xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ไม่แปลกใจรายชื่อ สนช. จี้เร่งคลอด กม.ขจัดทุจริต ห่วงเพิ่มอำนาจภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ไม่แปลกใจรายชื่อ สนช. เหตุ คสช.ต้องการคนที่สนองแนวทางของตัวเอง แนะให้สนใจผลงานมากกว่า เรียกร้องเร่งออก กม.สกัดการทุจริต ห่วงคลอด กม.เพิ่มอำนาจภาครัฐสวนทางปฏิรูป เหตุมี ขรก.ร่วมวงเพียบ ไม่มั่นใจถอดถอดนักการเมืองได้ หลังไร้ กม.รองรับ



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ในส่วนของรายชื่อที่ปรากฏออกมาไม่ได้เหนือการคาดหมาย เพราะในสถานการณ์และระบบเช่นนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องการสภาที่จะสนองแนวทางของตนเอง แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะสนใจคือผลงานของ สนช.จะเป็นอย่างไร เพราะประชาชนมีความคาดหวังพอสมควร เนื่องจาก สนช.ต้องทำงานสัมพันธ์กับสภาปฏิรูปในหลายด้านเพราะต้องออกกฎหมาย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากเห็น สนช.เร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพราะมีร่างจากภาคส่วนต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว หากผลักดันได้เร็วจะทำให้ทิศทางการปฏิรูปเพื่อป้องกันการทุจรติคอร์รัปชันมีความชัดเจนมากขึ้น และส่วนที่ 2 คือ กฎหมายที่ต้องออกเพื่อให้ไปเป็นไปตามข้อตกลงโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อเพิ่มความพร้อมให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามคงต้องดูแนวทางของ สนช.ว่าเป็นอย่างไร

“อยากฝากในประเด็นที่เป็นหวงเพราะสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมีภาระกิจอื่น ไม่อยากให้เกิดปัญหาเหมือน สนช. ปี 2549 ที่กฎหมายหลายฉบับต้องตกไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การทำงานของ สนช.ต้องทำโดยเปิดเผยในการพิจารณากฎหมายไม่สามารถปกปิดได้ จึงต้องพร้อมที่จะรับฟังเสียงสะท้อนซึ่งสังคมคือส่วนสำคัญที่จะถ่วงดุลย์ และสิ่งที่ต้องจับตาคือเมื่อ สนช.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการก็จะมีความเป็นห่วงในเรื่องการออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้รัฐ ซึ่งสวนทางกับทิศทางการปฏิรูปที่ต้องการให้ลดอำนาจรัฐ

สำหรับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการถอดถอนในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดที่ค้างการพิจารณาอยู่ สนช.จะดำเนินการได้หรือไม่นั้น ตนเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ คสช.ต้องเป็นผู้ทำให้เกิดความชัดเจนเพราะยังอยู่ในสถานะที่มีอำนาจ เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนไว้ ซึ่งตนเข้าใจว่า การให้ สนช.ปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา คือการปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามกฎหมายที่ยังบังคับใช้อยู่ แต่กรณีถอดถอนที่ค้างอยู่นั้นเกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว

ส่วนที่มีการยกกรณีที่ สนช. 2549 เคยมีมติถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเทียบเคียงกับกรณีการถอดถอนที่ค้างอยู่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การถอดถอนในปี 2549 ใช้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ที่มีระบุเกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนไว้ชัดเจนว่าเป็นงานที่วุฒิสภาต้องทำ เมื่อ สนช.ทำหน้าที่แทนวุฒิสภาก็สามารถดำเนินการได้ หากจะดำเนินการถอดถอนกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาก็ต้องดูว่ามีกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้าไม่มี คสช.ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เพราะการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เช่นกรณีการสรรหาผู้ตจรวจการแผ่นดิน และกรรมการ คสช.ก็ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การสรรหาองค์กรใดก็ตามส่วนใหญ่ขององค์กรนั้นก็จะบัญญัติถึงวุฒิสภา ซึ่งในวันนี้ก็คือ สนช. แต่กรณีถอดถอนตามมติ ป.ป.ช.ต้องดูว่ามีบทบัญญัติที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังไม่ชัดเจนมีคำถามว่าจะทำให้ชัดเจนอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเข้าสู่ระยะที่สองของโรดแมป คสช.ว่า ทุกคนคาดหวังปลายทางที่การปฏิรูป โดยขณะนี้คงต้องติดตามองค์กรหลักๆว่าจะมีกระบวนการทำงานอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนสภาปฏิรูป เท่าที่ทราบมีการเก็บข้อมูลจากทุกฝ่าย แต่กระบวนการจากนี้ไปต้องรอสภาปฏิรูปกำหนดแนวทางการทำงาน ส่วนปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นตนคิดว่าการปฏิปรูปจะต้องเผชิญความจริงของปัญหา ยอมรับความเห็นที่หลากหลาย เพราะการปฏิรูปย่อมกระทบกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง การมีข้อมูลที่ครบถ้วนและรับฟังความเห็นที่รอบด้านเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้ากลัวว่าทุกอย่างเป็นความขัดแย้ง จะทำให้กระบวนการปฏิรูปทำได้ยาก ซึ่งตนยืนยันว่าความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ขัดแย้งกับบรรยากาศปรองดอง เพราะการโต้แย้งด้วยความสุจริต บนพื้นฐานข้อเท็จจริงไม่ได้มีเจตนาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อีกทั้งกรอบ 11 เรื่องที่ต้องการปฏิรูปจะคาดหวังให้คนเห็นตรงกันทั้งหมดคงไมได้ จึงต้องการทำให้โปร่งใส


กำลังโหลดความคิดเห็น