xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ชู 5 ข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ สกัดกั้นพวกโกงกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (ภาพจากแฟ้ม)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญ พบข้อดี 5 ข้อ ตัดสิทธิพวกโกง ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนคดีทุจริตเองได้ เพิ่มหน้าที่ปวงชนชาวไทยไม่สนับสนุนการคอร์รัปชัน ให้อำนาจ 3 องค์กรอิสระทักท้วงรัฐบาล และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในภาวะวิกฤต



วันนี้ (31 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า เท่าที่ถ้าดูคร่าวๆ จะเห็นว่ามีข้อดีหลายข้อและมีข้อเสียที่ควรปรับปรุงบางส่วน สำหรับข้อดีนั้น มีอยู่ 5 ข้อ ดังนี้ 1. การตัดสิทธิไม่ให้คนทุจริตคอร์รัปชันและคนทุจริตการเลือกตั้งลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต 2. การให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถหยิบยกกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริต สามารถไต่สวนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ร้องเสมอไป

3. การเพิ่มหมวดใหม่ในเรื่องหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ และต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันรัฐก็มีหน้าที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนถึงภัยอันตรายที่เกิดจากการทุจริตทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและขจัดการทุจริตอย่างเข้มงวด

4. การให้อำนาจองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถมีมติร่วมกันเพื่อทักท้วงรัฐบาล ในกรณีที่มีการดำเนินนโยบายก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างรุนแรง เช่น กรณีโครงการรับจำนำข้าว และหากรัฐบาลไม่ยินยอมรับฟังคำทักท้วง รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองตามรัฐธรรมนูญในอนาคต

5. การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัย เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมได้มีข้อยุติร่วมกัน ทั้งในภาวะวิกฤตนั้นตนเห็นว่ายังดีกว่าให้มีการตั้งองค์กรใหม่คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขึ้นมาและให้ คปป.เป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ หลังจากได้พิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดโดยละเอียดแล้ว ตนจะให้ความเห็นอีกครั้งในประเด็นที่คิดว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมและกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะได้นำไปขบคิดและทบทวนต่อไป เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ มีข้อโต้แย้งน้อยลงและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น