กรธ.เผยเบื้องหลังเขียนบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญ ยากสุดคือเปลี่ยนผ่านองค์กรที่มีอยู่เดิม ชี้อำนาจและคุณสมบัติจะแตกต่างกัน เตรียมประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ หลังส่งมอบร่างแรกให้รัฐบาล 29 ม.ค. พร้อมจัดเวที 4 ภาค ก่อนส่งมอบร่างฯ แล้วเสร็จ จัดงานใหญ่ 29 มี.ค. ปิดจ็อบ 180 วัน ระบุต้องย้ำว่าชาติและประชาชนได้อะไร
วันนี้ (20 ม.ค.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.จะเริ่มพิจารณาบทเฉพาะกาลในกลายสัปดาห์นี้ หลังจากทบทวนถ้อยคำในรายละเอียดทั้งร่างหลังจากที่กลับจาก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี แล้วเสร็จ ชี้บทเฉพาะกาลมีสามส่วน ส่วนยากสุดคือรอยต่อระหว่างองค์กรเก่ากับองค์กรใหม่ ส่วนของบทเฉพาะกาลจะมีสามภาคส่วน คือ 1. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีกี่ฉบับ อะไรบ้าง แต่ละฉบับต้องกำหนดให้ต้องร่างแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ภายในเวลาแค่ไหน
2. ประเด็นการปฏิรูป ซึ่งยังต้องรอรับฟังข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดูว่ามีอะไรที่ยังต้องเพิ่มเติมอีก เนื่องจากเมื่อเติมประเด็นในบททั่วไปแล้ว ก็ต้องมากำหนดระยะเวลาและวิธีการเริ่มดำเนินการในการปฏิรูปเรื่องนั้นๆ
ส่วนที่ 3 ส่วนที่ยากที่สุด คือ เรื่องของการเปลี่ยนผ่านระหว่างองค์กรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ คสช. ว่าช่วงส่งผ่านไปสู่การเลือกตั้ง ยังต้องเผื่อให้มีอำนาจอะไรบ้าง เผื่อการเลือกตั้งเกิดปัญหาจะทำอย่างไร รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง จำนวน อำนาจหน้าที่และวาระที่ต่างไปจากเดิม คณะที่กรรมการในองค์กรเดิมยังมีอยู่ และบางส่วนอาจจะไม่ตรงกับคุณสมบัติที่กำหนดขึ้นใหม่ หรือวาระเหลือน้อยลงจะทำอย่างไร จะให้เขาอยู่ต่อจนครบวาระเดิมก็นานเกินไป หรือจะให้พ้นไปเลยก็คงไม่ยอม เป็นต้น
นอกจากนี้ นายชาติชายในฐานะประธานอนุกรรมการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้อธิบายถึงโรดแมปที่แผนประชาสัมพันธ์ที่จะเตรียมการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ ภายหลังร่างเสร็จส่งมอบให้รัฐบาลก่อนจะไม่ทำประชามติว่า หลังจากร่างเสร็จส่งมอบต่อรัฐบาลในวันที่ 29 ม.ค. โดยประธาน กรธ.มีนัดหารือกับประธาน สนช. ในบ่ายวันเดียวกัน เริ่มการประชาสัมพันธ์ในเดือนกุมภาพันธ์ด้วยการจัดกิจกรรมสองส่วนใหญ่
ส่วนแรก ชี้แจงองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนให้เข้าใจและแสดงความเห็นตั้งคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ห้องประชุมรัฐสภาในราว 12 ก.พ. เพื่อจะนำความเข้าไปไปกระจายต่อสมาชิกทั่วประเทศ ส่วนที่ 2 ชี้แจงต่อสมาชิกของ สปท.และ สนช. ซึ่งจะเชิญมาประชุมพร้อมกันในห้องประชุมรัฐสภาเพื่อให้ประธาน กรธ.เล่าสาระสำคัญให้ฟังเพื่อให้สมาชิกสองสภาได้ตั้งคำถามและมีข้อเสนอแนะ โดยคาดว่าจะเป็นช่วงสัปดาห์แรกของ ก.พ. ระหว่าง 2-5 ก.พ.วันใดวันหนึ่ง
นายชาติชายกล่าวอีกว่า กรธ.ยังมีเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มจังหวัดรายภาคตั้งแต่ปลาย ม.ค. จนถึงกลางเดือน ก.พ.ทั้งสี่ภาค คือภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ภาคกลางที่ กทม. และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่ออธิบายรับฟังเสียงประชาชนรายภาค โดยเรากำหนดปฏิทินว่าทุกภาคส่วนจะต้องสะท้อนความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกลับมายัง กรธ. ภายในวันที่ 15 ก.พ. เพื่อ กรธ.จะได้มีเวลาปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้ายระหว่าง 16-20 มี.ค. เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบความสอดคล้องของถ้อยคำและมาตราเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งมองให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และจะมีการจัดงานใหญ่ประชาสัมพันธ์โดยนายกรัฐมนตรีจะมารับมอบในวันที่ 29 มี.ค. ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ภายใน 180 วัน
“เราต้องทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าใจชัดเจนถึงเหตุผลของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศชาติ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างไร นี่คือเป้าหมายใหญ่ของการประชาสัมพันธ์ เพื่อจะได้ใช้วิจารณาณในการไปลงประชามติ” โฆษก กรธ.ระบุ