เว็บไซต์รัฐบาลเผยแพร่กำหนดภารกิจ “บิ๊กตู่” ควง 4 รัฐมนตรี ลงพื้นที่ศุกร์นี้ “นครสวรรค์-ชัยนาท” ตรวจเยี่ยมโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งตามมาตรการ 8 ด้านของรัฐบาล ดูศูนย์เรียนรู้ฯ ตำบลบึงปลาทู อำเภอบรรพตพิสัย-โครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
วันนี้ (20 ม.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์รัฐบาล ได้เผยแพร่กำหนดการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และชัยนาท ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะจะตรวจเยี่ยมข้อมูลศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลบึงปลาทู อำเภอบรรพตพิสัย ศูนย์แห่งนี้ได้ดำเนินการตามมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังมาปลูกพืชน้ำน้อย และได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมเป็นศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านห้วยโรง กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านห้วยโรง มาเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้านการลดต้นทุนการผลิตและการผลิตเมล็ดพันธุข้าวให้ทางราชการเพื่อส่งเสริมให้ชาวนามีการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ พื้นที่ตำบลบึงปลาทู ได้รับงบประมาณโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จำนวน 27 โครงการ ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันนำมาพัฒนาเป็นโครงการประเภทการซ่อมแซมบูรณะอาคารศาลาอเนกประสงค์ เส้นทางคมนาคม พัฒนาแหล่งน้ำ และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการ นอกจากนี้ ตำบลบึงปลาทูได้ดำเนินงานมาตรการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แปลงต้นแบบ) ปี 2559 โดยมีพื้นที่จำนวน 1,767 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 57 ราย เพื่อเป็นแปลงต้นแบบตามแนวทางการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่นขันสินค้าเกษตร ด้วยระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
จากนั้น ในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการเดินทางไปยัง โครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ (400 ไร่) อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมบริจาคที่ดินเพื่อสร้างสระเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำทั้งสิ้น 800,000 ลบ.ม. ทั้งนี้ บ้านหนองดู่ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ที่ประสบปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ สภาพปัจจุบันเป็นทุ่งนากว้าง ดินลูกรัง จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยการขุดลอกและกำจัดวัชพืช เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นสำหรับใช้ในหน้าแล้ง และเพื่อการระบายน้ำที่ดีในฤดูน้ำหลาก ดังนั้น จังหวัดชัยนาทจึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น โดยพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 8,312.5 ไร่ และมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 900 ครัวเรือน
ทั้งนี้ เกษตรกรจังหวัดชัยนาท ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปรัง พื้นที่ปลูก จำนวน 566,000 ไร่เศษ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด จำนวน 1,283,124 ไร่ คิดเป็น 44.11 % จากการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้น้ำจากชลประทาน และใช้น้ำจากบ่อบาดาลในบางส่วนที่น้ำไม่สามารถส่งมาถึง หรือช่วงที่งดการการส่งน้ำซึ่งจากการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของเกษตรกรจังหวัดชัยนาทเป็นแหล่งการเกษตรของตนเองมี บ่อดาล จำนวน 7,035 บ่อ บ่อน้ำตื้น 1,097 บ่อ ส่งผลให้เกษตรกรจังหวัดชัยนาทสามารถทำนาได้อย่างต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง/ปี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงปี 2559 ได้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่าปกติ จึงเกิดภาวะภัยแล้งทำให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่ไม่สามารถทำนาปรังได้ แต่ยังมีเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 112,752 ไร่ เกษตรกรเหล่านี้จะอาศัยน้ำจากชลประทานในช่วงแรกและใช้น้ำจากบ่อดาลต่อจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งจากการเข้าสำรวจพบว่าบ่อบาดาลระดับน้ำตื้นที่เกษตรกรในจังหวัดชัยนาทใช้สูบน้ำเพื่อทำการเกษตรจะสามารถสูบน้ำได้ถึงช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรได้รับทราบถึงสถานการณ์ภัยแล้งดี และได้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล ได้มีการลดพื้นที่การทำนาปรังลงอย่างมาก โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้ส่งเสริมการให้ความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ซึ่งมีเกษตรเข้าร่วมโครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง จำนวน 12,315 ราย โดยพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อปลูกทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ฯลฯ ซึ่งการที่เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง นั้น จะเห็นได้ว่าใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว เช่น พื้นที่ทำนา 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,038 ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ ใช้น้ำ 583 ลบ.ม. เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินการของทั้งสองโครงการในสองจังหวัดดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ของรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด (จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์) และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด ที่ต้องการให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน