xs
xsm
sm
md
lg

ได้ฤกษ์จ่าย 120 ล้าน พม.แจงช่วยเหยื่อม็อบปี 56-57 พรุ่งนี้ ล็อตแรกช่วงสงกรานต์ - ปี 53 ยังไม่แตะ รอ ปปช.ตัดสิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ได้ฤกษ์จ่าย 120 ล้านบาท ล็อตแรกแจกเงินช่วงสงกรานต์ ผู้ได้รับผลกระทบเหตุทางการเมืองปี 56 - 57 “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” แถลงหลักเกณฑ์พรุ่งนี้ เปิดลงทะเบียนยื่นคำร้องรับเงินเยียวยา 17 ก.พ.- 17 มี.ค. 59 คาดใช้ตัวเลข สรุปของสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 868 ราย จ่ายจริงตามมติ ครม. ตายญาติรับ 4 แสนบาท ส่วนปี 47 - 53 ยังไม่แตะ รอความชัดเจนจาก ป.ป.ช.

วันนี้ (14 ก.พ.) มีรายงานว่า ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมฯ จะแถลงข่าวเปิดรายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556 - 2557 ภายหลังเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 58 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 120 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับผิดชอบดำเนินการ

นางขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ได้ประชุมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณการผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556 - 2557 ซึ่งเป็นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 868 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 840 ราย

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนยื่นคำร้องรับเงินเยียวยา ระหว่างวันที่ 17 ก.พ.- 17 มี.ค. นี้ โดยในกรุงเทพฯ เปิดลงทะเบียนที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม.ต่างจังหวัดลงทะเบียนที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด

สำหรับเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาเป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้เสียชีวิต 400,000 บาท ผู้ทุพพลภาพ 200,000 บาท ผู้บาดเจ็บสาหัส 100,000 บาท บาดเจ็บ 60,000 บาท และบาดเจ็บเล็กน้อย 20,000 บาท ซึ่งจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์คู่ขนานไปกับการเปิดลงทะเบียน ทั้งการยื่นให้ 20 กระทรวง ตรวจสอบว่าผู้ได้รับผลกระทบมีคดีความทางการเมืองที่ยังไม่สิ้นสุดคดีหรือไม่ รวมถึงส่งเรื่องถึงคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองพิจารณาอนุมัติ หากเห็นชอบก็ส่งรายชื่อขออนุมัติงบกลางจากสำนักงบประมาณ ซึ่งคาดว่าเร็วสุดจะสามารถเบิกจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบชุดแรกภายในปลายเดือน เม.ย. นี้

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงิน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2547- 2553 และระหว่างปี 2556 - 2557 ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ย้ำว่า รัฐบาลจะพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง และเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการเยียวยาคนเหล่านี้ โดยการเยียวยาจะแยกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างปี 2547 - 2553 และระหว่างปี 2556 - 2557 แต่จำเป็นต้องนำช่วงเวลาระหว่างปี 2556 - 2557 ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะปลอดภัยกว่า ไม่เหมือนช่วงระหว่างปี 2547 - 2553 ที่การพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งอาจไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยนัก เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ ชี้ว่า นายกฯ และ ครม. ขณะนั้นมีความผิด

ส่วนช่วงระหว่างปี 2547 - 2553 รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้นำมาพิจารณา โดยเกรงว่าจะทำผิดซ้ำอีก ควรหยุดเอาไว้เพื่อรอให้มีความชัดเจนจาก ป.ป.ช. ก่อน (คดีเยียวยาเสื้อแดง 577 ล้าน)

สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ช่วงระหว่างปี 2556 - 2557 รัฐบาลได้นำบทเรียนจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้วางหลักเอาไว้มาพิจารณา และเอาหลักเกณฑ์และกฎหมายที่มี มาเป็นฐานรองรับ ประกอบด้วย กฎหมาย 4 ฉบับ และ 1 หลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544, พ.ร.บ. สงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ พ.ร.บ. สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2543 รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจ่ายมาแล้วมาเป็นตัวตั้ง

“ไม่ได้มโนหรือจินตนาการไปว่าเอาไปเลย 7 ล้านบาท สำหรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ในกรณีเสียชีวิตจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิตและมีบุตร ต้องมีการสงเคราะห์บุตรด้วย ส่วนกรณีได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหล่านี้ ต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน” นายวิษณุ กล่าวไว้เมื่อคราวที่แล้ว


มีรายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลได้ส่งหนังสือถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยเนื้อหาระบุว่า พระสุเทพ ปภากโร (ในขณะนั้น) หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ปี 2556 - 2557 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ดำเนินการชดเชยเยียวยาในส่วนที่เป็นตัวเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2556 - 2557

ส่วนแกนนำ กปปส. ได้ยืนยันว่า มีการชุมนุมด้วยความสงบตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ควรได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ ส่วนรัฐบาลจะเยียวยาเท่าไหร่นั้น รัฐบาลต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะตามหลักเกณฑ์เดิมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มีการปรับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท ดังนั้น ผู้สูญเสียจึงสมควรได้รับการเยียวยาเหมือนในอดีต เพราะการเยียวยาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความปรองดอง


กำลังโหลดความคิดเห็น