xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ปิดฉากคดีโกงเลือกตั้งปี ’49 อัยการตัดตอน “พล.อ.ธรรมรักษ์ ” ทำไม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและอดีต รมว.กลาโหม
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ในที่สุด คดีพรรคไทยรักไทยโกงเลือกตั้งด้วยการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. 49 ก็มาถึงบทสรุปเมื่อศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวานนี้ (3 ก.พ.) หลังคดีดำเนินมาเกือบ 10 ปี ...สิ่งที่เหนือความคาดหมาย คือ แกนนำพรรคเล็ก และเจ้าหน้าที่ กกต.ในฐานะผู้รับจ้างถูกศาลตัดสินจำคุกกันถ้วนหน้า แต่ผู้อยู่ในฐานะจ้างวานอย่าง “พล.อ.ธรรมรักษ์” แกนนำพรรคไทยรักไทย กลับลอยนวล และเหตุที่ลอยนวลก็ไม่ใช่เพราะ พล.อ.ธรรมรักษ์ ไม่ผิด หรือศาลฎีกายกฟ้อง แต่เป็นเพราะคดีไปไม่ถึงมือศาลฎีกา เนื่องจากถูกอัยการตัดตอนคดีด้วยการไม่ยื่นฎีกา คดีจึงจบแค่ชั้นอุทธรณ์!!! ลองมาย้อนรอยคดีนี้กันอีกครั้ง แล้วคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคดีถึงมือศาลฎีกา “พล.อ.ธรรมรักษ์” จะรอดหรือไม่?
 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเป็นเลขาธิการ ปชป. แสดงหลักฐาน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดกระทรวงกลาโหม เพื่อยืนยันว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ จ่ายเงินให้ผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ปิดฉากคดีโกงเลือกตั้งปี ’49 อัยการตัดตอน “พล.อ.ธรรมรักษ์ ” ทำไม?

เมื่อพูดถึงพฤติกรรมฉาวของพรรคไทยรักไทยในการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 เพื่อให้เป็นคู่แข่งกับพรรคตน เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดว่า เขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัคร ส.ส.แค่คนเดียว ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 นั้น ต้องให้เครดิต “ไทกร พลสุวรรณ” ผู้ประสานงานเครือข่ายอีสานกู้ชาติ เพราะเป็นคนเปิดฉากติดตามตรวจสอบเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม เหตุที่เขาสามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้อย่างเห็นผล เพราะบังเอิญมีคนติดต่อมายัง นายสุขสันต์ ชัยเทศ เพื่อนของเขาให้ไปลงสมัคร ส.ส.ด้วย ไทกรจึงไม่รอช้า รีบบอกให้เพื่อนตกปากรับคำคำเชิญนั้นเพื่อไปฝังตัวอยู่ในพรรคพัฒนาชาติไทย จะได้รู้ว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กให้ลงเลือกตั้งจริง และจะได้รู้ว่าขบวนการจ้างเป็นอย่างไร ไทกรเล่าให้ฟังว่า
ภาพจากกล้องวงจรปิดของ ก.กลาโหม ลำดับเหตุการณ์เมื่อบ่ายวันที่ 3 มี.ค.49 ขณะที่นายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ นำผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทยเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ เพื่อรับเงินค่าจ้างลงสมัครรับเลือกตั้ง
“โชคดีมีคนติดต่อมาหาคุณสุขสันต์ ผมก็เลยว่าถ้างั้นผมขอให้พี่สุขสันต์เข้าไปเลย ไปแต่งตัว แล้วก็เอาข้อมูลมา เดี๋ยวผมจะแฉมันเอง ผมก็พูดกันแค่นี้ หลังจากนั้นก็มีการประสานกันตลอด ในระยะที่เขาไปฝังตัวอยู่กับพรรคพัฒนาชาติไทย ที่โรงแรมกาญจน์มณี ถ.ประดิพัทธ์ ก็รู้ข้อมูล และผมก็เคยแอบเข้าไปสังเกตการณ์ที่ล็อบบี้ครั้งหนึ่งว่ามีคนมาเยอะมั้ย อย่างไร กระทั่งรู้ว่ามันดำเนินการจริง ผมไปครั้งเดียว ไปแอบดูเขาแล้วก็กลับ ทีนี้ข้อมูลก็ไหลมาหาผมเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณสุขสันต์ตอนแรกเราว่าจะแถลงข่าวเลย ก็เลยปรึกษาหารือกัน ได้ข้อสรุปว่าจะยังไม่แถลงข่าว จนกว่าการกระทำผิดนั้นมันจะเสร็จสมบูรณ์ ก็คือรอให้คนที่รับจ้างลงสมัครก่อน ให้พวกย้อนหลังสมาชิกพรรค 90 วันทั้งหลายไปสมัครให้ครบ วันสุดท้ายก็เป็นวันที่ 8 มี.ค. พอเขาสมัครกันครบทุกคนแล้ว ผมเช็ก กกต.จังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ผมก็แถลงข่าวขึ้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ว่ามีการทำอย่างนี้ พอดีทีวีในเครือเนชั่นเขาก็สัมภาษณ์ผม และมีการพูดจาท้าทายกันระหว่างท่านปริญญา (นาคฉัตรีย์ กกต.) กับผม ท่านแจ้งว่า “ไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” ผมก็บอกว่า “มี” พิธีกรก็เลยให้ไปตรวจสอบ ผมก็เลยไปจริง ตอนเช้าวันนั้นวันที่สัมภาษณ์กันทางโทรศัพท์ ก็ไปจับได้ว่ามีการปลอม ทบ.6 ทะเบียนพรรคการเมืองหมายเลข 6 ซึ่งมีสมาชิกย้อนหลังเข้ามาๆๆ แล้วผมก็รู้ข้อมูลภายในจากคุณสุขสันต์ว่ามีการรับจ้างแก้แผ่นดิสก์ของ กกต.ด้วย เพื่อที่เวลาเช็กไปที่อินเทอร์เน็ตแล้ว จะได้เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นสมาชิกอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพราะส่วนใหญ่ กกต.เขาจะเช็กที่อินเทอร์เน็ต เขาไม่ดูจากเอกสารต้นฉบับจริงสักเท่าไหร่ แต่กระบวนการโกง เขาโกง 2 อย่าง คือ แก้ทั้งเอกสารจริง แก้ทั้งดิสก์ที่เอาไปใส่ในอินเทอร์เน็ต ก็เลยเปิดเผยมา”

ไม่เพียงมีการปลอมแปลงแก้ไขการเป็นสมาชิกพรรคย้อนหลัง 90 วันเพื่อให้ผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครได้ ไทกรบอกว่า ยังมีหลักฐานอีกหลายอย่างที่ยืนยันว่าแกนนำพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัคร โดยมีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารหลักฐานการโอนเงิน หรือแม้แต่ภาพลับจากกระทรวงกลาโหมที่บันทึกเหตุการณ์วันที่นายชวการ โตสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทยเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรับเงินค่าจ้าง โดยในภาพมี พล.อ.ธรรมรักษ์ด้วย แม้ พล.อ.ธรรมรักษ์จะอ้างในภายหลังว่าบุคคลในภาพไม่ใช่ตน แต่เป็นช่างภาพประจำตัวที่มีรูปร่างคล้ายกันก็ตาม

“กรณีของคุณสุขสันต์กับคุณชวการ คุณชวการเขาอยู่ในทีมของ พล.อ.ธรรมรักษ์อยู่แล้ว ซึ่งคุณชวการได้ให้การชัดเจนว่า ได้มีการร่วมประชุมวางแผนกันที่พรรคไทยรักไทย ชั้น 4 หรือชั้น 6 กับ พล.อ.ธรรมรักษ์ และ รมต.พงษ์ศักดิ์ (รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทยและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) ก็ได้นั่งฟังอยู่ด้วยว่า เราจะส่งคนประกบโดยการตัดต่อพันธุกรรม เปลี่ยนรายชื่อในแผ่นดิสก์ เปลี่ยนชื่อสมัครอย่างนี้ๆ ส่วนคุณสุขสันต์ซึ่งเป็นคนในฝ่ายผมไม่ได้ร่วมประชุมด้วย แต่สิ่งที่ทำให้หลักฐานมัดชัดเจน ก็เพราะคุณสุขสันต์ได้ไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้คุณชวการเป็นพยานในคดีนี้ ยอมเปิดเผยความจริง ก็เลยได้พยานที่มัดแน่นในการกระทำผิดของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และคณะ ในฐานะที่เป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและทำผิดก็เพื่อประสงค์ที่จะให้พรรคไทยรักไทยได้ประโยชน์ทางการเมือง ก็คือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก และทุกเขต …หลักฐานการจ้าง คือ คุณชวการยืนยันว่าได้รับเงินโดยตรงค่าสมัครบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ 5 คน รับมาจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ โดยลูกน้องเขา คุณพงษ์ศรี (ศิวาโมกข์) เป็นคนเดินเข้าไปเอาจากในห้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ ในวันที่ไปที่กระทรวงกลาโหม และมีรูปน่ะ(ภาพจากกล้องวงจรปิดกระทรวงกลาโหม) คุณชวการไปกับคุณพงษ์ศรี และไปกับลูกน้องสายของท่าน พล.อ.ธรรมรักษ์ หลังจากนั้นเขาก็เอาเงินส่งมาให้ๆๆ ก็มีหลักฐานการโอนเงิน และใครส่งเงิน”

แม้ไทกรจะเปิดประเด็นและเปิดแถลงเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก แต่ กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ดูจะไม่สนใจตรวจสอบเท่าที่ควร ไทกรจึงคิดว่าคงต้องเปิดตัวพยาน เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องนี้ แต่เขาก็รู้ดีว่า ถ้าเปิดตัวพยานไป เขาไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลความปลอดภัยให้พยานทั้ง 2 คนแน่ (สุขสันต์-ชวการ) เขาจึงต้องมองหาองค์กรหรือหน่วยงานที่พร้อมจะขุดคุ้ยเกาะติดเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก และที่สำคัญต้องมีศักยภาพพอที่จะดูแลความปลอดภัยของพยานให้เขาด้วย ซึ่งในที่สุดก็จอดป้ายที่ “พรรคประชาธิปัตย์” เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าไปพรรคอื่นจะเอาจริงเรื่องนี้หรือไม่

นอกจากพรรคประชาธิปัตย์จะรับเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กจากนายไทกรมาเดินหน้าต่อแล้ว ยังมีกรณีที่ผู้สมัครพรรคเล็กจากพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยมาร้องเรียนตรงต่อพรรคประชาธิปัตย์ด้วย นายสุวโรช พะลัง คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เล่าให้ฟังว่า นอกจากมีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพัฒนาชาติไทย 3 คนใน จ.ตรัง มาร้องต่อพรรคแล้ว ยังมีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคแผ่นดินไทยมาติดต่อพรรคเพื่อให้ข้อมูลเรื่องถูกพรรคไทยรักไทยจ้างลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย คือ นางฐัติมา ภาวะลี ซึ่งเล่าให้ฟังว่า พรรคแผ่นดินไทยได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยกว่า 3.6 ล้านบาท และว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สัญญากับหัวหน้าพรรคเล็กทั้งหลายระหว่างประชุมร่วมกับหัวหน้าพรรคเล็กหลังยุบสภา (ซึ่งพรรคฝ่ายค้านบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง) ว่า จะช่วยสนับสนุนพรรคเล็กพรรคละ 10 ล้าน

“เขา(ฐัติมา)ก็เอาเอกสารมาให้ผม ก็มีหลักฐานอะไรต่างๆ แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่า หัวหน้าพรรคไปร่วมประชุมกับนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ ทักษิณก็บอก จะช่วยพรรคละ 10 ล้าน สุดแล้วแต่ว่าส่งคนลงประกบกับพรรคไทยรักไทยได้มากหรือน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาแบ่งพื้นที่กัน พรรคแผ่นดินไทย พรรคคนขอปลดหนี้ แล้วก็พรรคพัฒนาชาติไทย ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ให้ส่งคนลงสมัครประกบกับผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกไม่ต้องเป็นไปตามเงื่อนของกฎหมาย (20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ก็กระจัดกระจายกันลงไปสมัคร ในส่วนของพรรคแผ่นดินไทยเขาจะมีผู้ใหญ่มาคุม หมายความว่า แต่ละพรรคเขาจะมีคนของพรรคไทยรักไทยลงไปคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ ประสานงานกับทาง กกต.เพื่อแก้ไขฐานข้อมูลในการเป็นสมาชิกพรรค 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด แล้วก็ดูแลเรื่องเงินเรื่องทอง ในส่วนของพรรคแผ่นดินไทย คุณเจี๊ยบ (ฐัติมา) ก็เล่าให้ฟังว่า มีเสธ.ไอซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีกลาโหม มาเป็นผู้ดูแล และ เสธ.ไอซ์ได้เข้าร่วมประชุมกับพรรคแผ่นดินไทย โดยคุณเจี๊ยบเขาเป็นผู้ประสานงานทุกอย่าง ปรากฏว่า พอประชุมกันเสร็จ เสธ.ไอซ์ก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีนายทหารหน้าห้องรัฐมนตรีเป็นคนนำเงินมาให้ ก็ปรากฏว่า เขาเล่าให้ฟังว่ามีการนำเงินมาให้ 3,675,000 บาท และมาให้คุณเจี๊ยบ คุณเจี๊ยบก็เป็นผู้บริหารให้กับตัวผู้สมัครกันไป คนละ 3 หมื่น หลังจากที่คุณเจี๊ยบเขาให้คนลงไปสมัครประกบเสร็จแล้ว ปรากฏว่าเงินที่จะให้งวดต่อไปเนี่ย มันไม่เป็นไปตามนัด ...พอผมได้รับข้อเท็จจริงได้เอกสารได้อะไรมา ผมก็บันทึกถึงท่านเลขาฯ สุเทพ (เทือกสุบรรณ) ท่านเลขาฯ ก็ประสานงานเอาคุณเจี๊ยบมาและที่เป็นข่าวไง พาไปที่สุราษฎร์ฯ (เพื่อความปลอดภัย) และอีกส่วนหนึ่งเราก็ไปแจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ให้ กกต.กลางได้รับทราบข้อมูล ซึ่งท่านเลขาฯ สุเทพ เป็นคนลงนามไปเอง”

หลังจากนั้น กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก โดยให้นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตรองประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ในที่สุด อนุกรรมการฯ ได้สรุปผลสอบว่า ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยจ่ายเงินจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งจริง โดยผู้มีบทบาทสำคัญมีอยู่ 4 คน 1. พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม 2. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และรักษาการรัฐมนตรีคมนาคม 3. พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือเสธ.ไอซ์ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม และ 4. พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม

นอกจากนี้ อนุกรรมการฯ ยังสรุปด้วยว่า การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นการกระทำในนามพรรคไทยรักไทย เพราะบุคคลทั้งสองมีตำแหน่งใหญ่ในพรรค ประกอบกับเงินที่ให้การสนับสนุนพรรคเล็กก็เป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งผลที่ได้รับก็เป็นประโยชน์กับพรรคไทยรักไทย จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการทำในนามส่วนตัว ด้วยเหตุนี้อนุกรรมการฯ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทยด้วย

ทั้งนี้ คดีพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย-พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย รวมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคของทั้งสามพรรคคนละ 5 ปี โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 : 0 ให้ยุบทั้งสามพรรค เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 โดยให้เหตุผลว่า จากพยานหลักฐานพบว่า พรรคไทยรักไทยมีการจ้างพรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทยจริงตามที่อัยการสูงสุดร้องมา โดยข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุดระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ มีส่วนในการแก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคและจ่ายเงินสนับสนุนให้พรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือเสธ.ไอซ์ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งทั้งสองเป็นลูกน้องและคนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ ได้จ่ายเงินให้พรรคแผ่นดินไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนที่พรรคไทยรักไทยอ้างว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ทำในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรคนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะบุคคลทั้งสองเป็นถึงระดับรองหัวหน้าพรรคและรองเลขาธิการพรรค และเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงให้เห็นว่าทั้งสองเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เมื่อบุคคลทั้งสองกระทำการดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันเป็นการกระทำของพรรค

ขณะที่คดีอาญา อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์, นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง ของ กกต.(สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย, นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2553

โดยโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 2-7 มี.ค. 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายชวการ จำเลยที่ 3 จ้างวานให้นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ให้จำคุกจำเลยทั้งห้า โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่ากระทำผิดจริง โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอมรวิทย์เป็นคนเดียวที่มีรหัสผ่านเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ซึ่งหลังเกิดเหตุนายอมรวิทย์ได้สารภาพกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.ว่า เป็นผู้ไปรับแบบเอกสารแจ้งเปลี่ยนข้อมูลสมาชิกพรรคพร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลจากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อมาแก้ไขข้อมูล โดยไม่ผ่านขั้นตอนการลงรับเอกสารงานสารบรรณ และไม่มีการเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น

ส่วน พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายชวการ ได้ใช้ให้นายอมรวิทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ ศาลเห็นว่า นายชวการเคยให้การว่า ได้รับการติดต่อจากนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์อยากพบ จากนั้นได้เดินทางไปพบที่พรรคไทยรักไทยช่วงปลายเดือน ก.พ. 2549 ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. 2549 ได้ไปพบที่กระทรวงกลาโหม โดยได้รับเงินมา 50,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายให้นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อชำระค่าลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพัฒนาชาติไทย จากนั้นวันที่ 6 มี.ค. 2549 นายทวีก็ได้นำเงินมาให้นายชวการอีก 760,000 บาท เพื่อแบ่งให้ผู้สมัคร ส.ส. จากนั้นวันที่ 8 มี.ค. 2549 นายทวีได้นำเงินมาให้อีก 140,000 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีของนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ซึ่งนายสุขสันต์ เคยเบิกความยอมรับว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากนายชวการแล้ว ก็ไปหาผู้สมัคร พร้อมยอมรับว่านายบุญทวีศักดิ์ได้นำแผ่นบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและรายชื่อบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส.มาให้ตนแก้ไข

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ที่พรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กเท่านั้นที่ส่งผู้สมัคร จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า หากพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ พรรคไทยรักไทยย่อมไม่มีโอกาสได้รับเลือกเกิน 20% ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการที่นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 จัดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยเน้นจังหวัดภาคใต้ จึงสมประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย

ขณะที่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหรือหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดจริง ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 คนละ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน พร้อมทั้งให้ริบเงินสดของกลาง 30,000 บาท

หลังฟังคำพิพากษา พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 และนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งศาลอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท

ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 โดยเห็นว่า ในส่วนของนายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นบุคคลเดียวที่มีรหัสผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของ กกต.เพื่อบันทึกข้อมูล และเมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เคยแจ้งต่อ กกต.ไว้ พบว่าเคยแจ้งไว้ครั้งเดียว เมื่อปี 2548 แต่กลับพบว่า ข้อมูลในคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อและบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค. 2549 เวลา 09.30 น. และโอนถ่ายข้อมูลเสร็จสิ้น ในเวลา 10.44 น. ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่า เป็นผู้บันทึกข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่า จำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปรับข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย จากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ที่แยกลำสาลี ในเวลา 21.00-22.00 น. ซึ่งเป็นยามวิกาล ถือว่าผิดวิสัยและผิดปกติ อีกทั้งยังปรากฏว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว มีการรีบเร่งบันทึกข้อมูลในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า หลังสำนักงาน กกต.เปิดทำการ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่เสนอผู้บังคับบัญชาก่อน ซึ่งพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

สำหรับจำเลยที่ 3-5 ที่เป็นสมาชิกและผู้บริหารพรรคพัฒนาชาติไทยนั้น ปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุได้มีการประชุมพรรค ดังนั้น น่าเชื่อว่าได้ร่วมรู้เห็น เรื่องที่จำเลยที่ 5 นำเงิน 30,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าว

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอลงอาญานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าความผิดที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 นั้น กฎหมายดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี ในอัตราโทษต่ำสุดแล้ว จึงไม่อาจกำหนดโทษให้ต่ำกว่านี้ได้อีก และไม่อาจรอลงอาญา เพราะอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์อยู่บ้างต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน

ขณะที่ความผิดของจำเลยที่ 3-5 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรรัฐฯ มาตรา 11 กำหนดอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยคนละ 3 ปี 4 เดือนนั้น เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป เห็นควรแก้โทษจำคุก คนละ 2 ปี แต่ไม่รอลงอาญา

สำหรับ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้โจทก์จะมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ได้จากกระทรวงกลาโหม ที่พวกจำเลยเดินอยู่บนระเบียง โดยภาพช่วงที่เข้าไปยังกระทรวงกลาโหม และออกจากกระทรวงกลาโหม แตกต่างกันตรงที่ปรากฏซองสีขาวในมือของบุคคลที่ปรากฏในภาพวงจรปิด แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความ ยืนยันว่าพวกจำเลยได้เข้าไปพบจำเลยที่ 1 ภายในห้องรับรอง และจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้มอบซองที่อาจจะมีการบรรจุเงินในซองดังกล่าว ให้กับจำเลยที่ 3 เพื่อไปมอบต่อให้กับจำเลยที่ 4 และ 5 นำไปให้จำเลยที่ 2 จริงหรือไม่ ขณะที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด คงมีเพียงคำให้การของจำเลยที่ 3 และ 4 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นว่าไปพบจำเลยที่ 1 ซึ่งคำให้การดังกล่าวเสมือนเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เพราะคดีมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ซึ่งในชั้นสืบพยานจำเลยที่ 3 และ 4 ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันตามคำให้การในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3-5 สนับสนุนจำเลยที่ 2 กระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 พิพากษาแก้ ยกฟ้องจำเลยที่ 1

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา มีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา และจำคุกจำเลยที่ 3-5 คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา รวมทั้งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 3 และ 4 ที่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้สังคมเพิ่งทราบว่า คดีในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นยกฟ้องนั้น ทางอัยการไม่ได้ยื่นฎีกาเพื่อขอให้ศาลลงโทษ พล.อ.ธรรมรักษ์ แต่อย่างใด ทำให้คดีจบแค่ชั้นอุทธรณ์ คือยกฟ้อง!!

การไม่ฎีกาของอัยการในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการตัดตอนคดีโกงเลือกตั้งในส่วนของผู้จ้างวาน ไม่ให้ถึงมือศาลฎีกา ทั้งที่ศาลฎีกาควรเป็นผู้ชี้ขาด ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเพื่อให้สมประโยชน์พรรคไทยรักไทยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ใช่หรือไม่? แต่อัยการกลับทำเสมือนตนเองเป็นศาลเสียเอง เพื่อให้คดีจบก่อนเวลาอันควร ...นาทีนี้ คงต้องถามอัยการแล้วว่า ตกลงหน้าที่ของอัยการควรเป็น “ทนายแผ่นดิน” ที่ต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของแผ่นดิน หรือเป็นทนายที่คุ้มครองผลประโยชน์ของจำเลยบางคนกันแน่!?
นายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ (เสื้อลาย) หรือยุทธพงศ์ และนายชวการ โตสวัสดิ์ (เสื้อลายแดงดำ) สมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เดินตามหลังนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ ในภาพที่ 1
นายต้อย หรือธีรชัย จุลพัฒน์ เดินตามขึ้นเป็นคนหลังสุด
นายชวการ กำลังโทรศัพท์ถึงนายสุขสันต์ ชัยเทศ ผอ.การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย แจ้งว่ากำลังรอรับเงินจากรัฐมนตรี
พล.อ.ธรรมรักษ์ เดินนำหน้าขึ้นบันได พล.อ.ไตรรงค์ หรือ เสธ.ไอซ์ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหมเดินตาม
พล.อ.ธรรมรักษ์ กำลังเดินเข้าห้องทำงาน หลังจากที่เดินผ่านและทักทายคณะนายทวี นายชวการ แล้ว
นายทวี นายพงษ์ศรี นายชวการ และนายต้อย กำลังรอคิวเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ ซึ่งขณะนั้นมีคณะนายทหารได้เข้าไปพบก่อน
นายทวี ได้รับเงิน 50,000 บาท จาก พล.อ.ธรรมรักษ์ ถือเดินออกมาส่งให้นายพงษ์ศรี
พล.อ.ธรรมรักษ์ นำ พ.อ.เชิดพงษ์ บุญยเกียรติ ช่างภาพประจำตัวมาแถลงอ้างว่า เป็นบุคคลในภาพลับกระทรวงกลาโหม  ไม่ใช่ตน
กำลังโหลดความคิดเห็น