xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.รับถกหมวดรัฐสภาต้องใช้เวลา มองการเมืองจับมือคว่ำร่าง ต้องทำงานหนักขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กรธ.เผยกำลังพิจารณาหมวดรัฐสภา รับรายละเอียดมากต้องใช้เวลา แจงตัดสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ดูพรรคการเมืองเห็นอย่างไร ดูปัญหาบ้านเมืองเป็นหลัก กระแสการเมืองจับมือกันคว่ำร่าง สะท้อนว่าต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ให้ ปชช.สับสน ให้เข้าใจว่าแม้มาจากเลือกตั้งทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ยันฟังทุกฝ่าย ย้อนถกไม่เลือกปฏิบัติผู้พิการ

วันนี้ (21 ม.ค.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทั้งหมดแล้ว 99 มาตรา ขณะนี้กำลังพิจารณาหมวดรัฐสภาซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแง่มุมต่างๆ อาทิ การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สิทธิผู้สมัครของ ส.ส.และส.ว. ลักษณะต้องห้ามต่างๆ ที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดฐานใดบ้าง คำพิพากษาถึงที่สุดศาลใดและอย่างไร สิทธิของการลงสมัครเลือกตั้ง และการกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดหรือมีลักษณะต้องห้ามจะกำหนดในสิทธิประเภทใด เป็นต้น จึงใช้เวลามากพอสมควรเพื่อให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดการทะเลาะและขัดแย้ง

นายชาติชายกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรธ.ได้พิจารณาหารือคุณสมบัติของผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในประเด็นการตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตไม่ว่าจะระดับไหนนั้นก็นำมาพิจารณาว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีในลักษณะนี้ เคยมีแค่เมื่อศาลหรือ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5-10 ปี ในระหว่างนั้นก็จะไปสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ แต่ของ กรธ.ได้เขียนโทษใหม่ว่า ตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องพิจารณาว่าเมื่อถูกตัดสิทธิดังกล่าวแล้วจะหมดสิทธิในการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ซึ่งคิดว่ารุนแรงเกินไป ชาวบ้านอาจเดือดร้อนและอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งได้ แต่ในส่วนของคดีฉ้อโกง การพนัน ก็ห้ามให้ลงสมัครเลือกตั้งตามที่ระบุ

“เวลาพูดเรื่องตัดสิทธิการเลือกตั้ง กรธ.ไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองใดจะเห็นอย่างไร แต่พิจารณาเป็นหลักกลาง ดูสภาพปัญหาของบ้านเมืองเป็นหลัก คนที่มาทำงานต้องสะอาด ไม่มีมลทิน ในส่วนที่พรรคการเมืองจะเห็นอย่างไรก็ไปว่าในขั้นของ กกต. และศาลฎีกาวินิจฉัย ส่วนกระแสที่พรรคการเมืองจะจับมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น เท่ากับบอก กรธ.เป็นนัยๆ ว่าเราต้องทำงานหนักขึ้นเพื่ออธิบายและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในร่างฯ ที่เราช่วยกันเขียนขึ้นมา และต้องชี้แจงให้กับเขาเข้าใจในประเด็นใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนตามกระแสที่พยายามบิดเบือน อาทิ การเลือกตั้งที่ต้องใช้บัตรใบเดียว อธิบายถึงจุดอ่อนวิธีการเดิม และต้องอธิบายในความเข้าใจผิดในประเด็นที่ว่าจะเทอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เอาคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาตัดสินบุคคลที่มาจากการการเลือกตั้งซึ่งประชาชนยอมรับ ซึ่งต้องชี้แจงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตัดสินอยู่แล้ว เพราะศาลในประเทศไทยเป็นระบบศาลปิด ซึ่งมีระบบคัดกรองบุคคลเข้ามาทำงานเป็นที่ยอมรับ เมื่อมีผู้กระทำผิดกฎของรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสิน ซึ่งต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า แม้จะเข้ามาจากการเลือกของประชาชนแต่ถ้าทำไม่ถูกต้องก็ต้องถูกลงโทษเหมือนประชาชนทั่วไป” นายชาติชายกล่าว

โฆษก กรธ.กล่าวต่อว่า กรธ.รับฟังทุกฝ่าย ไม่ว่าใครเสนอแนะอะไรก็พร้อมพิจารณา อาทิ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ เสนอให้ปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. จากเดิม 15.00 น. ก็กำลังพิจารณา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาย้อนหลังหมวดที่ 3 ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าผู้พิการต้องกำหนดให้ชัดในเรื่องของการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการก้าวหน้าของคนพิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น