ไฟเขียวร่าง กม. สกัด “ตำรวจกังฉิน” ทิ้งทวนก่อนเกษียณ ขยายเวลาสอบตำรวจที่โดนชี้มูลไปอีก 120 วัน แม้เกษียณราชการแล้ว “ไก่อู” ย้ำ ลำบากหน่อย! ระบุ แม้ว่าตรวจสอบไม่เสร็จภายใน 1 ปี เปิดทางสอบต่อ หาก ป.ป.ช.- ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดเอาไว้แล้ว
วันนี้ (2 ก.พ.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.. ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้เสนอ โดยเป็นการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. ตำรวจฉบับ ปี 2547 สาเหตุที่สตช. ขอแก้ไข มี 2 ประการ คือ
1. จากเดิมกฎหมายมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อมีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 88/2557 ที่มีการยกเลิกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งใน ก.ต.ช. และ ก.ตร. เดิมใน ก.ต.ช. มีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ก.ตร.11 คน แต่คำสั่ง คสช. ให้ปรับเหลือแค่ 2 คน โดยวุฒิสภาเป็นคนเลือก แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าวิธีการเลือกมาได้อย่างไร ทั้งนี้ ร่างใหม่จะกำหนดความเชี่ยวชาญของ ก.ต.ช. ก.ตร. จะต้องมีเชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย การวางแผน หรือสาขาการบริหารจัดการสาขา
2. ร่างของเดิมเคยกำหนดไว้ว่าข้าราชการตำรวจคนไหนถูกสอบวินัยอย่างวินัยอย่างร้ายแรง และมีการชี้มูลความผิด และเมื่อพ้นจากตำรวจไปแล้วจะต้องดำเนินการสอบสวนให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกจากราชการ แต่ร่างฉบับใหม่จะแก้ไขว่าถ้า 1 ปี สอบไม่เสร็จให้สามารถต่อช่วงเวลาการสอบได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน
“ทำให้ข้าราชการตำรวจทั้งหลายที่คิดว่าจะทิ้งทวนก่อนเกษียณ วันนี้จะต้องลำบากหน่อย เพราะแม้ว่าตรวจสอบไม่เสร็จภายใน 1 ปี เมื่อท่านพ้นจากราชการแล้ว เขาก็ยังขยายการสอบไปอีกเพื่อให้ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ที่ชี้มูลความผิดเอาไว้” โฆษกรัฐบาล กล่าว
มีรายงานว่า สำหรับร่างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 เนื่องจากจากเดิมกฎหมายของตำรวจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88 เมื่อปี 2557 ที่มีคำสั่งให้เลิกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในคณะกรรมการนโยบายบริหารข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ช.) และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยมีการกำหนดรายละเอียดความสามารถของคณะกรรมการ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ
โดยกำหนดความสามารถของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว จะต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ด้านกฎหมาย 1 คน และผู้เชี่ยวชาญสาขาพัฒนาองค์กรวางแผนหรือสาขาบริหารจัดการอีก 1 คน รวมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคณะละ 2 คน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ มีการปรับแก้ไขบทลงโทษกับตำรวจที่ถูกสอบวินัยขั้นร้ายแรง และมีการชี้มูลความผิดเอาไว้ตั้งแต่ยังเป็นตำรวจอยู่
และเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือเกษียณอายุราชการ จะต้องดำเนินการสอบสวนให้เสร็จภายใน 1 ปี และสามารถต่อเวลาสอบสวนได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน รวมเป็น 1 ปี 4 เดือน และปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ที่ได้ชี้มูลความผิดเอาไว้
ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า 1. โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยได้ยกเลิกความในมาตรา 17 มาตรา 18 (3) มาตรา 30 มาตรา 33 ถึง มาตรา 41 มาตรา 53 (1) มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสอง วรรคสาม ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวได้กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.ต.ช. และ ก.ตร. มาจากการเลือกของวุฒิสภา ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ สมควรกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว
2. นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 87 และ 94 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติดังกล่าว จำเป็นต้องปรับแก้ไขเพื่อขยายระยะเวลาดำเนินการสอบสวนข้าราชการตำรวจที่กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่ออกจากราชการไปแล้ว หากถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ก่อนออกจากราชการ เช่นเดียวกับกรณีถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ก่อนออกจากราชการ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาเร่งรัดการสอบสวนการพิจารณาสั่งการและการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในกรณีดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติราชการ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ถูกยกเลิกตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติดังกล่าว