xs
xsm
sm
md
lg

มติบอร์ด สปสช.ยื่นอุทธรณ์กฤษฎีกาตีความ สปสช.ทำงานขัด กม.ตั้งคณะทำงานหาระเบียบช่วยเหลือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. มีมติอุทธรณ์หลังกฤษฎีกาตีความการทำงาน สปสช. ขัดกฎหมาย 4 เรื่อง จ่ายเงินเยียวยาผู้ให้บริการ ค่าใช้จ่ายประจำ รพ. ค่าตอบแทนล้างไต ใช้งบส่งเสริมฯพัฒนาบุคลากร ขณะที่จ่ายเงินมูลนิธิที่ไม่ใช่หน่วยบริการทำได้ หวั่นกระทบหน่วยบริการ ตั้งคณะทำงานหาระเบียบช่วยเหลือระยะสั้น เผยระยะยาวอาจต้องแก้ไข พ.ร.บ.

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สปสช. กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเนื้อหาการดำเนินงานของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า จากกรณีที่บอร์ด สปสช. มีความเห็นแตกต่างจากข้อเสนอของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เรื่องการบริหารงบประมาณต่าง ๆ 5 ประเด็น ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงให้ไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าขัดกับระเบียบของกฎหมาย 4 ประเด็น คือ 1. การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากการบริการ 2. การนำงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนนอกเวลา ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น  3. การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง และ 4. การใช้เงินส่งเสริมป้องกันโรคพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข ส่วนที่ไม่ขัดกับกฎหมายคือการสนับสนุนเงินให้แก่มูลนิธิ องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การตัความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นการพิจารณาตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งหลังจากตีความมา ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ขอให้ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกามาร่วมหารือกับสธ. และ สปสช. เพื่อช่วยกันหาทางออก ไม่ใช่ไปต่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเดียว เพราะดูตามกฎหมาย ซึ่งระยะสั้นอาจต้องปรับระเบียบ โดยตนได้แต่งตั้ง นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงานหาทางช่วยเหลือเรื่องปรับระเบียบ โดยให้ไปดูในเรื่องมาตรา 3(12) ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด คาดว่า ภายใน 1 เดือนจะหาแนวทางพร้อมช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งอาจออกเป็นระเบียบช่วยเหลือ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีทั้ง สธ. สปสช. และผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยระหว่างรอการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ให้ใช้จ่ายงบตามเดิมไปก่อน ยังไม่ต้องหยุดให้เงินตามคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เพราะจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมดได้ หากมีอะไร ตนในฐานะประธานบอร์ดฯ ขอรับผิดชอบเอง  ส่วนกรรมการในบอร์ดก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนอะไรที่ไม่ชัดก็ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

“ในระยะยาวอาจต้องมีการปรับ พ.ร.บ. ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจาก พ.ร.บ. นี้ ใช้มาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกันมาตลอด แต่มีหลายคนไม่เข้าใจไปต่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งที่ก็ช่วยกันหาทางแก้ไข และอยากย้ำว่าไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบกับใคร” รมว.สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น