เมืองไทย 360 องศา
“เบื้องต้นได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วว่า จากการตรวจสอบพยานหลักฐานเอกสารพบว่ารถคันดังกล่าวมีการนำเข้าผิดกฎหมาย แต่เมื่อพบว่ารถมีความผิดก็ต้องไปดูว่าผิดอย่างไร ซึ่งอธิบดีดีเอสไอจะเป็นคนแถลงชี้แจงในรายละเอียดทั้งหมด ส่วนผู้ครอบครองจะมีความผิดหรือไม่นั้น จะมีขั้นตอนแต่ละขั้นตอน คือพนักงานสอบสวนก็จะดูว่าผู้ครอบครองรถรู้หรือไม่ จงใจหรือไม่ ซึ่งตรงนี้อธิบดีดีเอสไอจะเป็นผู้ชี้แจงให้ทราบ”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบรถยนต์โบราณยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ ขม 99 ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมแถลงข่าวคดีรถหรูโบราณของสมเด็จช่วงในวันที่ 18 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ ดีเอสไอก็จะแถลงคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งมีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเกี่ยวข้องในเรื่องรับเช็คบริจาคด้วย
หากพิจารณาจากคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ชี้ว่า “สมเด็จช่วง” ครอบครองรถโบราณผิดกฎหมาย เลี่ยงภาษี สรุปว่า “มีความผิด” เพียงแต่ว่าเขารอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบโดยตรงคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นฝ่ายแถลงรายละเอียดเองในวันที่ 18 กุมภาพันธ์เท่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ย่อมต้องทำให้ “สมเด็จช่วง” เกิด “ความมัวหมอง” ซึ่งคงไม่ใช่เป็นแบบที่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนสนับสนุนคนสำคัญพยายามบิดเบือนว่าสมเด็จช่วงถูกใส่ร้ายป้ายสีเพื่อขัดขวางไม่ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักฐานและที่สำคัญต้องอธิบายกับสังคมได้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นต่างหาก
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมกันก็คือ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ น่าจะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะตามรายงานระบุว่านอกจากจะมีการแถลงรายละเอียดของคดีสมเด็จช่วง เกี่ยวกับการครอบครองรถยนต์แบบผิดกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหนึ่งคดีที่เป็นแบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” นั่นคือคดีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่เกี่ยวโยงกับ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่เกี่ยวข้องกับการรับเช็คบริจาคอีกด้วย เพราะที่บอกว่าเกี่ยวข้องกันก็ในฐานะที่มีการสถาปนาเป็นวัดพี่วัดน้องกัน และทั้งสองฝ่ายก็มีการอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งกันและกันมาตลอด ดังนั้นจึงน่าลุ้นอย่างยิ่งว่าอีกคดีหนึ่งที่เกี่ยวกับคดีรับเช็คเงินบริจาคของ พระธัมมชโย วัดพระธรรมกายในวันเดียวกันนี้ผลจะออกมาอย่างไร ถ้าผิดก็ถือว่า “โดนสองเด้ง” กันเลยทีเดียว นั่นคือผิดทั้งสมเด็จช่วง และพระธัมมชโย อย่างไรก็ดีต้องรอฟังการแถลงออกมาอย่างเป็นทางการก่อน
แต่สำหรับ “สมเด็จช่วง” เส้นทางข้างหน้า หลังจากสิ้นเสียงของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ระบุว่ามีความผิดในคดีครอบครองรถยนต์โบราณ ถือว่า “สะดุดหยุดกึก” ลงทันที เพราะนี่คือความ “ด่างพร้อย” ที่พระเถระจะถูกนำเสนอขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ไม่ได้เป็นอันขาด นอกเหนือจากเรื่องต้นตอความขัดแย้งในสังคมที่กำลังลุกลามบานปลายออกไปเรื่อยๆ
ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นคนละเรื่องกับ “คนห่มเหลือง” ก่อม็อบเสนอกดดันให้เสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นเป็นพระสังฆราชพระองค์ใหม่โดยเร็ว แต่ก็มีความเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งกลุ่มสงฆ์และกลุ่มการเมือง เพราะเมื่อพิจารณาตามเส้นทางจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือพวกเดียวกัน นั่นคือ สมเด็จช่วง-วัดพระธรรมกาย-เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจากเหตุการณ์ก่อม็อบดังกล่าวกลายเป็นว่า “ภาพติดลบ” ในสายตาคนไทยไปในที่สุด
แน่นอนว่าไม่สวยงามอย่างยิ่งหากนาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอชื่อขึ้นไป เพราะแนวโน้มก็ต้องเป็นไปตามคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ ที่กล่าวเอาไว้ว่าหากยังไม่เรียบร้อย ยัวมีความขัดแย้งกันอยู่แบบนี้ก็ตืองพิจารณาให้รอบคอบ ต้องรอก่อน อะไรทำนองนี้แหละ เพราะเป็นการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องละเอียดรอบคอบ
ดังนั้น หากพิจารณาเพียงแค่บรรยากาศความขัดแย้ง และภาพที่ออกมาเป็นลบของบรรดาที่เรียกตัวเองว่า “สงฆ์” ก่อม็อบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจะสร้างความเสียหายและเกิดภาพเป็นลบแล้ว ล่าสุดหากมีเรื่องครอบครองรถยนต์โบราณผิดกฎหมายผสมโรงเข้ามาอีกมันก็ต้องบอกว่าเส้นทางข้างหน้าต้อง “สะดุดกึก” คงไปต่อไปได้ แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกรรมนั่นแหละ!!