก 4 มาตรการรองรับ จ่อชง ครม.ใช้งบกลาง 59 กว่า 3,000 ล้าน ลดปริมาณข้าวนาปรัง ช่วยกระบวนการผลิต พัฒนานวัตกรรมข้าว เน้นตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง เจาะแอฟริกา

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พร้อมด้วยนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่ามีการเสนอแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าว ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ระยะเวลา 6, 12 และ 18 เดือนตามลำดับ และทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

น.ส.ชุติมากล่าวว่า ในกระบวนการดำเนินการนั้นคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดข้าวที่มี รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ นบข.เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ผลิต ตลอดจนอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อจัดทำแผนฯ ขึ้นมา ซึ่งตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เมื่อผลิตข้าวออกมาแล้วมีคุณภาพดีและได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดโลก

น.ส.ชุติมากล่าวถึงวิธีดำเนินการว่า ได้พิจารณาและพบว่ามีปัญหา 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านอุปสงค์-อุปทาน ไม่สมดุล 2. ด้านความเป็นธรรม ในแง่ที่ราคาที่สะท้อนการผลิตของเกษตรกร 3. ด้านการถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม 4. ด้านมาตรฐาน 5. ด้านการจัดการ และ 6. นวัตกรรมข้าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ซึ่งจะต้องพิจารณาตลาดนำการผลิต แยกตลาดที่เน้นปริมาณออกจากตลาดที่ต้องการคุณภาพเฉพาะ การปรับโครงสร้างการลิตให้เหมาะสม และการสร้างความเป็นธรรมให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมและทำให้ได้แผนฯ ออกามาเป็น 3 ระยะ

โดยในปี 2559 นี้ ได้กำหนดปริมาณการผลิตข้าวไว้ที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก จากปีที่ผ่านที่มีปริมาณการผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ 31.2 ล้านตัน ฝ่ายผลิตโดยกระทรวงเกษตรฯ ได้รับไปดำเนินการ จะต้องมีการพิจารณาภาพรวมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ และคำนึงถึงปริมาณน้ำ นอกจากนี้ยังต้องให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ออกมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมออกมาตรการไว้ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. มาตรการพักที่ดิน ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป้าหมาย 500,000 ไร่ 2. มาตรการปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป้าหมาย 300,000 ไร่ 3. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กับนาแปลงใหญ่ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เตรียมปล่อยกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เวลาชำระคืน 1 ปี โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.9 และ 4. มาตรการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โดยทั้ง 4 มาตรการจะใช้งบกลางของปี 2559 รวม 3,315 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มทำในรอบการผลิตที่กำลังจะถึงนี้ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ลดปริมาณการปลูกข้าวลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยแผนฯ ทั้งหมดแม้ว่าจะไม่สามารถบังคับเกษตรกร แต่จะเป็นการจูงใจโดยเสนอทางเลือก ช่วยทั้งในระดับการผลิต การจัดการ การเก็บเกี่ยวและการตลาด ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาพบว่าปริมาณการบริโภคข้าวลดลงอย่างมาก จาก 190 กก.ต่อคนต่อปี ลดเป็น 100 กก.ต่อคนต่อปี จึงจำเป็นจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งข้าวไม่ได้ทานแล้วอ้วนเพียงอย่างเดียว และว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามให้เป็นไปตามแผนฯ แบ่งเป็น 29 คณะทำงาน โดยมีผู้ตรวจราชการของพาณิชย์ เกษตรฯ และมหาดไทยเป็นหัวหน้า

“เราทำงานแบบประชารัฐ เอาทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร มาร่วมคิดร่วมทำออกมาเป็นแผนนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลให้แผนนั้นขับเคลื่อนไปได้ให้บรรลุเป้าหมาย เป็นการทำงานแบบใหม่” น.ส.ชุติมากล่าว

ด้านนางดวงพรกล่าวว่า สำหรับตลาดการค้าที่สำคัญจะเน้นที่ ตลาดเอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลาง และจะพยายามเจาะตลาดแอฟริกาให้เพิ่มมากขึ้นด้วย และกล่าวถึงการรายงานเรื่องประมูลข้าวต่อที่ประชุม ทั้งในรูปของการประมูลเป็นการทั่วไปและการประมูลสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีการเปิดประมูล 5.7 แสนตัน คาดว่าสามารถประมูลได้รวม 362,000 ตัน คิดเป็นปริมาณ 65% ของปริมาณที่ออกประกาศ ปริมาณที่ขายนั้นหมายถึงต้องมีการเสนอราคาสูงสุดในการประมูลซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับได้ แม้ราคาที่เสนอสูงสุดหากไม่ถึงเกณฑ์ก็จะไม่มีการขายออกไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม นบข.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยใช้งบประมาณรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เป็นเงิน 3,315 ล้านบาท โดยจะขอใช้งบกลางของปี 2559 นี้ และในส่วนของพาณิชย์รวม 6,764 ล้านบาท ซึ่งจะใช้จากงบประมาณปกติที่ได้รับจัดสรรมา


กำลังโหลดความคิดเห็น