xs
xsm
sm
md
lg

ยังเครียด! งบ 4.5 พันล้าน ซื้อยาง 1 แสนตัน ใช้เงินเซสทั้งหมดได้หรือไม่ “ฉัตรชัย” จ่อแผนสอง กู้เงิน ธ.ก.ส.ซื้อแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์
ยังเครียด! งบ 4.5 พันล้าน ซื้อยางพารา 1 แสนตัน ยังไม่เคาะใช้เงินเซสทั้งหมดได้หรือไม่ “ฉัตรชัย”จ่อแผนสอง มีปัญหา ขอกู้เงินจาก ธกส.เข้าดำเนินการทันที จ่อเชิญ “ป.ป.ช.-สตง. -กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” สังเกตการณ์จุดรับซื้อยาง กันข้อครหาทุจริต สั่งเช็กสต๊อกทั่วประเทศ สกัดเวียนเทียน ป้องลักลอบนำยางประเทศเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ ด้าน ศธ.ชงงบลงทุน 500 ล้านบาท เสนอ “ดาว์พงษ์” เคาะสร้างสนามกีฬาโรงเรียน 382 แห่ง

วันนี้ (20 ม.ค.) มีรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง, นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าหารือถึงการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพารา ภายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการงบประมาณในการรับซื้อยาง 4.5 พันล้านบาท โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง โดยยังไม่มีการเปิดเผยถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้

เมื่อช่วงเช้า ที่กระทรวงเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ แถลงข่าวภายหลังหารือกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะเข้าซื้อยางจากเกษตรกรสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตาม พ.ร.บ.การยางฯปี58 ใช้งบของ กยท.จำนวน 4,500 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ค่าแปรรูป ค่าขนส่ง และค่าการเก็บระยะสั้นๆก่อนนำไปแปรรูป รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ของเจ้าหน้าที่ประจุดรับซื้อ 1,500 จุดทั่วประเทศ รวมวงเงิน 5,479 ล้านบาท (จากเดิมที่เคยจะตั้ง 3,000 จุด ในภาคเหนือ อีสาน และใต้) เจ้าหน้าที่ กยท., อคส., คสช. และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ซึ่งจะได้เชิญมารวมเป็นกรรมการประจำทุกหน่วย โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช., สตง.ในพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ทุกจุดให้มีการจัดซื้อครั้งมีโปร่งใสมากที่สุด

สำหรับเงินที่เข้าไปแทรกแซง 4.5 พันล้านบาท ขณะนี้สามารถเงินเซส ซึ่งใช้ได้ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ ประมาณ 320 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสำนักงบประมาณว่าสามารถใช้เงินเซสทั้งหมดได้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาจะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เข้าดำเนินการทันที ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรนำยางมาจำหน่ายในที่จุดรับซื้อ ลงรายละเอียดในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกร และส่งจำนวนรับซื้อยางในแต่ละวันเข้าไปยังระบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของ ธ.ก.ส.เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 2 วัน

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า เกษตรกรสวนยางที่มาขึ้นทะเบียนไว้แล้วมีจำนวน 2.9 แสนราย ผ่านคุณสมบัติแล้ว 2.53 แสนราย ส่วนที่เหลือเข้ามาขึ้นทะเบียนให้หมดตามบัญชีที่ขึ้นไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 8 แสนรายที่มีเอกสารสิทธิ ก็มาขอใช้สิทธิ์ที่ กยท.เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับซื้อยาง

อย่างไรก็ตาม ที่มีการตั้งข้อสังเกตอาจมีขบวนการนำยางในโครงการมูลภัฑณ์กันชน และยางในโครงการรัฐบาลเดิม เข้ามาเวียนเทียนขายในโครงการนี้ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ กยท.เร่งรัดตรวจสอบสต๊อกในโกดังของ กยท.ทั้งหมดทั่วประเทศ รวมทั้งสต๊อกยางเอกชน และมารายงานปริมาณยางในสต๊อกให้ตนทราบโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะเปิดซื้อยางในวันที่ 25 ม.ค.เพื่อป้องกันการลักลอบนำยางมาขายโดยสวมสิทธิ์เกษตรกรสวนยาง

“กยท.ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจปริมาณสต๊อกยางทั้งหมดโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการนำยางประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ด้วย เพราะไม่ต้องการเกิดปัญหาเหมือนโครงการรับจำนำข้าว ตนยืนยันว่าโครงการแทรกแซงราคายาง แม้ว่าจะซื้อราคาสูงกว่าตลาด แต่ไม่เหมือนโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะโครงการนี้มีการกำหนดกรอบที่ขัดเจน รัดกุม สร้างเสถียรภาพราคายาง และช่วยเกษตรกรได้มากที่สุด และยังนำยางมาใช้ประโยชน์ในประเทศ ขณะที่โครงการรับจำนำข้าว มีการอ้างจีทูจี แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหาจึงมีการเตือน แต่ยังเดินหน้าต่อทำให้เกิดปัญหามากมาย” รมว.เกษตรฯ กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากรับซื้อแล้ว จะนำไปใช้ใน8 กระทรวง เท่าที่สำรวจล่าสุดใข้ได้ทันทีที่ใช้งบประมาณปี 2559 จำนวน 2 หมื่นตัน ในโครงการต่างๆ ในงบปกติ วงเงินโดยรวม 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยใช้ยางในงบปี 2560 ให้หมดอีก 8 หมื่นตันโดยเร็วที่สุด

สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินไร่ละ 1,500 บาทเพื่อความสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยางและคนกรีดยาง ว่ามีจำนวนเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกับ กยท.แล้ว 798,919 ครัวเรือน แบ่งเป็นเจ้าของสวน และคนกรีดยางเอง 253,026 คน คนกรีด 7,049 คน ชาวสวนที่จ้างแรงงานต่างด้าว 30,453 คน ทั้งนี้จะสามารถโอนเงินได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้

สำหรับ หลักเกณฑ์โครงการรับซื้อยางพารา

1. เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. ตาม พ.ร.บ. การยางฯ 2558
2. มีบัญชีกับ ธ.ก.ส.
3. ได้สิทธิ์ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (จำนวนเศษปัดเป็น 1 ไร่) ไร่ละ 10 กิโลกรัม รวม 150 กิโลกรัม
4. จุดรวบรวม 1,500 จุด ทั่วประเทศ โดยเน้นจุดที่เป็นวิถีของตลาดปกติเป็นหลัก
5. แต่ละจุด คณะกรรมการประจำจุด ประกอบด้วย

5.1 เจ้าหน้าที่ กยท.ในพื้นที่
5.2 เจ้าหน้าที่ กษ.ในพื้นที่
5.3 เจ้าหน้าที่ คสช.ในพื้นที่
5.4 เจ้าหน้าที่มหาดไทยในพื้นที่
5.5 ป.ป.ช. และ สตง.ในพื้นที่เป็นผู้สังเกตการณ์

ขั้นตอนการปฏิบัติในการรับซื้อยางพารา

1. เกษตรกรนำน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ มาที่จุดรวมยาง
2. แสดงบัตรขึ้นทะเบียน กยท. และบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียน
3. ส่งมอบยางให้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจคุณภาพและชั่งน้ำหนัก
4. เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ปริมาณ ประเภทยาง จำนวนเงิน) และออกเอกสาร เป็นหลักฐานให้เกษตรกร 1 ฉบับ
5. เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในการรับซื้อแต่ละวันให้แก่ ธ.ก.ส.
6. ธ.ก.ส.จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรภายใน 2 วัน
7. จากจุดรวมยางไปยังผู้ประกอบการ บันทึกข้อมูลลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทั้งปริมาณยาง ประเภทของยาง และสถานที่รับปลายทาง
8. ข้อมูลการปฏิบัติจะจัดทำ Application ให้ทุกคน download ได้ตลอดเวลา เพื่อร่วมกันติดตามโครงการและสร้างความโปร่งใส

ด้านความคืบหน้ามาตรการ “สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง” โครงการชดเชยรายได้แก่ชาวสวนยางและคนกรีดยาง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ นั้น มีจำนวนเกษตรกรในฐานข้อมูลของ กยท. แล้ว 798,919 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาวสวนและกรีดเอง 253,026 คน คนกรีด 7,049 คน ชาวสวนจ้างต่างด้าว 30,453 คน จากนี้เจ้าหน้าที่ระดับตำบลและอำเภอจะรับรองสิทธิ์ เริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2559 มีเกษตรกรได้รับการรับรองสิทธิ์แล้ว 103,799 คน และกยท.จะประมวลข้อมูลส่ง ธ.ก.ส. ในวันที่ 21-22 ม.ค. และจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 22-24 ม.ค. ทั้งนี้ภายในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เกษตรกรจะได้รับเงินแน่นอน สำหรับเกษตรกรที่แจ้งเข้าร่วมโครงการส่วนที่เหลือจะเร่งรัดให้ได้รับเงินช่วยเหลือภายในเดือน ม.ค.นี้ด้วย

ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานข้อมูลความต้องการของสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่ยังขาดแคลนสนามกีฬาและต้องการสร้างเพิ่ม โดยนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งพบว่าโรงเรียนต้องการสนามใน 2 ประเภท ได้แก่ สนามฟุตซอล ขนาด 27x44 เมตร และสนามเอนกประสงค์ ขนาด 24x15 เมตร ซึ่งสามารถใช้เป็นสนามวอลเลย์บอล ตะกร้อ แบดมินตันได้

ทั้งนี้ ในระยะแรก สพฐ.มีแผนจะสร้างสนามให้โรงเรียน 382 แห่ง แบ่งเป็น สนามฟุตซอล 122 สนาม สนามอเนกประสงค์ 260 สนาม คาดว่าจะช่วยสนับสนุนยางพาราแท่ง จำนวน 978 ตัน สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างนั้นจะ ใช้งบประมาณปี 2559 โดยจะขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนของงบลงทุน จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบต่อไป

ส่วนในปีงบประมาณ 2560 สพฐ.จะดำเนินการจัดตั้งงบประมาณเพื่อดำเนิน จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการสร้างสนามกีฬาในสถานศึกษาที่ยังขาดแคลน ประมาณ 1,800 แห่ง โดยคาดว่าในปี 2560 จัดซื้อยางพาราแท่งเพิ่มอีก 3,900 ตัน ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรได้ สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะเน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้และยึดตามระเบียบราชการ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะจัดซื้อจากส่วนกลางหรือกระจายให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ และการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางราชการเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น