ชัยนาท - เกษตรจังหวัดชัยนาท มอบเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล มาตรการที่ 1
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชใช้น้ำน้อย และมอบเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้แก่เกษตรกรในอำเภอสรรพยา และอำเภอเมืองชัยนาท จำนวน 88 ราย รายละ 30 กิโลกรัม รวมจำนวน 2,640 กิโลกรัม และมอบปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมให้รายละ 2 ถุง เพื่อนำไปปลูกทดแทนข้าวนาปรัง บรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนน้ำเพาะปลูก ตามมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล มาตรการที่ 1 คือ การส่งเสริมความรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 โดยมี นายเบญจพล เปรมปรีดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดการอบรม และมอบปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยโดยเฉพาะเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนเกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวครั้งที่ 2 (นาปรัง) และให้กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำ “โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง” เพื่อสอดรับต่อสถานการณ์ดังกล่าว
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ หรือมีผลตอบแทนจากการปลูกข้าวไม่คุ้มต่อการลงทุน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน ภายใต้ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยพืชทดแทนนาปรังนั้นก็คือ พืชใช้น้ำน้อย ความหมายของพืชใช้น้ำน้อย หมายถึง พืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว (ข้าวใช้น้ำ 1,200-1,500 ลบ.ม./ไร่/ฤดูกาลผลิต) พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ใช้น้ำประมาณ 300-700 ลบ.ม./ไร่/ฤดูกาลผลิต แต่ทั้งนี้พืชที่ใช้น้ำน้อยดังกล่าวจะต้องมีตลาดรองรับ และสามารถที่จะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง
โดยจังหวัดชัยนาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้รวม 12,315 ราย งบประมาณทั้งสิ้น 28,324,500 บาท โดยพืชที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ผัก เห็ด สมุนไพร ไม้ดอก และอื่นๆ (ทานตะวัน ข้าวโพดหวาน งา ข้าวโพด ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง)
ทั้งนี้ การส่งเสริมความรู้ที่จัดขึ้นนี้เป็นความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้มีคุณภาพ จากนักวิชาการศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท โดยหลังจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทจะคอยติดตามให้คำแนะนำร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องตลอดฤดูกาลผลิต เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต มีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป