เมืองไทย 360 องศา
ผลสำรวจที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเหนือพรรคประชาธิปัตย์อยู่เล็กน้อย ขณะเดียวกัน ในระดับหัวหน้าพรรค ก็พบว่า ในส่วนที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทยสนับสนุน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสียงส่วนใหญ่ยังหนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพต้องนำผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” ที่ระบุออกมาเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบ โดยเป็นหัวข้อสอบถามว่า “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทยในยุคห้ามทำกิจกรรมพรรค”
โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,052 คน พบว่า
คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ร้อยละ 20.3 แซงพรรคประชาธิปัตย์ที่คะแนนนิยมอยู่ในระดับร้อยละ 19.5 แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว ความนิยมทั้ง 2 พรรคจะลดลงเหมือนกัน (เปรียบเทียบกับ ก.ย. 58) แต่การลดลงของพรรคประชาธิปัตย์มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 10.0 ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมลดลงร้อยละ 6.4 สำหรับคะแนนนิยมพรรคการเมืองอื่น ๆ มีดังนี้ พรรครักประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.3 พรรคชาติไทยพัฒนา มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และพรรคภูมิใจไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.6
เมื่อถามเฉพาะผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทย ว่า “หากมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ท่านชื่นชอบหรืออยากได้ใครมาเป็นหัวหน้าพรรค” พบว่า ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 อยากได้คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นหัวหน้าพรรค รองลงมาร้อยละ 11.2 อยากได้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และร้อยละ 3.7 อยากได้ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ส่วนร้อยละ 25.8 ไม่แน่ใจ
และเมื่อถามด้วยคำถามเดียวกันกับฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.9 ยังคงอยากได้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นหัวหน้าพรรค รองลงมาร้อยละ 18.2 อยากได้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และมีเพียงร้อยละ 5.8 ที่อยากได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เหลือร้อยละ 13.1 ไม่แน่ใจ
แม้ว่านาทีนี้ผลสำรวจในเรื่องดังกล่าวคงนำมาวัดผลอะไรไม่ได้ เพราะดังที่หัวข้อสอบถามก็บอกอยู่แล้วว่าคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในยุคที่ห้ามทำกิจกรรมฯในยุคสถานการณ์พิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกทั้งภายใต้บรรยากาศที่ภาพลักษณ์ของนักการเมืองในสายตาของชาวบ้านนั้นตกต่ำสุดขีด ผลสำรวจที่ออกมาล้วนออกมาจากต้นทุนเดิม หรือความรู้สึกและอารมณ์ส่วนตัวว่าจะมองในมุมไหน
อย่างไรก็ดี ในเวลาเฉพาะหน้าแบบนี้อยากให้มาโฟกัสเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลักก่อนมองข้ามพรรคเพื่อไทย เนื่องจากไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มก๊วนที่รับใช้คนในครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น ใครจะมาจะไปล้วนขึ้นอยู่กับอารมณ์และความต้องการของเจ้าของพรรคเท่านั้น
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ถึงอย่างไรตามโครงสร้างน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นพรรคการเมืองมากที่สุด อย่างน้อยก็มากกว่าพรรคเพื่อไทยแบบเทียบกันไม่ได้ และที่ผ่านมา ก็มีการเคลื่อนไหว มีความขัดแย้งกันชัดเจน โดยเฉพาะภาพที่ออกมาเป็นความขัดแย้งระหว่างทีมบริหารพรรคที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับฝ่าย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ตามข่าวระบุว่า มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขา กปปส. หนุนหลังอยู่ มีการสาวไส้ กล่าวหาเรื่องการทุจริตการใช้งบประมาณมิชอบ การทำงานไร้ประสิทธิภาพ มาอย่างต่อเนื่อง และเรื่องเพิ่งมาซาเอาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง
ภาพในเวลานั้นเท่าที่ประเมินอารมณ์ของชาวบ้านที่มองเข้ามาส่วนใหญ่เป็นภาพที่ “ติดลบ” กันทุกฝ่าย เป็นความรู้สึกที่น่ารำคาญ รวมไปถึงถูกนำไปเสียดสีในแบบขบขันว่าเมื่อไม่มีอะไรทำคนในพรรคนี้ก็จะทะเลาะหรือรบกันเอง แม้ว่าในความเป็นจริงเนื้อหาที่นำมาเปิดโปงเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตนั้นชวนให้น่าสงสัย รวมไปถึงความผิดหวังจากการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ตาม แต่อารมณ์ที่ออกมากลับกลายเป็นน่าเบื่อ น่ารำคาญกันทั้งพรรค แม้กระทั่งยังหัวเราะเยาะกับข่าวที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่รองรับการเลือกตั้งในอนาคต
หรือแม้กระทั่งจู่ ๆ ก็มี สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต ส.ส. และอดีตเลขาธิการอาเซียนโผล่มาโยนหินถามทางในทำนองว่าพร้อมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่สุดท้ายก็ฝ่อไป
ปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ และโยงไปถึงการบริหารกรุงเทพมหานคร ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในช่วงที่ผ่านมา หากมองในมุมแบบพื้น ๆ ตื้น ๆ ก็ต้องบอกว่านี่เป็นผลการสะท้อนผ่านผลสำรวจดังกล่าวว่าชาวบ้านที่เขาติดตามดูอยู่มีความรู้สึกอย่างไร กับบทบาทของคนในพรรคนี้ ขณะเดียวกัน หากมองในอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นกระจกที่รีบส่องออกมาให้เห็นแต่เนิ่น ๆ ว่า จะต้องรีบปรับตัวรับมือในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะการรับมือการเลือกตั้งในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
และแน่นอนว่า ด้วยประสบการณ์ที่ถ่ายทอดกันมาแบบรุ่นต่อรุ่นย่อมทำให้พวกเขาประเมินได้ดีที่สุด ซึ่งไม่แน่ว่าหากมีการสรุปบทเรียนเก่า ๆ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตกลับมาใหม่ที่คึกคักเข้มแข็งกว่าเดิมก็ได้
แม้ว่านาทีนี้ยังมองไม่เห็นก็ตาม แต่ก็ยังหวังอยู่บ้าง !!