สะเก็ดไฟ
แม้จะมีข้อทักท้วงบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ปลีกย่อย ไม่ได้มีการท้วงติงในกรณีอื่นๆ ทั้งเรื่องที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เหมือนที่นักการเมืองและฝ่ายต้านวิพากษ์วิจารณ์
ดังนั้น มันก็ชัดแจ้งแดงแจ๋แล้วว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่ถูกอกถูกใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
และดูท่าหลังจากรับข้อเสนอแนะ และความเห็นต่างๆ ในวันที่ 15 ก.พ.นี้แล้ว ซือแป๋มีชัย และทีมงาน กรธ. คงจะปรับแก้กันไม่ได้มากมายอะไร โดยเฉพาะเรื่องที่ฝ่ายการเมืองขยาด และมาตราที่ถูกคนนินทาหมาดูถูกว่าเป็นการต่อท่ออำนาจของฝ่ายเผด็จการ ก็น่าจะอยู่ครบ สังเกตจากอารมณ์ที่ซือแป๋มีชัยตอบโต้ในประเด็นเหล่านี้ ต้องบอกว่าไม่มีลดราวาศอก หรือแม้กระทั่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ที่คนกันเองอย่าง เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาตำหนิ ก็ยังถูกเหน็บกลับ
นั่นเพราะมาตราเหล่านี้ล้วนเป็นพิมพ์เขียวของแป๊ะมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การเข้ามาทำหน้าที่ของซือแป๋มีชัยตั้งแต่แรก ก็เพื่อจะนำเอาสิ่งที่ “บิ๊กตู่” คิด ไปเขียนเป็นตัวบทกฎหมายในร่างรัฐธรรมนูญให้แนบเนียนเท่านั้น กรธ.ไม่ได้มีอิสระมาตั้งแต่ต้น แม้แต่เรื่องแคมเปญรัฐธรรมนูญปราบโกงก็เป็นเรื่องที่คิดร่วมกันมา ว่าจะใช้ตีปี๊บหาเสียงกับประชาชนเพื่อดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติ แข่งกับเสียงคว่ำของฝ่ายการเมือง ที่มีแต่เรื่องการกลับเข้าสู่อำนาจตัวเอง
“บิ๊กตู่” หมายมั่นปั้นมือเอาไว้มาก เพราะหนนี้จะตีชิ่งหนีการทำประชามติไม่ได้เหมือนครั้งที่แล้วที่ยังมี สปช.เป็นด่านแรก แต่รอบนี้ต้องเดินลุยอย่างเดียว ดังนั้น ต้องทำทุกวิถีทางให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปให้ได้ หรือถ้าจะไม่ผ่าน ก็ต้องแพ้เสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบไม่ขาดลอย แต่ต้องฉิวเฉียด เพื่อเป็นข้ออ้างในการนำร่างรัฐธรรมนูญที่แท้งนี้ ไปปรับปรุงในจุดที่คนไม่เห็นด้วย ก่อนจะประกาศใช้แบบมัดมือชก
ดูเจตนารมณ์ของ คสช.มาตั้งแต่ร่างฯ ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องการทำประชามติมาตลอด เพียงแต่ทนแรงเสียดทานจากฝ่ายต่างๆ ที่เรียกร้องไม่ไหว สุดท้ายจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการทำประชามติแบบจำใจ ดังนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋มีชัยไม่ผ่านประชามติเที่ยวนี้ คงไม่กลับเอาเงิน 3 พันล้านบาท มาเดิมพันแบบเสี่ยงจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้ายังร่างรัฐธรรมนูญสุดโต่งแบบนี้
จะเห็นว่าเที่ยวนี้ทั้งรัฐบาล และ กรธ. สู้กับนักการเมืองแบบสุดลิ่มทิ่มประตู โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” แสดงเจตนาให้เห็นเลยว่า สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋มีชัยเต็มที่ ตอบโต้แทน แก้เกี้ยวแทน ใครแตะต้องหนักๆ จับเรียกเข้าค่ายทหารทันที เหมือนที่ “ตุ๊ดตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดนมาแล้ว นอกจากนี้ ยังใช้เวทีในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ อวยร่างรัฐธรรมนูญกันยกใหญ่ว่าปราบทุจริตได้ฉมัง
หรือแม้กระทั่งยอมเปิดรายการ “แกะกล่องรัฐธรรมนูญ” ใหม่ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ออกอากาศทุกเย็น เพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทุกอย่างให้อีก เพื่อทำคะแนนกับประชาชน แข่งกับฝ่ายการเมือง ตลกร้ายกว่า มีการมอบหมายให้ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนจัดโครงการสร้างการรับรู้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ให้ความรู้แก่ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร และนักศึกษาวิชาทหาร ได้รับทราบถึงร่างรัฐธรรมนูญ เรียกว่า ใช้องคาพยพในมือทุกอย่าง สู้แบบหมดหน้าตัก
ขณะเดียวกัน ยังมีการประเมินเสียงกันตลอดเวลาว่า ได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ มีการทำโพลลับ ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อเช็กเสียง
อย่างที่มีการประเมินกันขณะนี้ จุดที่ต้องเจาะให้ได้ คือ ประชาชนระดับล่าง วันนี้ที่ไม่ได้ใส่รายละเอียดตัวร่างรัฐธรรมนูญมากนัก แต่ดูกระแสสังคม หรือการชี้นำจากผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะใช้วิธีอธิบายง่ายๆ ว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งต้องซัดกับฝ่ายการเมืองหนักหน่อย ขณะที่ประชาชนระดับกลางนั้น แนวโน้มออกมาในทางที่เห็นด้วย เพราะแคมเปญรัฐธรรมนูญปราบโกงพาคล้อยตาม
ตอนนี้หลายคนในรัฐบาลยังเชื่อว่า โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านนั้นมีความเป็นไปได้ เนื่องจากการตัดสินจะใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ ดังนั้นจะออกมากี่คนก็ได้
มีการคาดการณ์กันว่า ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล จะออกมาเยอะกว่าฝั่งตรงข้ามที่มีแรงจูงใจในการออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่า โดยต้นทุนของฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ คือ ชนชั้นกลาง มวลชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่า “ทิดเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศน่าจะต้องขยับช่วย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้น เอาเข้าจริงสุดท้ายก็น่าจะหนุน ติดใจอยู่แค่เรื่องนายกฯ คนนอก ที่ตัวเองจะเสียประโยชน์เท่านั้น แต่เนื้อแท้กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทหาร กับกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปัตย์ ก็คือกลุ่มเดียวกัน มิหนำซ้ำยังมีคะแนนเสียงจากกำลังพลที่ต้องเกณฑ์มาช่วยแน่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมาไม้ใหม่ เก็บไต๋ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กรณีหากประชามติไม่ผ่านเอาไว้ก่อน แต่จะแก้ตอนรู้ผลแล้วว่าร่างผ่านหรือไม่ผ่าน หากผ่านก็ไม่ต้องแก้ โดยเป็นการวัดใจฝ่ายการเมือง เนื่องจากหากแบไต๋เขียนทางออกไปก่อน ถ้าฝ่ายการเมืองประเมินว่ารอได้ และคุ้มที่จะคว่ำ อาจทำให้การตัดสินใจของประชาชนจะมองที่ผลของการคว่ำมากกว่าเนื้อหา
ดูจากการเตรียมการและแท็กติกต่างๆ รัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปให้ได้ เพราะสัญญาณจากบิ๊กตู่ รุนแรงเหลือเกิน ต้องเข็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผ่านไปให้ได้ เพราะเหตุผลสำคัญเหนืออื่นใดคือ จำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ตัวเองตามแบบฉบับของการรัฐประหารทุกครั้ง หากเปรียบสถานภาพแล้ว ตอนนี้บิ๊กตู่ เหมือนมีชนักปักหลัง ไปฆ่าฟันหั่นอำนาจเขามา ล้มล้างการปกครอง ถือว่ามีความผิดใหญ่หลวง หากไม่มีการล้างความผิด หรือประทับตราความชอบธรรมแล้วไซร้ บิ๊กตู่ ก็คือจำเลยดีๆ นี่เอง ฉะนั้นไม่ว่าจะมีเสียงโหวกเหวกโวยวายกระซิบกระซาบใดๆ ค่อนแคะว่าอย่าให้มีการนิรโทษกรรม ก็ไม่มีวันที่บิ๊กตู่จะเชื่อถือทำตาม ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อนด้วย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ก็มีสิ่งนี้ไว้แล้วครบครัน ถือว่าสมบูรณ์แบบเป็นหนึ่งในใจบิ๊กตู่
จับตาดูกระบวนการรณรงค์รับร่างสุดลิ่มทิ่มประตูแน่นอน ถ้าไม่ผ่าน ดีไม่ดีงานนี้อาจมีการโละทิ้งกกต.ระบายอารมณ์ เพราะตอนนี้ทำตัวเป็นเด็กมีปัญหา ถามนั่นถามนี่ กลัวความผิดถึงตัว ใจไม่ถึงแบบนี้ ตู่ไม่ปลื้ม!!