ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบ 58 ที่ใช้จ่ายไม่หมดเฉียด 8 พันล้านเป็นงบกลาง “วิษณุ” แจงต้องออกกฎหมาย ชี้ภาพรวมจ่ายไป 80% สื่อว่าใช้งบไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ต้องสร้างวินัยปฏิรูปการคลัง ส่งสัญญาณต้องใช้งบตามเป้า ทำไม่ได้ล้างท่อโอนส่วนกลาง ยกเป็นบทเรียน ก่อน สนช.เห็นชอบ แจงงบเยียวยาบึ้มกลางกรุงมีหลายด้าน รวมกันมากพอสมควร
วันนี้ (20 ส.ค.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญคือ การโอนงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ใช้จ่ายไม่หมดในบางรายการ จำนวนเงินเกิน 7,917,077,700 บาท ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้นายกฯ หรือรมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายดังกล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อดึงงบจากหน่วยงานต่างๆไปยังงบกลาง เนื่องจาก ครม.ไม่สามารถออกมติหรือมาตรการใดในเวลานี้ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2552 บัญญัติห้ามโอนงบจากหน่วยงานต่างๆไปงบอื่นได้ เว้นแต่จะอาศัยความใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และจะมีการจัดสรรไปยังหน่วยงานอื่นๆที่มีความจำเป็นและเชื่อว่าจะสามารถทำได้ และบางกรณีอาจโอนย้อนหลับไปให้ส่วนราชการเดิมในกรณีที่มีการอภิบายโครงการมาเป็นรูปธรรม โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายโอนงบประมาณอีกเพราะเป็นการจ่ายจากงบกลาง ตอนนี้จวนจะสิ้นปีงบ58 พบว่า รายจ่ายลงทุนมีการเบิกจ่ายไปเพียง 56 เปอร์เซ็นต์ ภาพรวมรายจ่ายทั้งหมดที่เบิกไปเพียง 82 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่มีเวลาเหลือประมาณ 1 เดือนเศษ แสดงว่าการนำงบไปใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ แม้จะพยายามกันอย่างถึงที่สุดในหน่วยงานต่างๆ ก็ตาม ปัญหาน่าจะมาจากการบริหารจัดการ รัฐบาลแจ้งมาตลอดว่าต้องการให้มีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ แม้จะมีการเร่งรัดแต่ก็มีการเหตุไม่สามารถเบิกซื้อจัดจ้างได้ตามกำหนด จึงจำเป็นต้องสร้างวินัยการคลังและปฏิรูประบบการคลัง จึงต้องส่งสัญญาณว่างบเหล่านี้รัฐสภาได้จัดไว้แล้ว เป็นหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ต้องใช้ให้ได้ตามกำหนดหรือเป้าหมาย
“เมื่อใช้ไม่ได้ก็ต้องมีมาตรการอื่นมาแทน คือการโอนงบออกมาไว้ส่วนกลาง หรือที่เรียกว่า “ล้างท่อ” แล้วนำน้ำที่ได้ไปปล่อยออกท่ออื่นต่อไป การออกกฎหมายโอนงบประมาณลักษณะนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี หลังจากที่เคยออกไปแล้วครั้งหนึ่ง และรัฐบาลไม่หวังว่าจะต้องออกกฎหมายโอนงบประมาณในลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 อีก ถือเป็นบทเรียนสำคัญของหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรต่างๆ ต้องระมัดระวังในอนาคต”
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.เห็นชอบหลักการในวาระแรก และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณา 3 วาระรวด และให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 176 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยนายกฯ จะเร่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาในวาระแรก พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ สนช.ได้สอบถามถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ใช้งบประมาณส่วนใดมาช่วยเหลือ ซึ่งงบเยียวยาที่ตั้งไว้อาจจะน้อยเกินไป ซึ่งนายวิษณุ ชี้แจงว่า กรณีเหตุร้ายที่แยกราชประสงค์ รัฐบาลได้เตรียมการเรื่องเงินชดเชยไว้หลายด้าน ได้แก่ 1. การหาตัวผู้ก่อเหตุ 2. การวางมาตรการไม่ให้เหตุร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีก 3. การเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ 4. การประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อขอความร่วมมือจากคนไทยให้ร่วมมือกันชี้เบาะแส และหามาตรการป้องกัน 5. การสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนเงินเยียวยานั้นมีกฎระเบียบแยกเป็น 2 กรณี ทั้งการเยียวยาชาวต่างประเทศ และคนไทย ซึ่งจำนวนเงินที่ พล.ต.ท.บุญเรืองหยิบยกมาเป็นงบที่ตั้งไว้สำหรับการเยียวยาโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันยังมีงบเยียวยาจากกระทรวงอื่นๆ อีก อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม เมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีจำนวนมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งานรับไปบูรณาการงบเยียวยาทั้งหมดแก่ผู้ประสบภัยต่อไป