xs
xsm
sm
md
lg

“จตุพร” ถูกเรียกเข้าทัพภาค 1 เหตุปากเสียว่าทหารอันธพาล คสช.เตือนวิจารณ์ รธน.รุนแรงเหมือนปลุกปั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์
“ตู่-จตุพร” ถูก กกล.รส.เรียกตัวพูดคุย หลังปากเสียกล่าวหาทหารเป็นอันธพาลกวนเมือง ขณะที่ คสช.เตือนพวกวิจารณ์ร่าง รธน.รุนแรง ระบุเหมือนปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ขอให้รักษาเกียรติและน้ำใจกัน ด้าน ผบ.ทบ.สั่งกำลังพลร่วมให้ข้อมูลร่าง รธน.ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมกำชับจัดระเบียบสังคมให้ต่อเนื่อง พร้อมเน้นจัดการเด็กแว้นป่วนเมือง

ที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (2 ก.พ.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เดินทางมายังกองทัพภาคที่ 1 ด้วยรถตู้ส่วนตัวยี่ห้อโฟล์คสวาเกน ภายหลังจากที่มีนายทหารโทรศัพท์ไปเชิญตัวมาพูดคุยที่กองทัพภาคที่ 1

นายจตุพรกล่าวว่า ในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์มาหาตนโดยระบุว่าขอเชิญมาพูดคุยร่วมกับ พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นเรื่องใด ทั้งนี้ตนจะเปิดเผยรายละเอียดหลังการพูดคุยกับสื่อมวลชนอีกครั้งในภายหลัง

แหล่งข่าวจากกองทัพภาคที่ 1 เปิดเผยว่า การเชิญตัวมาพูดคุยในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัวนายจตุพรมาพูดคุยเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ได้เป็นการพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 1 แต่เป็นการพูดคุยในระดับเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของกองทัพภาคที่ 1 เท่านั้น ในกรณีที่นายจตุพรไปกล่าวในรายการหนึ่งทางช่อง PEACE TV โดยมีการใช้ข้อความกล่าวหาว่าทหารเป็นอันธพาลกวนเมือง ทางเจ้าหน้าที่ กกล.รส.จึงจำเป็นต้องเชิญตัวมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ เพราะที่ผ่านมานายจตุพรก็รับปากให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หลายครั้งแล้วในเรื่องการแสดงความคิดเห็น วันนี้จึงเรียกมาพูดคุยเฉยๆ ไม่ได้มีการกักตัวไว้แต่อย่างใด เมื่อเข้าใจกันแล้วก็จะให้นายจตุพรกลับบ้านได้ ยืนยันว่าเป็นการคุยกันดีๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ห้ามไม่ได้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในกองทัพภาคที่ 1 แต่อย่างใดท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีสื่อมวลชนบางส่วนเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณด้านนอกด้านหน้ากองทัพภาคที่ 1 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายจตุพรกลับบ้านในช่วงบ่าย

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช.ไม่เคยห้ามวิจารณ์ หรือแสดงความเห็นเพียงแต่การให้ความเห็นของบางกลุ่มบางบุคคล มีลักษณะการใช้กริยาวาจาที่ดูรุนแรงผิดธรรมชาติ ดูไม่สร้างสรรค์ บางครั้งอาจมีลักษณะเหมือนจะปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง หรือเกิดขัดแย้ง ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายบรรยากาศได้ ดังนั้นการอยากให้การให้ความเห็นใดควรอยู่ในกรอบช่องทางที่เหมาะสม การใช้คำพูดคำจาควรให้เกียรติรักษาน้ำใจซึ่งกันและกันบ้าง

“คสช.อยากให้ประชาชนได้ศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเนื้อหารัฐธรรมนูญโดยรวมก่อนเป็นลำดับแรก เพราะมีหลายความเห็นเชื่อว่าเหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเน้นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องการปราบทุจริต ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอดีตที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่อยากให้เชื่อหรือคล้อยตามคำชี้นำของกลุ่มหรือบุคคลอื่น ขณะนี้เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับตามความเหมาะสม ก่อนที่จะสรุปเป็นร่างที่สมบูรณ์แล้วนำออกให้ประชาชนได้มาใช้สิทธิ์เพื่อลงประชามติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันในช่วงบ่าย พ.อ.วินธัย พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. พล.ต.ปัณณฑัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ได้แถลงข่าวตอกย้ำให้ทุกฝ่ายระมัดระวังคำพูด และแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกันได้แนะนำ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพบกคนใหม่ พร้อมทำหน้าที่เป็นทีมงานโฆษก คสช.ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก และ คสช.ให้รวดเร็ว ถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์

ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมสำนักงานเลขาธิการ คสช.ที่มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช.เป็นประธานว่า เลขาธิการ คสช.ได้ย้ำให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดำรงความต่อเนื่องในงานจัดระเบียบสังคม ทั้งรถบริการสาธารณะ ชายหาด แหล่งท่องเที่ยว บ่อนการพนัน ผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด การแข่งรถในที่สาธารณะ โดยยึดการทำงานร่วมกับพลเรือน ตำรวจ ทหาร ดำเนินการในทุกมาตรการ เพื่อป้องกันและป้องปราม รวมถึงขจัดปัญหาดังกล่าวในทุกพื้นที่ให้มีความยั่งยืน ที่สำคัญเพื่อให้สุจริตชนได้รับการดูแลให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบสัมมาชีพได้ตามปกติ ไม่ถูกลิดรอน หรือถูกรบกวนจากผู้ที่ไม่เคารพกฎกติกาของสังคม โดยเฉพาะปัญหาการแข่งจักรยานยนต์ในทางสาธารณะ ให้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ดำเนินการด้วยมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องปราม ทั้งผู้ที่แข่งและร้านตกแต่งรถจักรยานยนต์ มิให้มีการจัดการแข่งรถในถนนสาธารณะในทุกพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว

ส่วนการพบปะประชาชนนั้นให้ กกล.รส.ร่วมกับส่วนราชการในท้องที่เพิ่มการลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลข่าวสาร การขับเคลื่อนประเทศ ผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รวมทั้งการวางกรอบกติกาของสังคมในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสาระเพิ่มขึ้นมีความคืบหน้าอยู่ตลอด รวมทั้งมีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจึงต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น โดยจากข้อมูลจากการจัดลำดับประเทศดีที่สุดของยูเอสนิวส์แอนด์เวิร์ดรีพอร์ต, บีเอวีคอนซัลติ้ง และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ได้จัดลำดับให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ดีที่สุด (Best Countries) อันดับที่ 21 ของโลกจาก 60 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย ซึ่งสังคมไทยควรภาคภูมิใจ และร่วมกันสานต่อให้สิ่งที่ดีเหล่านี้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น