xs
xsm
sm
md
lg

เรตเงินเยียวยาผู้ประกันตนเสียหายทางการแพทย์ต่ำกว่า “บัตรทอง” ไม่รวมคลอดบุตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกันสังคม เผย อัตราเงินเยียวยาผู้ประกันตนได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ไม่สูงเท่าสิทธิบัตรทอง อยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการด้านแพทย์พิจารณาไม่ให้กระทบกองทุน ชี้ไม่รวมการคลอดบุตร เหตุให้เงินเหมาจ่ายไปทำคลอด ความเสียหายไม่เกี่ยวกับกองทุน หนุนร่าง พ.ร.บ. ผู้เสียหายฯ

วันนี้ (27 ต.ค.) นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาอัตราการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 63(7) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านการแพทย์ ว่า อัตราการจ่ายเงินเยียวยาว่าจะให้เท่าไร คาดว่า น่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แต่ไม่น่าจะสูงถึง 4 แสนบาท เท่ากับมาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2541 ที่จ่ายให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าการเพิ่มความช่วยเหลือตรงนี้เพียงแค่ต้องการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียหายบ้าง จากที่ไม่ได้เคยได้รับการเยียวยาเลย ดังนั้น อัตราที่จ่ายจะต้องไม่เป็นภาระกับกองทุน สปส. จนเกินไป

“ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะนี้มาก่อน เพิ่งจะพิจารณาให้มี อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดพลาด ประมาทเลินเล่อของแพทย์ หรือของโรงพยาบาลเอง” เลขาธิการ สปส. กล่าวและว่า ส่วนกรณีการคลอดบุตรนั้นไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 63 (7) แต่จะใช้ระบบเหมาจ่ายอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้ง โดยให้เงินไป 1 ก้อน แล้วผู้ประกันตนสามารถไปทำคลอดเองที่ไหนก็ได้ เมื่อเกิดความเสียหายอะไรขึ้น ผู้ประกันตนก็ต้องพิสูจน์กับทางโรงพยาบาลเอง เพราะ สปส. ไม่ได้เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ. ... อยู่ ซึ่ง สปส. ก็เห็นด้วย และถ้า พ.ร.บ. ดังกล่าวสามารถออกมาได้จริง สปส. อาจจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะยังคงมาตรา 63 (7) เอาไว้อยู่หรือไม่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น