xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ยัน สนช.ทำหน้าที่ ส.ว.ถอดถอนได้ ยกเคส “จรัล” เทียบ จี้ ป.ป.ช.อย่าชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“ประพันธ์” ยกคำสั่ง คสช.คงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ สนช.ทำหน้าที่ ส.ว.ได้ ป.ป.ช.เดินหน้าถอดถอนต่อ ไม่จำเป็น รธน.ชั่วคราวต้องลงรายละเอียด ย้อนปี 49 เคยชงถอด “จรัล” สำเร็จมาแล้ว สนช.ปีนี้ลุยได้เลย ไม่แน่ใจอาจแนะแก้ รธน. ห้ามดองเรื่อง ชี้ ป.ป.ช.เข้าใจคลาดเคลื่อนชะลอถอดถอน

วันนี้ (30 ก.ค.) นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สนช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหมายรวมไปถึงขอบเขตอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เดิมด้วย และแม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะประกาศให้ยกเลิกรับธรรมนูญปี 2550 ไปแล้วก็ตาม แต่ในประกาศและคำสั่งของ คสช.ก็ให้คงไว้ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆไว้ ดังนั้นไม่ส่งผลต่อกฎหมายลูกหรือพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่บัญญัติไว้ถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า การที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ว.และคงอำนาจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ไว้ ก็เท่ากับว่ากระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปได้ตามหลักการเดิมที่เคยมีกันมา หากมีการส่งเรื่องเกี่ยวกับการถอดถอนใดๆมายัง ส.ว. หรือปัจจุบันเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่ประชุม สนช.ก็ต้องรับไว้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอำนาจเดิมของ ส.ว.ในการแต่งตั้งผั้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชุดต่างๆ และบุคคลในองค์กรอิสระด้วย ซึ่งเมื่อปี 49 ก็ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลต่างๆ มาแล้ว

“ไม่จำเป็นที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต้องเขียนรายละเอียดไว้ เมื่อให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ว. ก็เท่ากับว่าอะไรที่เป็นอำนาจของ ส.ว.เดิม หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใดโยงมาถึง ส.ว.ก็เป็นเรื่องที่ สนช.ต้องรับผิดชอบไปด้วย” นายประพันธ์ระบุ

นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่ สนช.ปี 49 ตนก็เป็นผู้เสนอญัตติให้ สนช.พิจารณาถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นแกนนำมวลชนไปปิดล้อมบ้านประธานองคมนตรี ครั้งนั้นแม้ว่า สนช.จะไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการถอดถอน แต่ท้ายที่สุด สนช.ปี 49 พิจารณาสอบสวนก่อนลงมติถอดถอนนายจรัลมาแล้ว

ส่วนการที่ทาง ป.ป.ช.ระบุได้ส่งสำนวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาแล้วเสร็จมาให้ทาง ส.ว.ไว้ก่อนหน้านี้แล้วนั้น นายประพันธ์กล่าวว่า เมื่อ สนช.เข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องหยิบยกเรื่องราวนั้นขึ้นมาพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับ ที่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและลงมติเอาไว้ด้วย สนช.ไม่สามารถที่จะดองเรื่องไว้ได้ หรือหากต้องการความชัดเจนในการทำหน้าที่เกี่ยวกับหารถอดถอน ทาง สนช.ก็อาจจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจนก็ทำได้ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขก็สามารถดำเนินการได้เหมือนเมื่อครั้งปี 49

นายประพันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาของ ป.ป.ช.ในเรื่องคดีที่เกี่ยวกับการถอดถอนที่ยังค้างอยู่นั้น ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ไม่ควรชะลอเรื่องไว้ เพราะมีหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งต่อตามช่องทางที่กฎหมายระบุไว้ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ สนช.จะดำเนินการต่อ การที่ ป.ป.ช.บอกว่าต้องชะลอเรื่องไว้เพื่อรอความชัดเจนในเรื่องอำนาจของ สนช.นั้น ตนเห็นว่าอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป


กำลังโหลดความคิดเห็น